จับตาทะลุหมื่น! ‘โอมิครอน’กลืน

ติดเชื้อโควิดรายใหม่ใกล้แตะหมื่นคนต่อวันแล้ว ชลบุรียังคงนำอันดับ 1 แต่อัตราเสียชีวิตยังต่ำ "หมอยง" เผยจํานวนผู้ติดเชื้อที่รายงาน โอมิครอน จะต่ำกว่าความเป็นจริงมากในทุกประเทศ ส่วนไทยแทนที่เดลตาแล้วเกิน 30% รัฐบาลเตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ขวบ คาดเริ่มเดือนหน้า

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,263 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,802 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,584 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 218 ราย มาจากเรือนจำ 110 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 351 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,865 ราย อยู่ระหว่างรักษา 47,964 ราย อาการหนัก 535 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 138 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 6 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย โรคเรื้อรัง 2 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,261,039 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,191,262 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,813 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 303,790,828 ราย เสียชีวิตสะสม 5,497,061ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 847 ราย, กทม. 669 ราย, อุบลราชธานี 552 ราย,  สมุทรปราการ 542 ราย, ภูเก็ต 385 ราย,  นนทบุรี 339 ราย, ขอนแก่น 329 ราย,  เชียงใหม่ 304 ราย, บุรีรัมย์ 277 ราย และนครศรีธรรมราช 239 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 โอมิครอน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อต้องยอมรับกันว่าขณะนี้โอมิครอนได้ระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลก

จํานวนผู้ติดเชื้อที่รายงาน โอมิครอน จะต่ำกว่าความเป็นจริงมากในทุกประเทศ เพราะการตรวจจะเป็นการตรวจเพียงว่าเป็นเชื้อ covid 19 เท่านั้น ไม่ได้แยกสายพันธุ์ การตรวจแยกสายพันธุ์จะต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ในต่างประเทศบางประเทศที่มีการตรวจเชื้อ covid 19 ด้วยวิธี RT-PCR ตรวจยีนอื่นพบ แต่ตรวจยีน S ไม่พบ ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอมิครอน เพราะการกลายพันธุ์ในยีน S ทำให้ตรวจไม่พบ

ในประเทศไทยการตรวจหาไวรัส covid 19 เกือบทั้งหมดไม่ได้มีการตรวจยืน S ร่วมด้วย จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ การตรวจหาสายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจำเพาะในการตรวจ หรือถอดรหัสพันธุกรรม

ตัวเลขแต่ละประเทศที่รายงานมา เป็นการตั้งใจตรวจหาสายพันธุ์ หลายคนเมื่อดูอันดับการตรวจพบแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ความสามารถในการตรวจของเรามีความสามารถในการตรวจอยู่ในประเทศต้นๆเช่นเดียวกัน

ดังนั้นขณะนี้การที่บอกว่าตรวจพบ 3,000 ราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ เช่นเดียวกันในเกือบทุกประเทศจะเป็นแบบนั้น

การจะบอกได้ว่าขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมากน้อยแค่ไหนจะต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาตรวจ แล้วดูอัตราเปอร์เซ็นต์ในการพบโอมิครอนกับสายพันธุ์เดลตา มากกว่า

ขณะนี้ทางศูนย์กำลังทำอยู่ แต่ความสามารถของทางศูนย์คงทำได้เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น อัตราการตรวจพบโอมิครอนที่ทำอยู่คงจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าโอมิครอนได้เข้ามาแทนที่เดลตาเป็นจำนวนมากแล้วน่าจะเกินร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ก.พ.ดีเดย์ฉีดไฟเซอร์ในเด็ก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ขวบ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ การฉีดจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการสำรวจความสมัครใจ โดยสถานที่ฉีดจะใช้โรงเรียนเป็นจุดฉีดหลัก ร่วมกับจุดฉีดที่โรงพยาบาล และสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถเข้ารับการฉีดแบบวอล์กอินได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกำหนดไว้

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่า ตามแผนการฉีดวัคซีนเดิมของปี 2564 รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่การฉีดวัคซีนครอบคลุม 70% ของประชากรไทย 70 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 50 ล้านคน ใช้วัคซีน 100 ล้านโดส ซึ่งผลการดำเนินการจริง นับถึง 31 ธ.ค. 64 สามารถฉีดวัคซีนแล้วทั้งหมด 104.4 ล้านโดส และสามารถจัดหาวัคซีนรวม 130.6 ล้านโดส ส่วนในปี 65 นี้ มีความพร้อมในการจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส เพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน รวมถึงฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม คือเด็กอายุ 5-11 ขวบ ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งประสานเครือข่ายโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ให้เตรียมความพร้อมทั้งเตียง ยา วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รองรับผู้ป่วยกลุ่มเด็กให้มากที่สุดหากเกิดกรณีมีการติดเชื้อจำนวนมาก     

ขณะที่ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละ 2,000 คน จาก 3,899 คน ในวันที่ 5 มกราคม มาเป็น 7,526 คน ในวันที่ 7 มกราคม 2565 จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์การระบาดของภาครัฐ ที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ของโรค เพราะจากงานวิจัยมีข้อมูลพบว่าการติดเชื้อในระดับบุคคล ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากไวรัสที่กลายพันธุ์ หรือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน แต่หากมีการติดเชื้อเป็นวงกว้าง รวมกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม หากเกิดการระบาดใน 2 กลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก อาจจะสร้างแรงกดดันด้านระบบสาธารณสุขได้ 

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ภาครัฐควรต้องเร่งทำงานเชิงรุกในการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ยา และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพราะจากการลงพื้นที่ในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงชุด ATK ฟรีได้ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อ จนต้องซักหน้ากากอนามัยใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น  ดังนั้นจึงอยากให้รัฐเรียนรู้จากบทเรียนการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา อย่าผัดวันประกันพรุ่งในการป้องกันการระบาด  อย่าปล่อยให้สถานการณ์บานปลายแล้วประกาศล็อกดาวน์แบบกะทันหันอีก  เพราะไม่อย่างนั้นในปี 2565 นี้อาจจะเป็นปีเผาจริงของเศรษฐกิจปากท้องของคนไทยจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ 

อย่าดูถูกโอมิครอนกระจอก

หากจะรอเพียงความสามารถที่มีอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ควบรวมอำนาจการบริหารไว้เพียงคนเดียว คงไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าล้มเหลวและสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนมากน้อยเพียงใด ใช้งบประมาณแผ่นดินไป 25 ล้านล้านบาท กู้เงินรวมกว่า 5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะกว่า 9 ล้านล้านบาท แต่คุณภาพชีวิตคนไทยกลับแย่ลงทุกวัน

               “รัฐบาลไม่ควรนิ่งนอนใจกับเชื้อโอมิครอน จนดูถูกว่าเป็นสายพันธุ์กระจอก  หากกระจอกจริง การเตือนภัยความรุนแรงคงไม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4 ทางที่ดีรัฐบาลต้องตื่นรู้ เตรียมการ แต่ไม่ตื่นกลัว” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของไทยตั้งแต่โควิด-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคระบาดใหม่ รวมทั้งมีมาตรการเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม จนไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขอันดับ 5 ของโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทำงานเชิงรุกทั้งป้องกันและเตรียมรับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข เตียงผู้ป่วย ยา เวชภัณฑ์ และบุคลากรทางการแพทย์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงเร่งจัดหาวัคซีน ทำให้จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-31 ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 104,444,169 โดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด ดังนั้นการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพิกเฉยต่อการระบาด ติดตามประเมินผลอยู่เสมอ ไม่มีทางที่จะปล่อยให้สถานการณ์บานปลายเหมือนที่โฆษกพรรคเพื่อไทยกังวลแน่นอน

สำหรับกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ควบรวมอำนาจการบริหารไว้เพียงคนเดียว และไม่สามารถบริหารจัดการได้นั้น นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่เคยคิดควบรวมอำนาจการบริหารไว้คนเดียว แต่ละกระทรวงมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกำกับดูแลอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีใช้การบูรณาการงานของทุกส่วนราชการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชนมาตลอด ส่วนกรณีที่ระบุว่าใช้งบประมาณแผ่นดินไป 25 ล้านล้านบาท กู้เงินรวมกว่า 5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะกว่า 9 ล้านล้านบาท แต่คุณภาพชีวิตคนไทยกลับแย่ลงทุกวันนั้น ยืนยันว่าการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปตามกรอบงบประมาณ ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด โดยรัฐบาลมุ่งใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ที่สำคัญ ต้องไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา

                "โควิด-19 สร้างผลกระทบทั่วโลก ไม่เพียงแต่ประเทศไทย รัฐบาล ศบค. บุคลากรทางการแพทย์ อสม. รวมถึงภาคสังคม ประชาชน และสื่อมวลชน ต่างร่วมมือกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด หวังว่าโฆษกพรรคเพื่อไทย รวมถึงคนเห็นต่างกับรัฐบาล จะหยุดกล่าวหา หยุดซ้ำเติมให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหายไปมากกว่านี้ อย่าทำเหมือนสุภาษิตที่ว่า มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ ควรร่วมมือกันก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้" นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง