“พรเพชร” ยัน สว.ชุดเก่าทำหน้าที่ไปตาม รธน. จนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่ เผย 8 ก.ค. กกต.ยังไม่รับรอง จึงนัดประชุมพิจารณา กม.ตีกลับจาก สส. “เสรี” ไล่ สว.ชุดใหม่ไปเร่ง กกต.รับรองเพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง "ดิเรกฤทธิ์" ซัดกลับใครกันแน่ไร้มารยาท ยังไม่ได้รับตำแหน่งตาม กม.เที่ยวต่อว่าการทำหน้าที่ของคนอื่น "รองเลขาฯ นายกฯ" ตอก "วรชัย" ยัน "นายกฯ" ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง ลงพื้นบ่อยเพราะอยากรับฟังปัญหา ปชช. ไม่ใช่แค่ฟัง ขรก. ด้านวิปฝ่ายค้านโต้ ปธ.วิปรัฐบาล ไม่ได้ขอเพิ่มวันประชุมพร่ำเพรื่อ แค่ 2 ศุกร์ต่อเดือน แย้มมีข้อมูลยื่นซักฟอกเพียบช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้
เมื่อวันอาทิตย์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการนัดประชุมวุฒิสภาในวันที่ 8 ก.ค. มีการมองว่าไม่เหมาะสมเพราะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดเก่าหมดวาระแล้วว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าเวลานี้เป็นสมัยประชุมที่แล้วมาปิดสมัยประชุมสองเดือนกว่า และคิดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง สว.ใหม่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และวันที่ 3 ก.ค.ก็เป็นวันแรกที่เปิดสมัยประชุม ซึ่งเป็นคิวของ สส. ก็มีการประชุม ดังนั้นวันที่ 8 ก.ค. จึงเป็นคิวของ สว. เราก็ต้องทำหน้าที่ตามนี้ ถ้า กกต.ประกาศรับรอง สว.ใหม่เมื่อไหร่ เราก็ทำหน้าที่ไม่ได้อีกแล้ว เพราะเมื่อเราครบวาระวันที่ 10 พ.ค. แต่จาก 10 พ.ค.เราก็ทำหน้าที่ตลอดมาจนถึง 3 ก.ค. เราก็คิดว่ามีแค่นั้น
"แต่วันที่ 3 ก.ค.ก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นวันเปิดสมัยประชุมที่กำหนดอะไรไว้เรียบร้อยแล้วทั้ง สส. สว. และ กกต.ก็รู้หมดว่าวันที่ 3 ก.ค.เปิดสมัยประชุม ถ้าเราไม่ทำ ไม่เปิด ก็ขัดต่อกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าเราต้องทำหน้าที่ต่อจากวันที่ 10 พ.ค. เรื่อยไปจนกว่าจะมี สว. ชุดใหม่ ก็มีแค่นั้น เราจะไปทำอะไรพิสดารนั้นไม่มี"
ส่วนที่ สว.ชุดใหม่มองว่าโดยมารยาทแล้ว สว.ชุดเก่าไม่ควรที่จะทำงานแล้ว นายพรเพชรกล่าวว่า เราทำไปตามสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาต้องมีทั้ง สส.และ สว.คู่กัน อย่างเช่น การประชุมวุฒิสภาวันที่ 8 ก.ค.นี้เป็นการพิจารณาเรื่องที่ สส.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ..... ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา เมื่อไม่เห็นด้วย ทางสภาผู้แทนราษฎรก็ส่งคืนมาที่วุฒิสภา ซึ่งทางวุฒิสภาก็ต้องทำหน้าที่ ดังนั้นเราจะไม่ทำหน้าที่ก็ไม่ได้ และไม่รู้ว่า กกต.จะรับรองสว.ใหม่เมื่อไหร่
"เราก็คอยถามเพราะ กกต.เขาต้องแจ้งมาก่อนว่าเป็นเมื่อไหร่ ถ้าเขาทราบหรือมีมารยาท เขาก็ต้องสื่อสารให้รู้ว่าจะรับรองเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าวันที่ 8 ก.ค. ไม่มีการรับรอง สว." นายพรเพชรกล่าวเมื่อถามว่าได้รับสัญญาณจาก กกต.ว่ารับรอง สว.ใหม่เมื่อไหร่
เมื่อถามถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ สว. จะเสนอญัตติเพื่อถอดบทเรียนการเลือก สว.ชุดใหม่ ประธานวุฒิสภากล่าวว่า เป็นในทำนองพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เมื่อไหร่ที่ กกต.จะดำเนินการรับรอง สว.ชุดใหม่ให้แล้วเสร็จ หรือมีปัญหาอะไรหรือไม่ที่เป็นทางการ เพื่อให้ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำงานต่อกันไปเลย แต่ตนยังไม่ได้ดูนายสมชายเสนออย่างไร ที่ประชุมอาจจะพิจารณาอย่างไรก็ได้ สมาชิกอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ต้องเห็นใจ กกต. เราก็อยากดูว่ามีประเด็นใดที่จะช่วยเหลือเขาได้เราก็ดำเนินการไป นอกจากนั้นการประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งก็มาตามเกณฑ์อยู่แล้ว
“ยืนยันว่าเราต้องทำหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างตอนนี้ สว.ก็ยังทำหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ปรากฏตามสื่อ เพราะมีเรื่องการต่างประเทศ เรื่องการชี้แจงกฎหมายในกรรมาธิการต่างๆ แต่การประชุมวุฒิสภาในวันที่ 8 ก.ค.นั้น เป็นเรื่องที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากมีการเปิดสมัยประชุมสภา ส่วนการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 9 ก.ค. ก็งดประชุม เพราะเราเห็นว่าไม่มีวาระที่สมควรจะพิจารณา” นายพรเพชรกล่าว
ไล่ สว.ใหม่เร่ง กกต.รับรอง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีที่ สว.ชุดใหม่ระบุว่าโดยมารยาท สว.ชุดเก่าควรหยุดทำหน้าที่ได้แล้วว่า สว.ชุดเก่าก็ทำไปตามหน้าที่ และไม่ควรหยุดพัก เพราะต้องพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ และเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กฎหมายให้อยู่แค่ไหนเราก็อยู่แค่นั้น เชื่อว่า กกต.คงไม่ช้าในการรับรอง สว.ชุดใหม่ ดังนั้น สว.ชุดเก่าก็ทำไปตามหน้าที่ในเวลาที่มี ซึ่งเป็นไปตามเวลา เมื่อ กกต.รับรอง สว.ใหม่ สว.เก่าก็หมดหน้าที่ จึงเห็นว่า สว.ชุดใหม่ต้องไปเร่งรัด กกต.ให้รีบรับรอง อย่าไปสนใจว่า สว.ชุดเก่าจะทำอะไร และ สว.ชุดเก่าก็ไม่ควรไปสนใจ สว.ชุดใหม่ว่าเขาจะมาทำอะไร
“เรามาทำหน้าที่ ก็โตๆ กันหมดแล้ว พูดจาอะไรก็ต้องระมัดระวังกันทุกฝ่าย” นายเสรีกล่าว
เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับญัตติที่นายสมชาย แสวงการ สว. จะเสนอให้มีการถอดบทเรียนการเลือก สว.ชุดใหม่หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดในญัตติว่าจะเสนออะไร ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยที่ สว.จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ กกต. เพราะหากต้องการถอดบทเรียนการเลือก สว.ชุดใหม่ ก็ถอดไม่ทัน เพราะเวลาหมดแล้ว
ถามอีกว่า อาจทำให้ถูกมองว่า สว.ชุดเก่าต้องการยื้อเวลาหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราไม่อยากคิดถึงขนาดนั้น เดี๋ยวจะเหมือนกับไปกันเอง ถ้าดูจากวาระหน้าที่ว่าไม่ควรที่จะเข้าไปพิจารณาเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระคือ กกต. เพราะขัดต่อกฎหมายมาตรา 58 มาตรา 76 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสี่ ซึ่งเป็นตัวบทกฎหมายที่ไม่ให้ สว.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ คิดว่า กกต.คงทำหน้าที่ของเขา เราก็ต้องให้ กกต.มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่
“ไม่ควรเป็นภาพที่ทะเลาะกันระหว่าง สว.เก่ากับ สว.ใหม่ เพราะทุกฝ่ายทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย พอมี สว.ชุดใหม่มาชุดเก่าก็หมดไป ซึ่งเวลาก็ไม่นาน สิ่งสำคัญคือตอนนี้ความเห็นและความขัดแย้งหลากหลายมากมาย เป็นความขัดแย้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้นวิธีการปลดชนวนความขัดแย้งของสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ กกต.ต้องเร่งตรวจสอบและรับรอง สว.ชุดใหม่โดยเร็ว ทุกฝ่ายจะได้เข้าตามระบบกฎหมาย” นายเสรีกล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. โพสต์เฟซบุ๊กว่า... "ใครเอ่ย? ยังไม่ได้รับตำแหน่งอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เที่ยวแสดงความเห็นต่อว่าการทำหน้าที่ของคนอื่นไปทั่ว" การที่ สว.ปัจจุบัน ที่เห็นปัญหาข้อกฎหมาย และปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะประชุมกัน เพื่อเสนอความเห็นเป็นรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานของรัฐได้นำไปพิจารณาปรับปรุงการได้มาของ สว.ในอนาคต ให้ได้ สว.ที่ดีมีคุณภาพและรู้จักเคารพคนอื่น (อันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย) มันเสียมารยาทตรงไหน ต่อใครและอย่างไร? คนไทยจะหวังและรอให้ สว.ที่ได้มาจากระบบที่อาจไม่สุจริตเที่ยงธรรมมาแก้ไขการได้มาของตัวเองน่ะหรือ? ใครกันแน่ที่ไม่มีความรู้และไม่มีมารยาทโดยแท้
นายกฯ ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้า
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี แนะนำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เลิกตะบี้ตะบันลงพื้นที่ และแบ่งเวลานั่งทำเนียบฯ ตามงานข้าราชการ มุ่งแก้ปัญหาปากท้องว่า ทุกคนในพรรคสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ในมุมมองของแต่ละคน แต่นายเศรษฐาก็ตั้งใจที่จะทำงานจริง และตั้งใจที่จะลงไปถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ฟังแค่จากข้าราชการ หากผู้บริหารไม่ลงพื้นที่ไปสัมผัสถึงชาวบ้านเลยก็จะมองไม่เห็นถึงปัญหา ซึ่งเมื่อนายเศรษฐาลงพื้นที่ ชาวบ้านก็จะนำปัญหามาสะท้อนให้ฟัง และท่านก็จะนำมาแก้ไข
เมื่อถามว่า มองว่าการลงพื้นที่ของนายกฯ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง นายณณัฏฐ์กล่าวว่า ข้อเสียก็แล้วแต่มุมมองที่จะมอง ซึ่งการลงพื้นที่ของนายเศรษฐาก็มีเจตนาดีที่จะลงไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ซึ่งตนมองว่านี่คือข้อดี และอย่าลืมว่าเราเข้ามาในจุดที่บางปัญหาเป็นเรื้อรัง คนที่เข้ามาทำงานใหม่ก็ต้องปรับแก้
"นายกฯ ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้างที่ไม่ลงไปรับรู้ปัญหาของพี่น้องประชาชน แต่ทุกวันนี้ลงพื้นที่ก็เพื่อลงไปรับทราบปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมี สส.ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะท่านเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง" นายณณัฏฐ์กล่าว
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกับนายเศรษฐาเพื่อปรับวิธีการทำงานให้สมดุลกัน ระหว่างงานพื้นที่ งานในทำเนียบรัฐบาล และในสภาหรือไม่ นายณณัฏฐ์กล่าวว่า เรามีการประชุมกันทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เราได้มีการนำปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆ และนายเศรษฐาก็ย้ำเสมอว่าใครมีอะไรก็สามารถบอกได้เสมอ นายเศรษฐาไม่ใช่น้ำที่เต็มแก้ว พร้อมที่จะปรับและนำปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ย้ำว่านายเศรษฐาลงพื้นที่ไม่ใช่ไปเที่ยว แต่ไปรับฟังปัญหาในพื้นที่จริงๆ เพราะทุกวันนี้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคือเรื่องสำคัญ
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเองก็จี้ให้นายกฯ เข้าไปตอบกระทู้ในสภา นายณณัฏฐ์กล่าวว่า ยืนยันว่านายเศรษฐาให้ความสำคัญกับสภา ท่านไปสภาตลอด ไม่เคยหนี บางครั้งท่านก็มีภารกิจในช่วงเช้า หากนายเศรษฐาว่างก็จะเข้าสภา และเมื่อเข้าสภาก็ไม่ใช่เปิดรับเฉพาะ สส.เพื่อไทยให้มาสะท้อนปัญหา แต่ได้เปิดให้พรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านเข้ามาสะท้อนปัญหาด้วย เพื่อที่จะได้นำไปแก้ไขให้พี่น้องประชาชน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการเพิ่มวันประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญให้มากขึ้น โดยระบุว่า สส.พรรค ก.ก.ส่วนใหญ่เป็น สส.บัญชีรายชื่อและ สส.กทม. จึงอาจไม่ต้องลงพื้นที่เหมือนกับ สส.พรรคอื่น ดังนั้นอย่าคิดจะประชุมเพื่อหวังเอาคะแนนลอยๆ ว่านายวิสุทธิ์อาจลืมข้อเท็จจริงเบื้องต้นไป จำนวน สส.เขตของพรรค ก.ก.นั้น ขณะที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้แตกต่างจากพรรค พท. รวมถึง สส.กทม.ที่เราได้มากกว่าพรรค พท.ก็เป็นเพราะประชาชนเลือกเรา ซึ่ง สส.ของพรรค ก.ก.ก็ลงพื้นที่มากเช่นเดียวกัน
ฝ่ายค้านย้ำขอเพิ่มวันประชุม
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ขณะที่ สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก.ก. ก็มีความรับผิดชอบในแต่ละประเด็น ซึ่งก็ต้องลงพื้นที่เช่นเดียวกัน และลงพื้นที่ตลอด นี่จึงอาจเป็นข้อเท็จจริงที่นายวิสุทธิ์มองคลาดเคลื่อน เช่น กรณีเกิดเพลิงไหม้ที่ย่านเยาวราชเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.กทม.เขต 1 ก็ไปถึงพื้นที่ไม่นานนัก ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเราไม่ได้ลงพื้นที่น้อยกว่าพรรคการเมืองอื่นแบบที่มีการกล่าวอ้างแน่นอน
"เราไม่ได้เสนอให้มีการเพิ่มวันประชุมแบบพร่ำเพรื่อ แต่เราเสนอให้เพิ่มวันประชุมบนพื้นฐานที่ว่าขณะนี้มีกฎหมายและญัตติที่ค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก และญัตติที่ค้างการพิจารณานั้นก็เป็นเรื่องที่ สส.แต่ละพรรคเสนอเข้ามา ซึ่งไม่ได้มาจาก ก.ก.พรรคเดียว จึงเสนอให้เพิ่มวันประชุมเข้ามาอย่างจำเพาะเจาะจง เช่น ใน 1 เดือนมี 4 สัปดาห์ ซึ่งสัก 2 สัปดาห์อาจจะวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 1 กับสัปดาห์ที่ 3 หรือวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 2 กับสัปดาห์ที่ 4 จะสามารถเพิ่มวันประชุมเข้ามาได้หรือไม่ แต่คุณวิสุทธิ์ก็เห็นด้วยกับเราที่บอกว่าหากมีความจำเป็นก็สามารถเพิ่มวันประชุมในวันศุกร์ได้"
ส่วนที่มองว่าพรรค ก.ก.เสนอเพิ่มวันประชุมเพื่อหวังคะแนนเลือกตั้ง นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การที่นำปัญหาของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของญัตติ กฎหมาย หรือรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งมีทุกพรรคร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว จะมาบอกว่าเป็นการหาเสียงไม่ได้ เพราะทุกอย่างล้วนมาจากปัญหาของพี่น้องประชาชน หากจะอาศัยเวทีสภาทำงานเต็มที่ ทุกพรรคก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้อย่างเท่าเทียมกัน หากเอาเข้าจริงๆ แล้วเวลาที่ได้รับการจัดสรรฝั่งของรัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้านด้วยซ้ำ
"หากคิดว่าจะใช้เวลาดังกล่าวทำให้ประชาชนเห็นว่าพวกคุณทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเต็มๆ คุณก็ทำเต็มที่เลยสิ ไม่ได้มีใครว่ากล่าวอะไร แต่ปรากฏว่าในหลายครั้งที่มีประชุม ก็ไม่ได้เห็นว่าจะใช้เวทีดังกล่าวอธิบายถึงที่มาหรือการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด" นายณัฐวุฒิกล่าว
เมื่อถามว่า เบื้องต้นนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ได้นัดประชุมวิปทั้งสองฝ่ายแล้วหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการนัด คิดว่าหากจะมีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ประธานวิปรัฐบาลส่งเสียงออกมาในลักษณะไม่เห็นด้วย แล้วมุ่งโจมตีว่าฝ่ายค้านต้องการหาเสียง มีวัตถุประสงค์ใด เพราะท้ายที่สุดคนที่เสียมากกว่าก็คือรัฐบาล เพราะกฎหมายที่ค้างอยู่ส่วนใหญ่ก็มาจากรัฐบาล
นายณัฐวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขณะนี้เรามีข้อมูลเพียงพอแล้ว ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินหรือการใช้งบประมาณของรัฐมนตรีแต่ละบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่คาดว่าน่าจะอยู่ภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ส่วนเป็นการยื่นญัตติอภิปรายรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น เรายังไม่ได้สรุปรายละเอียด เพราะจะต้องรอดูไปอีกสักระยะ และทางผู้นำฝ่ายค้านคงจะมีการเรียกหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแต่ละพรรคมาสรุปอีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม