สส.ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามการแก้ปัญหา "ปลาหมอคางดำ" ระบาด 13 จังหวัด ส่งผลกระทบเกษตรกร ถามผู้นำเข้ารับผิดชอบอย่างไร "รมช.อรรถกร" ยันต้องกำจัดลูกเดียว รับหลักฐานไม่พอสาวถึงต้นตอใครนำเข้า เตรียมประชุมแผนแก้การระบาดสัปดาห์หน้า "กรมประมง" คลอด 5 มาตรการนำร่อง กำชับทุกจังหวัดเร่งดำเนินการ พร้อมการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน
ที่รัฐสภา วันที่ 11 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา เรื่องปัญหาปลาหมอคางดำ โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด 13 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่กำลังประกาศขายที่นา ดังนั้นขอถามรัฐบาลถึงต้นตอของการนำปลาสายพันธุ์ชนิดนี้เข้ามาด้วยวิธีการใดบ้าง และผู้นำเข้ามีส่วนรับผิดชอบอย่างไร การแก้ปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้แก้ปัญหานี้อย่างไร ใช้งบประมาณไปเท่าไร และกับค่าอะไรบ้าง
"นอกจากนี้ อยากให้ประกาศให้ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับปลาสายพันธุ์นี้ จะกำจัดอย่างเดียวโดยประเทศไทยจะไม่รับรองปลาสายพันธุ์นี้เข้ามาอยู่ใช่หรือไม่ และมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้วถูกปลาหมอคางดำเข้าไปกัดกินอย่างไร" นายณัฐชากล่าว
ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า เมื่อในวันที่ 6 พ.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ตนและ สส.ณัฐชา ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ เราจะไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีในการเลี้ยงเพิ่ม ต้องกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น
"จากการตรวจสอบการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ในช่วงปี 60 และลามจนถึงตอนนี้ ผมให้กรมประมงตรวจสอบและยืนยันว่าไม่พบหลักฐานของการนำส่งตัวอย่างของปลาสายพันธุ์นี้เข้ามาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เอกสารของกรมประมงมีจำกัด ผมไม่สามารถระบุได้ว่าในปี 60 นั้นมีการส่งมอบตัวอย่างขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีหลักฐาน หรืออาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ซึ่งผมอยู่ตรงนี้ก็ต้องเชื่อว่ากรมประมงค้นแล้วและไม่มีหลักฐานว่ารับตัวอย่างมาจริงๆ"
นายอรรถกรกล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ หากเรามีตัวอย่าง เราสามารถนำดีเอ็นเอไปตรวจสอบย้อนกลับได้ เราก็จะสามารถหาผู้ที่ต้นตอและนำมารับผิดชอบต่อไป ดังนั้นถ้าใครมีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าใครหรือบริษัทใดเป็นคนทำ เรายินดีทำงานร่วมกับท่านเพื่อแก้ปัญหาต่อไป การตรวจสอบหาต้นทาง เราขาดแค่หลักฐานที่เป็นปลาตายหรือป่วยที่เข้าเงื่อนไขการนำเข้า ณ เวลานั้น แต่เราหาต้นตอไม่เจอ ซึ่งเราพยายามหาต้นตอ หากพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าใครทำผิด ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายระดับประเทศ
รมช.เกษตรฯ ชี้แจงว่า เรามีร่างแผนการปฏิบัติการแก้ไขการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยเราจะไปประชุมคณะกรรมการฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเรามี 5 มาตรการ 13 กิจกรรมย่อย ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่กรมประมงเร่งรัด คือการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาจาก 2n เป็น 4n ทำให้โครโมโซมปลาชนิดนี้เปลี่ยน แล้วปล่อยลงทะเลไป เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วก็จะทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งปลาที่จะปรับเปลี่ยนโครโมโซมจะกระโดดลงน้ำภายในสิ้นปีนี้
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ หลังลงพื้นที่เปิด “โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ” ที่จังหวัดเพชรบุรี ว่าขณะนี้กรมประมงได้ออกมาตรการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำ 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2.การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3.การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู 4.การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ และ 5.การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน
ทั้ง 5 มาตรการดังกล่าว ได้ส่งไปยังทุกจังหวัดที่มีการพบปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ จัดทำร่างแผนปฏิบัติการและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับ 5 มาตรการสำคัญของกรมประมง เพื่อเร่งดำเนินการตามเเผนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวประมงนำปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ อาทิ แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาป่น หมักทำน้ำปลา หมักทำปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการแปรรูปไปแล้วกว่า 500 ตันทั่วประเทศ โดยกรมประมงและหน่วยงานในพื้นที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และหาช่องทางการขายและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต อาทิ ร้านสะดวกซื้อ Modern Trade เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวประมงทั่วประเทศ เป็นการพลิกวิกฤตสร้างโอกาสต่อไป” นายบัญชากล่าว
สำหรับโครงการวิจัยเรื่อง การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม