ขั้วสีน้ำเงินชิงปธ.สว. ‘บิ๊กเกรียง’ซี้ปึ้ก‘เสี่ยหนู’ตัวเต็ง/กกต.ผงะร้องเรียนคุณสมบัติเพียบ

กกต.ใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน 18 ชม. ได้ 200 สว.ชุดใหม่ เตรียมประกาศรับรอง นับแต่ 3 ก.ค.ร้องคัดค้านภายใน 3 วัน พลิกล็อก! "อดีตนายกฯ สมชาย" ตกรอบ "ผู้ว่าฯ ปู-อังคณา-หมอเปรมศักดิ์" เข้ารอบ "ขั้วสายน้ำเงิน-อดีตผู้ว่าฯ-บ้านใหญ่บุรีรัมย์" ผงาดยกแผง "สว.สีส้ม" ติดโผกลุ่ม SME "บิ๊กเกรียง" ซี้ปึ้ก "อนุทิน" ได้คะแนนสูงสุด พร้อมคั่วเก้าอี้ ปธ.วุฒิสภา "เลขาฯ กกต." เผยมีคำร้องเลือกสว.รวม 614 เรื่อง ส่วนใหญ่เรื่องคุณสมบัติ "นายกฯ" ขอไม่ก้าวก่ายผลการคัดเลือก

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลาเวลา 09.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา  และเริ่มการลงคะแนนรอบ 2 แบบไขว้ในเวลาตั้งแต่ 19.50 น. ใช้เวลาในการลงคะแนนประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการนับคะแนนทุกสายพร้อมกัน  แต่ทีละกลุ่มในเวลา 22.00 น. ใช้เวลานานกว่า 5 ชม. กระบวนการนับคะแนนของทุกสายทุกกลุ่มอาชีพจึงเสร็จสิ้นในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. ทำให้กระบวนการเลือก สว.ระดับประเทศในครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง

ไฮไลต์สำคัญในการคัดเลือก สว.อยู่ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เพราะมีทั้งอดีตนายกฯ  อดีตผู้ว่าฯ อดีตนายทหาร โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือบิ๊กเกรียง ประธานที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.กับนายอนุทิน และมีความสนิทสนมกันมาก ได้คะแนนสูงถึง 74 คะแนน ทำให้เริ่มถูกจับตามองทางการเมืองหลังหลายคนเห็นรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่ พบว่ามี สว.สายขั้วสีน้ำเงิน ภูมิใจไทยเข้ามาหลายคน จนทำให้อาจได้รับการสนับสนุนให้ชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา หากเจ้าตัวประสงค์จะลงสมัคร

ส่วนนายมงคล สุระสัจจะ อดีต ผวจ.บุรีรัมย์ สายตรงบ้านใหญ่ "ชิดชอบ" โดยเป็นที่รู้กันว่ามีความแนบแน่นกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ขั้วสีน้ำเงิน จนก่อนหน้านี้สมัยนายมงคลรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับการผลักดันให้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ในช่วงนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็น รมว.มหาดไทย ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังได้รับการผลักดันให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยมีมติ ครม.ให้เป็นปลัด ก.มหาดไทย แต่ต่อมาเกิดกรณีมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย ทำให้นายมงคลถอนตัว พบว่าปัจจุบันนายมงคลมีตำแหน่งการเมืองใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นประธานคณะทำงานรมช.มหาดไทย (ทรงศักดิ์ ทองศรี มท.2 ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเนวิน ชิดชอบ) นอกจากนี้ยังมีอดีตผู้ว่าฯ คนดัง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี หรือ "ผู้ว่าฯ ปู" อดีตผู้ว่าฯ ก็ได้รับการการคัดเลือกเป็น สว.เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีสาย อดีตผู้ว่าฯ ที่ได้เข้ารอบไปเป็น สว.อีก เช่น นายธวัช สุระบาล อดีต ผวจ.ศรีสะเกษ  โดยเป็นน้องชายของนายทวี สุระบาล สส.ตรัง พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงยังมีนายภิญโญ ประกอบผล อดีตผู้ว่าฯ ตราด-นครปฐม, นายอภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ-ชัยภูมิ ที่พบว่าเริ่มเติบโตมีตำแหน่งสำคัญในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จนได้เป็นปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ฐานเสียงหลักของบ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ

อดีตนายกฯ สมชายร่วง

ในกลุ่มนี้ที่พลิกล็อกครั้งใหญ่คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ ปรากฏว่าคะแนนมาอันดับที่ 21 โดยได้เพียง 10 คะแนน จึงไม่ผ่านเข้าไปเป็น สว. และไม่ติดสำรองด้วย

ส่วนคนที่ติดอยู่ในอันดับสำรอง ในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ เช่น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร.สายตรงบ้านป่ารอยต่อ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกลุ่ม 4 กลุ่มสาธารณสุข มีรายชื่อคนดังที่น่าสนใจ เช่น นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งในกลุ่ม 4 กลุ่มการสาธารณสุข โดยพบว่า นพ.ประพนธ์ เคยเป็นทีมงานการเมืองให้กับนายอนุทินสมัยเป็น รมว.สาธารณสุข และยังเป็นบอร์ดโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยพบว่ามีนามสกุลเดียวกับนายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล หรือกำนันเม้ง อดีต สส.บุรีรัมย์ 5 สมัย เพื่อนรักของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2558 โดยนายประสิทธิ์ ทำธุรกิจหลายอย่างในบุรีรัมย์ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย

ที่น่าสนใจยังมีชื่อนายสมบูรณ์ หนูนวล อดีตผู้สมัคร สส.ชุมพร พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 แต่สอบตก ก็มาเป็นอันดับสองในกลุ่มดังกล่าว รวมถึงนายฤชุ แก้วลาย ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น สว.มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ฐานเสียงใหญ่ของภูมิใจไทยและบ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ 

ในกลุ่มนี้ยังมีชื่อ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น ยุคพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และต่อมาก็เป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักไทย รวมถึงยังเคยเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นพ.เปรมศักดิ์ สมัยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ เคยมีคดีความกรณีสื่อมวลชนจากสำนักข่าว 5 แห่ง

ขณะเดียวกัน ก็พบว่าในกลุ่มดังกล่าวก็มีคนจากวงการสาธารณสุข หลายคนผ่านเข้ารอบ เช่น นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย ผู้เชี่ยวชาญโรคทางสมองระบบประสาทที่เป็นแพทย์ที่โด่งดังในโซเชียลมีเดีย คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ หมอวี หมอยูทูบเบอร์จาก Dr.V Channel ที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสน และยังมีอีกหลายคน เช่น นายวันชัย แข็งการเขตร หรือหมอเขียว อดีตสาธารณสุขอำเภอเมืองอุทัยธานี

กลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ได้นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความชื่อดังที่หายตัวไปหลายปี และยังมีนายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นนักวิชาการที่มักไปปรากฏตัวติดตามความเคลื่อนไหวในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและม็อบชาวบ้าน เช่น เขื่อนปากมูล ม็อบสมัขชาคนจน เป็นต้น

กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม พบว่ามีสื่อมวลชน หลายคนติดเข้ารอบ เช่น นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นักข่าวอาวุโสที่ทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายสิบปี, นายชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศชื่อดัง, ดร.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการด้านสื่อ, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีต บก.สำนักข่าวประชาไท เป็นต้น

กลุ่มที่ 8 ที่เป็นกลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน มีชื่อที่น่าสนใจ เช่น นายนพดล อินนา อดีต สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักไทย ปี 2544 อดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทยยุคก่อตั้งกับนายทักษิณ ชินวัตร) โดยกลุ่มนี้คนที่ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งคือ นายจิระศักดิ์ ชูความดี อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้

อดีตผู้ว่าฯ ชักแถวเข้าวิน

ส่วนคนที่มาอันดับสอง ก็น่าสนใจ เพราะเป็นนายชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อดีตหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร เจ้าของฉายามือปราบป่าไม้เบอร์ 1 ที่เป็นทีมงานเดียวกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และยังมีนายสัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา ที่ปรึกษาตลาดศรีเมือง ที่เป็นตลาดค้าส่งรายใหญ่ของภาคกลาง ที่เจ้าของคือนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย และยังเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงาน ผู้แทนบริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป จำกัด

กลุ่มนี้ยังมีนายนิรัตน์ อยู่ภักดี อดีต สว.ชัยภูมิ ปี 2543 และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, นายปฏิมา จีระแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งในยุค คสช.เคยถูก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง คสช.เด้งจากเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาแล้ว

นอกจากนี้ มีอดีต ผวจ.มาสมัครและได้รับเลือกด้วยคือ นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์  อดีตผู้ว่าฯ หนองคาย โดยช่วงเป็น ผวจ.หนองคายปี 2557 เคยถูกนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นเด้งมาช่วยราชการกระทรวงมหาดไทยด้วย และยังมีอีกบางคนที่น่าสนใจ เช่น นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

กลุ่มที่ 9 หรือกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME คนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานที่ปรึกษาบริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด, อดีตประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด (PKSB) บริษัทในเครือ ภูเก็ตพัฒนาเมือง (PKCD) และในกลุ่มดังกล่าวมีชื่อของนายวีรยุทธ  สร้อยทอง นักนโยบายคณะก้าวหน้า ที่ทำนโยบาย น้ำประปาดื่มได้ ให้กับคณะก้าวหน้า ที่เป็นเครือข่ายการเมืองกับพรรคก้าวไกล โดยก่อนหน้านี้เคยเปิดตัวลงพื้นที่จังหวัดภาคอีสานกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็มีชื่อเข้าไปเป็น สว.ในกลุ่มดังกล่าวด้วย 

กลุ่มที่ 7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน มีรายชื่อที่น่าสนใจเช่น ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยร่วมแถลงข่าวรณรงค์การลงสมัคร สว. กับกลุ่มนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สว.ปี 2543 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดย ดร.แลถือเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานที่ได้รับการยอมรับคนหนึ่ง โดยคนที่ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้คือ ชินโชติ แสงสังข์ จากสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย

กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว มีรายชื่อที่น่าสนใจ เช่น นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย, นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ นักธุรกิจใหญ่เกาะช้าง เจ้าของท่าเรือเฟอร์รี่เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด, นายณภพ ลายวิเศษกุล นักธุรกิจ เจ้าของโรงแรมลายทอง กรรมการหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม มีชื่อที่น่าสนใจ เช่น นายพรเพิ่ม ทองศรี อดีตหัวหน้าคณะทำงานรมช.มหาดไทย โดยเป็นพี่ชายแท้ๆ ของทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย รหัส มท.2 ลูกพี่ลูกน้องกับนายเนวิน ชิดชอบ และยังมีชื่อนายมานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ยุคพรรคพลังธรรม แต่ช่วงหลังก็ยังช่วยงานพรรคเพื่อไทยในพื้นที่อยู่ห่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีนายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม อดีต สส.หนองบัวลำภู ตั้งแต่ยุคพรรคความหวังใหม่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยที่ผ่านมาลงสมัคร สส.เขตหลายครั้ง แต่สอบตกตลอด เลือกตั้งล่าสุดปี 2566 ไปลงพรรคพลังประชารัฐ แต่รอบนี้ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งในกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีชื่อนายสุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา ที่เป็นเครือญาติกับนายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต สส. สุรินทร์ แต่ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดยมีข่าวว่านายสุพัตรชัยเข้ามาผ่านเครือข่ายโหวตเตอร์สีน้ำเงิน และยังมีชื่อ น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ซึ่งเคยอยู่กับพรรคไทยรักไทยมาก่อนตั้งแต่ตอนเลือกตั้งปี 2544  โดยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค

สายบุรีรัมย์ผงาดอื้อ

โดยกลุ่มนี้ที่พลิกล็อกคือ นายศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่โดนยุบพรรค ซึ่งเคยมีบทบาทสูงในวุฒิสภาปี 2543 เรียกว่าเป็นมือประสานระหว่าง สว.กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยไม่ผ่านเข้ารอบ ติดแค่อันดับสำรอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ามีการวางตัวจะให้นายศรีเมืองเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แล้วนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานวุฒิสภา

กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ก็มีบางคนน่าสนใจ เช่น นายปราณีต เกรัมย์ ที่โซเชียลมีเดียไปค้นข้อมูลพบว่า ได้เขียนแนะนำตัวเองเพียงหนึ่งบรรทัด ในเอกสารแนะนำตัว โดยบอกว่าเป็นอดีตนักฟุตบอล และพบว่านายปราณีตผ่านการคัดเลือกมาจาก จ.บุรีรัมย์ จนสุดท้ายเข้ารอบสุดท้ายได้เป็น สว.ในที่สุด ซึ่งในกลุ่มนี้คนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) และยังมีนายวิเชียร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน), นายพิบูลย์อัฑฒ์  หฤหรรษ์ปราการ อดีตที่ปรึกษานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และ รมว.แรงงาน สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา ก็มีหลายชื่อน่าสนใจ เช่น ดร.กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนหน้านี้อยู่กับพรรคภูมิใจไทย โดยเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาพรรคภูมิใจไทย และยังเป็นอดีตที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ บ้านใหญ่จังหวัดปราจีนบุรี) และยังมีชื่อ ดร.อัษฎางค์ แสวงการ อดีตผู้สมัครขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นเจ้าของวิทยาลัยเทคโนโลยีขอนแก่นบริหารธุรกิจ จึงเข้ามาในสายการศึกษา เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวได้ตั้งข้อสังเกตรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว.ทั้งหมด พบว่าผู้สมัคร สว.บุรีรัมย์ ได้รับเลือกเป็น สว.จำนวน 14 คน ใน 11 กลุ่ม จากทั้งหมด 20 กลุ่ม

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือก สว.ระดับประเทศว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศผลคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. 200 ราย และสำรองอีก 100 ราย ซึ่ง กกต.ต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน จึงจะประกาศการเลือกสว. คือนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป ถ้าเห็นว่าการเลือก สว.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กรณีหากจะคัดค้านการเลือกสว.ก่อนประกาศผล จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก (กปล.) วินิจฉัย ซึ่งจะเป็นการยื่นร้องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่

"เรื่องร้องเรียนขณะนี้มีทั้งหมด 614 เรื่อง จำแนกเป็นเรื่องการร้องเรียนคุณสมบัติให้ลบชื่อกว่า 400 เรื่อง หรือคิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ และร้องเรื่องความไม่สุจริต ให้เงิน ให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 14 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 4% เป็นการร้องเรื่องการทุจริต ให้ลงคะแนน จ้างสมัคร เรียกรับ ให้ เพื่อลงคะแนน รวมถึงการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ขานคะแนน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นการร้องให้ลบชื่อออกในการเลือกระดับอำเภอมากที่สุด มีการยื่นเรื่องไปที่ศาลฎีกา และศาลมีคำวินิจฉัย โดยสิ่งที่ กกต.จะต้องดำเนินการต่อคือการระงับสิทธิสมัครชั่วคราว (ใบส้ม) ส่วนการร้องระดับจังหวัดมี 175 เรื่อง ระดับประเทศยังไม่มี" นายแสวงกล่าว

อดีต มทภ.4 เต็งประธานวุฒิฯ

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ได้รับเลือก สว.เป็นกลุ่มการเมืองหนึ่ง นายแสวงกล่าวว่า เรื่องนี้เราตรวจสอบอยู่แล้ว คำร้องเดิมก็มีลักษณะอย่างนี้ แต่ตรวจสอบแล้วก็ต้องดูว่าเข้าความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เราพยายามจะเอากฎหมายมาใช้ให้ได้ เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม แต่กรณีที่บอกว่ามีโพยมีบล็อกโหวต แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดคำว่าผิดกฎหมายสักคน มีแต่คนพูดว่าเป็นข้อสังเกต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแคนดิเดตตำแหน่งประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวถึงการหาตัวบุคคลมาเป็นประธานวุฒิสภา โดยวางไว้ที่ พล.อ.เกรียงไกร ที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1  ในผู้สมัคร สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง จาก จ.สุราษฎร์ธานี

นายนพดล อินนา ว่าที่ สว. จากกลุ่มที่ 8 ระบุว่า ประธานวุฒิสภาต้องเป็นคนที่สามารถประสานได้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เฉพาะ สว. แต่ต้องประสานกับสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย โดยมิติใหม่ของคนจะเป็นผู้นำวุฒิสภา ต้องเป็นคนที่จะทำให้เกิดการสมานฉันท์ระหว่างสภาล่างกับสภาสูง เพราะหากสองสภาทำงานด้วยกันได้อย่างดี ผลประโยชน์ก็จะตกกับประเทศชาติและประชาชน ในการโหวตเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาอีกสองคน ควรต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ทำให้ สว.ที่จะมาโหวตได้มีโอกาสได้สัมผัสว่าแต่ละคนมีวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างไร

ถามถึงกระแสข่าวว่า กลุ่ม สว.ชุดใหม่ที่หลายสิบคนถูกมองว่าเป็น สว.สีน้ำเงิน  อาจจะสนับสนุนคนในกลุ่ม ที่เป็นอดีตทหารยศ พล.อ. เป็นประธานวุฒิสภา คิดว่าประธานวุฒิสภา ต้องเป็นอดีตทหารหรืออยู่ขั้วการเมืองไหนหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า คนเป็นประธานวุฒิสภาต้องเป็นบุคคลที่ สว.ทั้งหมดให้การยอมรับ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากไม่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะว่าการควบคุมการประชุมไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ สว.แต่ละคน ก็มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ โดยเฉพาะ สว.ชุดใหม่ก็มาจากหลากหลายกลุ่มวิชาชีพ ผู้นำ สว.จึงต้องเป็นคนที่มีบารมีและมีความสามารถที่จะควบคุมการประชุม สว.ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต.จะมีการประกาศรับรองรายชื่อ สว. 200 คน ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ จากนั้น สว.ทั้ง 200 คนต้องไปรับหนังสือรับรองจาก กกต.และนำไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต่อไป และจะมีการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป ทำให้คาดว่าอาจจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ ในสัปดาห์ที่สองของเดือน ก.ค. ท่ามกลางกระแสข่าวที่เริ่มมีการวางตัวประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กับรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 แล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเลือก สว.ที่ผลปรากฏว่าคนดังตกรอบ อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการคัดเลือกว่า   ไม่ได้มีความกังวลเพราะอยู่ฝ่ายบริหาร  และไม่ก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ หากในอนาคตฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อสงสัย ข้อกังวล หรือข้อซักถาม ตนก็ยินดีที่จะตอบไม่ว่าใครจะได้รับเลือกก็ตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. ตั้งเป้าประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ.68 ร้อยละ 65-70

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.  เปิดเผยถึงแผนเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.นี้    โดยยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเสาร์