ภาคประชาชนค้าน “มติ ครม.” เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินทับลานแบบ “เหมาเข่ง” ด้าน กมธ.ที่ดินฯ เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าแจง 17 ก.ค.นี้ ย้ำต้องมีการตรวจสอบสิทธิ-เอาผิดผู้ครอบครองโดยมิชอบ “ธรรมนัส” ชี้ปรับปรุงแนวเขตทับลานไม่เกี่ยว ส.ป.ก. อย่าโจมตียกที่ดินให้นายทุน
ที่รัฐสภา วันที่ 11 กรกฎาคม นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือต่อนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
โดยนายภานุเดชกล่าวว่า เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน มี.ค.2566 ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกไป แต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการพยายามที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นคนดำเนินการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานใหม่ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่อยู่มาไม่เกินปี 2557 ตามประกาศอุทยานแห่งชาติปี 2562 ได้มีการผ่อนปรนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มที่มีพื้นที่กว่าแสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการติดตามการดำเนินคดีการตรวจสอบ หลายๆ แปลงอยู่ในระหว่างคำพิพากษาของศาลอยู่ ประเด็นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราเหมาเข่งกลุ่มประเด็นปัญหาทั้ง 3 พื้นที่มารวมกัน แล้วเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมผู้ที่อาจจะทำผิดในพื้นที่ตรงนี้ และทำให้กระบวนการในการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบกระเทือนทั่วประเทศ
นายภาณุเดชกล่าวต่อว่า อีกทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานยังเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งการเพิกถอนพื้นที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผืนป่าและสัตว์ และคุณค่าความสำคัญของความเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และก็น่าจะเป็นข้อกังวลที่คณะกรรมการมรดกโลกเองก็มีความห่วงใยอยู่ หากกลไกในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้เป็นกลไกที่ไม่ชอบธรรม ก็จะกลายเป็นตัวอย่างกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป จึงขอให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในแนวทางที่ควรจะเป็น
ด้านนายพสิษฐ์กล่าวว่า เนื่องจากในปี 2524 เราได้สำรวจรังวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากออกโฉนดอาจจะเกิดการขายให้นายทุนและบุกรุกที่ดินไปเรื่อยๆ ขอให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากทำงานจริง ไม่เห็นแก่ใคร มั่นใจว่าจะได้การพิสูจน์ที่คนได้โฉนดเป็นคนจนจริงๆ ที่สำคัญพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลก ถ้ามีการเพิกถอนสิทธิ์ก็จะมีการออกข่าวสร้างความเสียหายให้ประเทศ แค่เรื่องเศรษฐกิจก็แย่มากพอแล้ว จึงขอสนับสนุนให้ราษฎรที่ครอบครองที่ดินสามารถครอบครองที่ดินต่อได้
เครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เส้นแนวเขตนี้นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรแล้ว ยังทำให้มีปัญหาใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะว่าไม่ใช่จะมีแค่ส่วนที่จะเพิกถอนออกไป แต่ยังมีพื้นที่ที่จะถูกผนวกเข้ามารวมกับพื้นที่อุทยานอีก ซึ่งในนี้ก็มีประชาชนถือครองทำกินอยู่แล้ว จากการใช้งบประมาณแผ่นดินทำเป็นป่าชุมชนที่บูรณาการร่วมกัน ไม่สามารถนำมาผนวกเพิ่มได้ นอกจากนี้ ยังมีความห่วงใยในเรื่องการดำเนินการแต่ละกลุ่มปัญหา เพราะบริบทในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ก็ควรจะมีการบังคับใช้หรือแก้ไขด้วยบริบทที่แตกต่างกันออกไปด้วย จึงไม่สามารถนำทุกปัญหามาใช้มาตรการเดียวกันได้ เพราะจะไม่เกิดความเป็นธรรมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย แล้วก็จะไม่สามารถคลายข้อกังขาของประชาชนทั่วประเทศได้ และในวันที่ 17 ก.ค.นี้ จะมีการเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูล อาทิ สคทช., สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานฯ
ส่วนนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า กมธ.จะรับมาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่ง กมธ.เห็นตรงกันกับข้อเรียกร้องของทางภาคประชาชนที่ว่า 'จะต้องไม่เหมาเข่ง' โดยต้องสแกนส่วนที่เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ซึ่งเขาควรได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ ในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่มาก่อนก็ควรจะได้รับการออกเอกสารสิทธิ ส่วนกลุ่มที่มาอยู่ทีหลังแต่ก่อนปี 2557 ที่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล ก็ควรเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล
นายเลาฟั้งกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการคุ้มครองพื้นที่มีการบุกรุก ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งรวมไปถึงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ กลุ่มนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ หรือสิทธิการครอบครอง ที่แม้อาจจะมีการเปลี่ยนมือ แต่ก็จะต้องเป็นการใช้เพื่อการเกษตร หากถือครองผิดเงื่อนไขจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายยึดคืนมาเป็นของรัฐ อีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือการมีข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจในการออกเอกสารสิทธิให้แก่กลุ่มนายทุนโดยไม่ชอบ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นเดียวกัน
ทางด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแส #saveทับลาน ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ส.ป.ก. เรื่องนี้เกิดจากการที่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐ นำเรื่องร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐซึ่งทับซ้อนกัน จึงมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขบัญหาให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้อง จากนั้นคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดย สคทช.นำมติเสนอ ครม.ชุดที่แล้ว ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการตามโครงปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map)
สำหรับที่ดินที่จะตัดออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ครม.เห็นชอบให้ส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาจัดสรรให้ราษฎรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช่เรื่องที่ ส.ป.ก.ดำเนินการแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไป ขอให้เสร็จสิ้นกระบวนการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน ยืนยันว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมีหลักเกณฑ์การจำแนกลักษณะพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ รวมทั้งจำแนกคุณสมบัติผู้ครอบครองว่าถูกต้องตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินหรือไม่ อย่านำกระแส #saveทับลาน มาโจมตีว่า ส.ป.ก.จะนำที่ดินไปให้นายทุน
นายโชคดี ปรโลกานนท์ หรือลุงโชค อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ผู้ฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า เจ้าของสวนลุงโชค บ้านคลองทุเรียน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่ชาวบ้านมาอยู่ก่อนในยุคนั้นทรัพยากรมันมีมากมาย การให้ความรู้กับชุมชนในการใช้ทรัพยากรก็ไม่มีใครบอก การตัดไม้ทำลายป่าเห็นจนเคยชิน เพราะรัฐให้คนนอกชุมชนมาสัมปทานตัดไปจะได้ค่าภาคหลวงเท่าไหร่ชาวบ้านไม่รู้
“หน่วยงานภาครัฐว่าปลูกพืชชนิดนี้จะได้เงินชาวบ้านก็ทำตาม รัฐบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องเป็นพื้นที่อุทยานเราก็ยอมประกาศไปก่อนเดี๋ยวค่อยกันหมู่บ้านออก เราก็เชื่อ อยู่ไปค่อยปรับแนวเขตอุทยานเราก็ฟังและทำตาม NGO บอกว่าต้องอนุรักษ์ด้วยการฟื้นฟูป่าเราก็ช่วย ททท.บอกว่าให้เราทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเราก็ปลูกเบญจมาศ เกษตรบอกว่าท่องเที่ยวเกษตรจะดีกว่าเราก็ทำตาม หลายคนมานอนบ้านเราแล้วไปยิงหนังสติ๊กที่ผาเก็บตะวันแล้วบอกว่ามาปลูกป่า สรุป เราถูกหลอกมา 43 ปี วันนี้เราถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุกป่าไม่ควรที่จะได้รับเอกสารสิทธิ เขาปรามาสไว้ว่าเราไม่มีปัญญาที่จะดูแลเอกสารสิทธินั้นได้ น่าสงสารจังพ่อแม่พี่น้องชาว ต.ไทยสามัคคี ใครจะด่าทอท่านอย่างไรอย่าไปตอบโต้เขาเลย คิดว่าเป็นกรรมของพวกเรา”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม