โหวตงบประมาณปี 2568 ฉลุย แม้ไม่ครบ 314 เสียงตามที่ “เศรษฐา-ภูมิธรรม” หวัง “ฝ่ายค้าน” ประสานเสียงคว่ำ ซัดเบียดบังเงินแผ่นดินเพื่อสนองนโยบายแจกอย่างเดียว “ศิริกัญญา” ขู่หากผ่านวาระ 3 ยังไม่ทบทวนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่ อึ้ง! ผลโพลบอกคนเชื่อข้อมูลฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน “เด็กก้าวไกล” พาเหรดสับงบพีอาร์-ดีอี “พิธา” ยกการเข้าประเทศกลุ่มโออีซีดีอบรมการจัดทำงบประมาณ
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน ถือเป็นวันที่ 3 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
โดยความเคลื่อนไหวก่อนการประชุมนั้น คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นำโดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วย สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวมติวิปฝ่ายค้านถึงแนวทางในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่าทุกพรรคเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต มีความพยายามเบียดบังงบประมาณ เพื่อให้นโยบายของพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้นสำเร็จลุล่วงได้ โดยไม่สนใจว่าจะไปเบียดบังงบประมาณส่วนอื่น พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคจึงมีมติร่วมกันว่า จะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่รับร่างฉบับนี้ ว่ามี 3 เหตุผล 1.เรากำลังจัดทำงบประมาณที่พาประเทศเข้าไปเสี่ยง ทั้งเรื่องของปัญหาทางการคลัง เสี่ยงที่ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ 2.รัฐบาลพยายามทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาก จึงละเลยโครงการที่สำคัญของตนเองโครงการอื่น เช่น ignite Thailand, Soft Power และโครงการที่ช่วยเหลือ SME ต่างๆ และ 3.ประเทศยังคงมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
“เราจึงไม่สามารถที่จะรับร่างงบปี 2568 เพียงเพื่อที่จะส่งมอบนโยบายที่เป็นเรือธงใหญ่นโยบายเดียวได้ แต่นโยบายอื่นถูกละเลย” น.ส.ศิริกัญญากล่าว และว่าถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ว่าตามกระบวนการทางกฎหมาย ถ้าต้องการยับยั้งโครงการเรือธง อย่างน้อยก็ต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านวาระ 3 ไปก่อน เพราะอาจมีการแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) แต่หลังจากนั้นถ้ายังดื้อดึงที่จะทำต่อจนโครงการนี้เกิดขึ้นจริงก่อน จึงจะไปร้องต่อศาล วันนี้ถือว่าการกระทำยังไม่เกิด
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในประเด็นนี้ว่า เรื่องของการเมืองก็ควรให้เป็นเรื่องของการเมือง ส่วนเวทีของสภาก็เป็นเวทีที่ให้ทุกฝ่ายนำเสนอ หรือมีข้อท้วงติง ข้อเสนอแนะนำ
มั่นใจ 314 เสียงเหนียวแน่น
“เรื่องของการคว่ำ ผมอยากให้คิดถึงเรื่องของผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญก็แล้วกัน การที่ฝ่ายค้านจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 นอกจากเรื่องของรัฐบาลแล้ว ก็มีเรื่องของผลประโยชน์ประชาชน เข้าใจว่าเราเองก็มี 314 เสียง ก็มีความเหนียวแน่น คงไม่มีปัญหาอะไร" นายกฯ กล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่จะตัดสินใจอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงต้องดูว่างบประมาณเหล่านี้พยายามแก้ไขปัญหาฉุกเฉินของประชาชนหลายด้าน และเป็นปัญหาที่สะสมคั่งค้างมา ซึ่งหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านติดใจ ก็ได้เสนอความเห็นมาแล้ว และในส่วนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ชัดเจนในข้อมูล ก็ได้มีการชี้แจงไปแล้ว วันนี้ถือว่าการใช้วาทกรรมที่จะด้อยค่าก็มีไม่มาก ถือว่าเป็นสีสัน และในความเป็นจริงท่านมีหน้าที่ในการตรวจสอบ การคว่ำงบประมาณถือเป็นสิ่งที่เสียหายต่อประชาชน
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล มั่นใจว่า 314 เสียงยังเหนียวแน่นหรือไม่ หลังจากที่มีกระแสว่าจะปรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากพรรคร่วมในอนาคต นายภูมิธรรมระบุว่า เป็นข้อคิดเห็นว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่รัฐบาลยืนยันมาตลอด และวันนี้ยังยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลเหนียวแน่น ในเรื่องพรรค พปชร.ก็ยังไม่มีการพูดคุย มีแต่กระแสอื่นที่จะสร้างความสับสนและสร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชนและต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ต้องรอดูการลงมติว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าคว่ำมากกว่าไม่คว่ำ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลมีความเข้มแข็งมีเสถียรภาพ และมั่นใจในส่วนของภูมิใจไทย 71 เสียง จะให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568
ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ การลงมติในวาระแรก ฝ่ายรัฐบาลจะรับหลักการและฝ่ายค้านจะไม่รับหลักการ ทุกครั้งก็เป็นแบบนี้ ในอดีตอาจมีบ้างที่งดออกเสียง ถือว่าไม่มีอะไรน่ากังวล การที่ฝ่ายค้านไม่รับหลักการ ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นต่อการพิจารณางบประมาณ หากหลังจากนี้ยังมีเรื่องที่ติดค้างในใจอยู่ เมื่อตั้ง กมธ.รวิสามัญ 72 คนแล้ว กมธ.ก็มีหน้าที่ตรวจสอบอีก ซึ่งยังมีเวลาอีกหลายเดือน ยังมีการแปรญัตติ ฝ่ายค้านยังสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาลได้ผ่าน กมธ. ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ จะได้ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเตรียมการชี้แจงให้เข้าใจ การประชุมเมื่อวานที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ดี ไม่เห็นมีการประท้วง มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง
“อย่างที่ท่านสุทินแซวท่านวิโรจน์ ว่าทำไมไม่ชมผมบ้าง ผมว่าเป็นความสวยงาม แล้ววันนี้ก็หวังว่าบรรยากาศในการประชุมงบประมาณวาระแรกในวันสุดท้าย น่าจะเลิกก่อนเที่ยงคืน หวังว่าทั้งวันจะมีบรรยากาศเหมือนเมื่อวาน ผมได้รับคำชมจากประชาชนที่ติดตาม ก็พอใจว่าการทำหน้าที่ของทางฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ รัฐบาลก็ตอบได้ดี รัฐมนตรีที่มาชี้แจงก็ไม่ได้ตอบยาว ตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความ ฟังแล้วเข้าใจ ผลที่ออกมาน่าพอใจที่สุด” นายวิสุทธิ์กล่าว
โพลชี้ ปชช.เชื่อรัฐบาลมากกว่า
ขณะที่ ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เผยว่า จากการสำรวจประชาชน 1,500 คน ภายในช่วงวันที่ 19-20 มิ.ย.2567 เรื่องอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ซึ่งผลสำรวจได้สอบถามถึงการติดตามการอภิปรายงบประมาณปี 2568 หรือไม่ พบว่า ติดตาม 62.3% และไม่ติดตาม 37.7% อีกทั้งยังได้สำรวจถึงความเชื่อมั่นในข้อมูลของการอภิปรายงบประมาณ ปี 68 ผลปรากฏว่าประชาชนผู้ให้สำรวจมีความเชื่อมั่นฝ่ายรัฐบาล 37.2%, เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 36.4% และไม่เชื่อมั่นเลย 26.4% สะท้อนให้เห็นรัฐบาลยังคงรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ จากผู้สำรวจทั้งหมดได้ติดตามการอภิปรายผ่านทางช่องทางออนไลน์ 59.8%, ทีวี 21.8%, หนังสือพิมพ์ 6.3%, วิทยุ 4.7% และไม่สนใจ 7.4%
ทั้งนี้ ในการประชุมสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ได้ขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก ย้ำว่า รัฐบาลจัดงบประมาณปี 2568 เหมือนเป็นนักวิ่งราวทรัพย์ เพราะกู้เงินวงเงินสูงเพื่อมาแจกประชาชน และบอกว่าเป็นผลงานของตัวเอง ทั้งนี้กู้แล้วแจกให้ประชาชนถือว่ามีจิตสำนึก แต่หากกู้แล้วเก็บไว้เอง เท่ากับปล้นทรัพย์ อย่างไรก็ดี กรณีที่รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล โดยเฉพาะปี 2568 ตั้งงบขาดดุลสูงสุดรอบ 36 ปี นอกจากนั้นพบว่ามีการตั้งบเพื่อชดเชยสูงถึง 4.5% ของจีดีพี จากเกณฑ์ที่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ขณะที่ปีที่แล้วพบยอดตั้งงบชดเชยอยู่ที่ 4.3% เมื่อรวม 2 ปีรวมกันจะส่งผลกระทบต่อวินัยการคลังระยะยาว
“นายกฯ เป็นนักบริหารบริษัท แต่มาบริหารประเทศเกือบ 1 ปี ทำประเทศเข้าสู่วิกฤตและเกือบเจ๊ง ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนและตั้งการ์ดให้ดี เชื่อว่า ครม.มีคนเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ มีคณะทำงาน ดังนั้นควรเลือกใช้คนที่เหมาะกับงาน” นายชัยชนะอภิปราย
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายงบประมาณในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยเฉพาะงบแก้ไขปัญหาที่ดิน ว่าหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จได้จริง ต้องจัดลำดับความสำคัญของภารกิจในองค์กร ต้องมีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เอาประชาชนเป็นหุ้นในส่วนในภารกิจ เพราะการจัดงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลทำแบบเดิมๆ เท่ากับรัฐบาลวางตัวเมินเฉยต่อความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ถูกตีตราว่าทำลายป่า นอกจากแก้ปัญหาที่ดินไม่ได้แล้ว ยังเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตด้วย
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอของบประมาณที่เพียงพอต่อการดูแลเกษตรกร แต่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เพียง 1.25 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบบุคลากร อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนงบที่ใช้แก้ปัญหาให้เกษตรกรเพียง 1.01 แสนล้านบาท หากคิดเป็นงบต่อหัวจากเกษตรกรทั้งหมด 30 ล้านคน อยู่ที่ 3,386 บาทต่อคนต่อปี หรือเดือนละ 282 บาท
ต่อมา เวลา 13.45 น. นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กทม. พรรค ก.ก. อภิปรายว่า ผิดหวังกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ และคิดว่าคงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เรามีการตั้งเป้าหมายการกระจายอำนาจอยู่ที่ 35% แต่ปีนี้รัฐบาลมีการประมาณการรายได้อยู่ที่ 8.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.07% ถือเป็นการกระจายอำนาจที่ถอยหลังลงคลอง
“จังหวัดที่มีเขตที่มีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยสังกัดอยู่ชนะเลือกตั้ง ปรากฏว่าบังเอิญมีโครงการและงบประมาณไปลงที่จังหวัดและเขตนั้นจำนวนมาก ทั้งนี้ พรรค ภท.มี สส.เขตอยู่ 68 คน มีโครงการไปลง 55 โครงการ คิดเป็น 80.88%” นายณัฐพงศ์กล่าว
ก้าวไกลอัดงบพีอาร์
ด้าน น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายถึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐจำนวนกว่า 2,945 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 1.แบบทางตรง และ 2.แบบที่ซ่อนอยู่ในคำสำคัญต่างๆ ซึ่งมีโครงการที่ซ้ำซ้อนกันอยู่อย่างน้อย 662 ล้านบาท ส่วนหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยตรง อย่างศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ที่ได้รับงบกว่า 68 ล้านบาท แต่ผลงานที่ผ่านมา ทำหน้าที่แก้ข่าวให้พรรคเพื่อไทย ทั้งที่พันธกิจของกรมประชาสัมพันธ์คือต้องเป็นกลาง และเป็นอิสระ มุ่งเน้นประโยชน์ต่อประชาชน ขนาดรัฐบาลที่แล้วยังไม่กล้าใช้ศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ในการแก้ข่าวให้ รมว.ดิจิทัลฯ เลย
“กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของ สปน. อาจพูดได้ว่าอยู่ภายใต้กำกับดูแลโดยตรงของนายกฯ มีคำของบประมาณจำนวน 2,496 ล้านบาท ทำให้เป็นสถานีโทรทัศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดแล้วในประเทศไทย มีบุคลากรมากที่สุด งบแต่ละปีก็หลักพันล้านบาท แต่เมื่อเทียบผลงานกับสื่อออนไลน์กลับสู้เขาไม่ได้เลย”
น.ส.ภคมนกล่าวอีกว่า งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความไม่โปร่งใส งบกระจัดกระจาย ผลลัพธ์การสื่อสารไม่มีเอกภาพ เอาง่ายๆ งบประมาณปีละเกือบ 3,000 ล้านบาท ถ้าทำเป็นทำถึงจริง โครงการ IGNITE THAILAND ของนายกฯ คงไม่ถูกประชาชน IGNORE แบบนี้ สุดท้าย ด้วยปรารถนาดีและคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและนายกฯ ที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ จะทำให้งบประชาสัมพันธ์โปร่งใส เลิกซุก เลิกซ่อน เลิกซ้อนเสียที และด้วยความปรารถนาดีครั้งที่ 2 การสื่อสารเป็นเพียงปลายทาง แต่ต้นทางของการสื่อสารที่จะทำให้ได้ผล คือฝีมือการบริหารราชการแผ่นดิน และความสง่างามทางการเมือง
จากนั้น เวลา 17.10 น. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรค ภท. อภิปรายว่า อยากนำเสนอรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงบประมาณแบบพลิกโฉมประเทศไทย โดยมี 3 ข้อเสนอคือ 1.จัดทำแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ เป็นการรวมคลังปัญญาของชาติ เพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีทุกที่ทุกเวลา 2.จัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต การสะสมหน่วยกิต ไม่ใช่เชื่อมโยงเพียงแค่กระทรวงศึกษาฯ แต่เชื่อมกับทุกสถาบันของอุดมศึกษา และ 3.ระบบพอร์ตฟอลิโอ โปรไฟล์ จะบ่งบอกทักษะของแต่ละคนว่ามีทักษะด้านใด และบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบว่าต้องการทักษะแบบใด
ต่อมา นายปรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงดิจิทัลฯ เพิ่มจากประมาณ 5 พันล้านบาทเป็นเกือบหมื่นบ้าน ในรอบหลายปี แต่ไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าประเทศมุ่งมั่นจริงจังกับเรื่องนี้ ไม่ใช่การการันตีความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ เพราะการจัดสรรงบประมาณไม่ใช่การเล่นเกมเพย์ทูวิน ทุ่มเงินซื้อของยังไงก็ชนะ เปรียบเหมือนเกมกอล์ฟที่ต่อให้มีไดรเวอร์อุปกรณ์ก็ไม่มีทางพัฒนาฝีมือได้ถ้าไม่เข้าใจและวางแผนให้เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการจัดงบประมาณด้านดิจิทัลของรัฐบาลชุดนี้ที่ขาดการวางแผน ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีการวางยุทธศาสตร์ให้ชัด คนสั่งก็ไม่รู้เรื่อง คนทำก็ไปต่อไม่เป็น สุดท้ายเอาแต่โยนงบประมาณลงไปแล้วหวังว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่มีการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต และอาจจะสร้างปัญหาเดิมๆ ให้เกิดซ้ำๆ อีกในอนาคต
“อีกไม่ถึงครึ่งปีจะมีประชาชนดาวน์โหลดแอปทางรัฐเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านคน หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ล่มไปเสียก่อน แต่ถ้าจบไปแล้วบริการอื่นๆ ในแอปโตตามไม่ทัน แอปก็จะร้างในที่สุด เอาแต่จะแจกให้ได้ แต่ไม่ตั้งยุทธศาสตร์ระยะยาว แบบนี้ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นพายุหมุนจริงๆ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทิ้งไว้แค่ซากปรักหักพัง” นายปกรณ์วุฒิกล่าว และว่า หากไม่ถอดบทเรียนในอดีต เพิกเฉยอนาคต มีแค่คำสวยหรู แต่ไม่มีความเข้าใจ ก็มีแต่จะก่อปัญหาใหม่ ถ้ายังเป็นแบบนี้ รัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะจะไม่มีใครได้ก้าวไปข้างหน้าแม้แต่คนเดียว
ต่อมาในเวลา 18.12 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลฯ ได้ลุกขึ้นชี้แจงโดยอธิบายไล่มาตั้งแต่งบประมาณของกรมอุตุนิยมวิทยา, การจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์, นโยบายคลาวด์เฟิร์ส และแอปทางรัฐ โดยยืนยันว่ารัฐบาลมีการวางแผนในเรื่องการใช้แอปภายหลังที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสิ้นสุดลง โดยเฉพาะการนำบริการภาครัฐมาให้พี่น้องประชาชนได้ใช้บริการ
หลังจากนั้น สส.ฝ่ายค้านและ สส.รัฐบาล รวมถึงรัฐมนตรีต่างได้ใช้สิทธิ์อภิปรายและชี้แจง จนกระทั่งเวลา 20.55 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ลุกขึ้นอภิปรายสรุปในฐานะฝ่ายค้าน ว่าปีนี้เป็นปีที่ทั้งยากและทั้งเสี่ยงสำหรับพี่น้องประชาชน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงจากปัจจัยที่ถูกกดดัน ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น ถูกกดดันด้วยปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาสินค้าที่แพงขึ้น หนี้ครัวเรือน ภัยพิบัติโรคระบาด สังคมสูงวัย ยาเสพติด และวิกฤตทางการเมือง ส่วนปัจจัยภายนอก ก็มีทั้งสงคราม การกีดกันทางการค้า วิธีการคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น งบประมาณที่รอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยง มีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเป็นดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับปี 2568 แต่ 6 ปีที่ผ่านมา รูปร่างของงบประมาณกลับไม่ค่อยต่างกัน
นายพิธายังได้ยกวิธีการจัดการงบประมาณของโออีซีดีที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ และประเทศไทยก็ได้ไฟเขียวเข้าสู่การเป็นสมาชิก จึงต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้อง ซึ่งสิ่งที่ได้ตกผลึกจากเวลาที่ผ่านมา คือการเรียงลำดับความสำคัญ ทรัพยากรมีจำกัดทุกประเทศ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่จ่ายภาษีกับรัฐที่ใช้ภาษี มีคำพูดของสื่อมวลชนคนหนึ่งพูดไว้ว่า ใครจ่าย ใครใช้ ใครเจริญ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดว่าสิ่งใดสำคัญ
นายพิธายังเสนอ 3 วาระว่า 1.การประมวลภาพรวม รายได้ของรัฐ + การกู้ = รายจ่ายรัฐ โดยรายได้ของรัฐตอนนี้อยู่ที่ 2.88 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายบุคลากรกว่า 36% เหลือเพียง 25% ที่เป็นงบประมาณในการแก้ไขปัญหา 10 กว่าปีที่ผ่านมารายได้มีความผันผวน เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้การจัดเก็บแล้วหารด้วยจีดีพีก็จะน้อยลงเรื่อยๆ อยู่ที่ประมาณ 10% ทั้งที่ควรจัดเก็บ 16-18% จึงมีคำถามไปที่รัฐบาลว่า แผนการจัดเก็บรายได้ของรัฐมีแผนงานอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ ว่าในอนาคตจะได้ตามเป้า เพราะข้อมูลล่าสุด ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสที่รัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะจัดเก็บไม่ได้ตามเป้า
“การปฏิรูปกระบวนการทำงบประมาณตั้งแต่การจัดทำ การอนุมัติ และการบริหารงบประมาณตาม OCED Guideline โดยยกตัวอย่าง การมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสาธารณะ ว่าทั้งสิ่งแวดล้อม คนชายขอบ จะถูกมองข้ามอีกต่อไป เพราะกระบวนการนี้ ถูกบังคับไว้อยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่อง GNITE-IGNORE ท่านเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋า เอาเงินเขาไปในอนาคต อาจจะเป็นลูกสาวผมที่ต้องใช้ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้”
นายพิธายังกล่าวถึง 5 สิ่งเร่งด่วน ที่รัฐบาลควรต้องทำ ได้แก่ 1.ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนรายได้กับแผนหนี้ของประเทศ 2.แผนการปฏิรูปภาษีอย่างเป็นธรรม 3.แผนการช่วยเหลือประชาชนที่งบประมาณไม่ครอบคลุม 4.การเปิดเผยกระบวนการการพิจารณางบต่อสาธารณะ และ 5.การปรับกระบวนการงบประมาณตามมาตรฐาน OECD
ต่อมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงคำอภิปรายของนายพิธา และสุดท้าย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ลุกขึ้นขอบคุณสมาชิกในฐานะตัวแทนรัฐบาลในการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ขอให้สมาชิกลงมติ ผลการลงคะแนนปรากฏว่าที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ด้วยเสียง 311 ต่อ 175 งดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 72 คน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้