โผไม่พลิก! สว.สีน้ำเงินกวาดเก้าอี้สภาสูง "มงคล" โชว์วิสัยทัศน์ใช้ประสบการณ์-ความรู้เชื่อม สว.เป็นเนื้อเดียวกัน ทำสภาเป็นของสามัญชน ได้ 159 คะแนนนั่งประธานวุฒิสภา "บิ๊กเกรียง" 150 คะแนน คว้า รอง ปธ.วุฒิฯ คนที่หนึ่ง "บุญส่ง" ได้เยอะสุด 167 คะแนน เป็นรอง ปธ.วุฒิฯ คนที่สอง "นันทนา" โวยเกิดเดจาวูคะแนนมาเป็นกลุ่มก้อนเกินต้านทาน "อังคณา" ซัดวุฒิสภาไม่มีความอิสระ "สว.กรพด" โล่ง กกต.ชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ
ที่รัฐสภา วันที่ 23 ก.ค. เวลา 09.35 น. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาวาระการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยมี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้กล่าวนำเพื่อให้ สว.กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญ
จากนั้น เวลา 10.04 น. ภายหลัง พล.ต.ท.ยุทธนาอธิบายหลักเกณฑ์การลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิฯ เรียบร้อย ได้ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานวุฒิสภา โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เสนอชื่อนายมงคล สุระสัจจะ กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ขณะที่นายเศรณี อนิลบล กลุ่มทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ เสนอชื่อ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ กลุ่มการสาธารณสุข และนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เสนอชื่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส กลุ่มสื่อสารมวลชน
ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งจะแสดงวิสัยทัศน์ สมาชิกมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเวลาสำหรับใช้แสดงวิสัยทัศน์ จึงทำให้ประธานที่ประชุมสั่งลงมติในญัตติดังกล่าว ผลปรากฏว่ามี สว.เห็นด้วยให้ใช้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที จำนวน 143 เสียง เห็นด้วยให้ใช้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ 7 นาที จำนวน 54 งดออกเสียง 3 เสียง เท่ากับ สว.เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที
ต่อมาเวลา 10.30 น. นพ.เปรมศักดิ์แสดงวิสัยทัศน์เป็นคนแรกว่า สว.ชุดนี้ถูกสังคมวิจารณ์ถึงที่มาของกลุ่มอาชีพ ไม่ตรงปก ครอบงำจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ตนจึงมุ่งมั่นอาสาเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์สิ่งที่ปรากฏในด้านลบ เพราะวุฒิสภาถือว่าเป็นสภาสูง สภาอันทรงเกียรติ ประชาชนคาดหวังในการทำงาน เสื้อของเราถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็จะผิดทั้งหมด
“ประธานวุฒิสภาจะทำได้ต้องมีสุขภาพดี เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ไหว แล้วมอบรองประธานไม่ทัน แล้วประธานต้องลุกไปเข้าห้องน้ำกะทันหัน จนทำให้ต้องปิดประชุมกะทันหัน บางคนเก่ง แต่เวลาผ่านไปแพ้สังขาร ผมย้ำว่าเป็นเรื่องจริงจัง อย่ามองเป็นเรื่องเล่น ไม่ไหวอย่าฝืน ปัจจุบันผมอายุ 59 ปี บวกอีก 5 ปี คืออายุ 64 ปี ผมพร้อมทำหน้าที่เป็นประธานที่มีสุขภาพที่ดี จึงขอให้สมาชิกพิจารณาด้วยเนื้อผ้า อย่าพิจารณาโดยที่ฟังจากคนอื่นว่ามีการรวมเสียง 143 เสียง ถ้าเป็นแบบนี้วุฒิสภาจะไม่พ้นข้อครหา ขอฝากสมาชิกอย่ามองผู้สมัครคนอื่นเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ประชาชนมองอยู่ทั่วประเทศและคาดหวังกับเรา” นพ.เปรมศักดิ์กล่าว
จากนั้น น.ส.นันทนาแสดงวิสัยทัศน์ว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภาดูจะเป็นสภาที่ห่างเหินจากการรับรู้ของประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ใช่สถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้เป็นภาพที่บั่นทอนศรัทธามหาชน นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะฟื้นฟูของ สว.ยุคใหม่อย่างไร ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ สว.ก็ต่อเมื่อเราทำให้วุฒิสภาเป็นสภาของประชาชน แม้ที่มาของ สว.จะไม่อาจกล่าวได้ว่ามาจากการเลือกของประชาชน แต่เรายึดโยงกับประชาชนผู้ที่จ่ายภาษีที่เป็นเงินเดือนของเราได้ด้วย 5 ส.
ตามโผ 'มงคล' ปธ.วุฒิสภา
น.ส.นันทนากล่าวว่า 1.สัมพันธ์ เราจะสร้างความผูกพันเป็นเจ้าของโดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ 2.สื่อสาร โดยการสื่อสารการทำงานของ สว.ผ่านการถ่ายทอดสดการประชุมสภา ผลักดันให้มีการถ่ายทอดสด กมธ.ทุกคณะ แถลงผลการทำงานทุกด้าน 3.สร้างสรรค์ เราจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ โปร่งใส 4.สมดุล เราจะเปิดกว้างให้กับทุกศาสนา เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ เปิดรับทุกเชื้อชาติโดยไม่กีดกันแบ่งแยก และ 5.สากล วุฒิสภาชุดใหม่ต้องเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ทันสมัย เป็นประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล
“เวลาที่ประชาชนจะให้โอกาสเราในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวุฒิสภาแห่งนี้เหลือน้อยเต็มที การตัดสินใจของเพื่อนวุฒิสภาจะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของวุฒิสภาแห่งนี้ ท่านเลือกได้ที่จะเป็นตำนานในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวุฒิสภา” น.ส.นันทนากล่าว
ส่วนนายมงคลแสดงวิสัยทัศน์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะ สว.ที่ต้องการให้ประเทศไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่สิ่งที่ดีกว่าและดีขึ้นทุกมิติ อยากเห็นสังคมไทย คนไทย เป็นหนึ่งเดียวกัน เห็นต่างกันได้ แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก ต้องเริ่มต้นจากความเป็นหนึ่งเดียวของวุฒิสภา เพราะเป็นองค์กรสำคัญพาสังคมไทยเดินหน้าด้วยสันติวิธี รวมถึงมีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สอดคล้องกับประเทศไทยและคนไทยอย่างแท้จริง วิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ที่อื่นก็เป็น จึงหวังให้ใครช่วยเราไม่ได้ แต่เราคนไทยต้องช่วยกัน
“ชีวิตผมมาจากก้อนดินก้อนทราย เป็นเด็กวัด เรียนอาชีวะ ผมเข้าใจความยากจนข้นแค้น ความเป็นคนไม่มีเส้นไม่มีสาย ผมเติบโตในระบบราชการด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ ผมมีประสบการณ์ประสานงานกับพี่น้องประชาชนในชนบทตลอดชีวิต เกษียณอายุมาแล้วผมก็ยังทำไร่ในชนบท เพราะฉะนั้นผมทราบดี เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนสมาชิก ผมเข้าใจปัญหา มีประสบการณ์อันยาวนาน มีเพื่อนอยู่ทุกหมู่เหล่า ผมเชื่อว่าผมจะเข้าใจและทำงานร่วมกับทุกคนได้ วุฒิสภาใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผมว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญปี 60 ปฏิรูปใหญ่ เป็นสภาของคนทุกหมู่เหล่าแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เป็นครั้งแรกที่วุฒิสภาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาทำหน้าที่” นายมงคลกล่าว
นายมงคลกล่าวด้วยว่า หากตนได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา จะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านนิติบัญญัติอย่างเต็มสติปัญญา เต็มความรู้ความสามารถ เพื่อรับใช้อำนวยความสะดวกแก่สมาชิก พร้อมใช้ความรู้ประสบการณ์ประสานงานกับทุกคนให้เป็นเนื้อเดียวกันให้เร็วที่สุด และขอเชิญชวนทุกคนช่วยงานกัน ก้าวเดินพร้อมกัน เพื่อให้วุฒิสภาแห่งนี้บรรลุผลความเป็นสภาของสามัญชน เป็นสามัญชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อประนอมอำนาจกับวิกฤตของสังคมไทย
กระทั่งเวลา 10.50 น. เริ่มเรียกชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษร เพื่อรับบัตรลงคะแนนจากเจ้าหน้าที่ แล้วนำไปเขียนชื่อในคูหาเลือกตั้ง เวลา 11.00 น. เข้าสู่ขั้นตอนการเลือกด้วยวิธีลงคะแนนลับ เข้าคูหา ด้วยการขานชื่อเรียงตามตัวอักษร เมื่อครบ 200 คนแล้ว โดยใช้ลงคะแนนลับ และขานคะแนนให้ที่ประชุมทราบ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า นายมงคล สุระสัจจะ สว.ได้ 159 คะแนน, น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.ได้ 19 คะแนน, นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ได้ 13 คะแนน บัตรเสีย 5 งดออกเสียง 4
พล.ต.ท.ยุทธนาแจ้งผลการเลือกประธานวุฒิสภาว่า นายมงคลได้คะแนน 159 คะแนน ถือว่าสูงสุด และมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม วันนี้ครบ 200 คน จึงถือว่านายมงคลได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา จากนั้นพักการประชุม 20 นาที ก่อนที่จะเลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1
เวลา 13.05 น. พล.ต.ท.ยุทธนาได้ดำเนินการเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์ในการเลือกเดียวกับการเลือกประธานวุฒิสภา ให้ สว. 1 คน สามารถเสนอได้ 1 ชื่อ โดยจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
โดยเริ่มจากรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นายบุญส่ง น้อยโสภณ สว. เสนอชื่อ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว., นายสหพันธ์ รุ่งโรจนพณิชย์ สว. เสนอชื่อนายนพดล อินนา สว., น.ส.นิชาภา สุวรรณนาค สว. เสนอชื่อนายปฏิมา จีระแพทย์ สว., น.ส.มณีรัตน์ เขมะวงศ์ สว. เสนอชื่อ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ สว. โดยกำหนดให้แสดงวิสัยทัศน์ไม่เกินคนละ 5 นาที
'บิ๊กเกรียง' รองปธ.สภาสูง
เวลา 13.17 น. พล.อ.เกรียงไกรแสดงวิสัยทัศน์ว่า ประการแรกจะยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ประการที่ 2 จะดำเนินการทางการเมืองและองค์กรอิสระด้วยความเที่ยงธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นที่พึ่งกับประชาชนได้ สภาแห่งนี้จะเป็นหลักในการดำเนินการต่อชาติบ้านเมือง ประการที่ 3-5 ความเชื่อมั่นต่อเพื่อนสมาชิกที่จะทำงานร่วมกัน สมาชิกแต่ละคนมาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และยึดมั่นในเกียรติ รับฟังความเห็นของสมาชิกทุกคน ในการดำเนินงานกิจการที่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างเท่าเทียมกัน เคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยที่เห็นต่างกัน พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินงานทุกอย่างให้วุฒิสภาเป็นที่เชื่อมั่น ยอมรับ และศรัทธาต่อพี่น้องประชาชน
ประการสุดท้าย ให้ความสำคัญต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเข้ามาทำงานร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา หรือการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อนำมาประกอบการตกลงใจของวุฒิสภาแห่งนี้ พร้อมสัญญาว่าจะกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เพื่อให้วุฒิสภาแห่งนี้เป็นสภาอันทรงเกียรติที่มีเพื่อนสมาชิกร่วมกัน จรรโลงความดีงาม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอันเป็นที่รักยิ่งต่อไป
ส่วนนายนพดลแสดงวิสัยทัศน์ว่า หากตนได้มาทำหน้าที่นี้แล้ว ตนจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ปฏิบัติหน้าที่เอนเอียงไปตามกระแสสังคม หรือแรงกดดันทางด้านการเมือง โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีในอดีตมาใช้ในที่ประชุมแห่งนี้
ด้านนายปฏิมาแสดงวิสัยทัศน์ว่า อยากจะเชิญชวนให้ท่าน สว.ทั้ง 200 ท่าน ทำงานเพื่อประชาชน อยากให้พวกเราช่วยกันเสริมสร้างสังคมไทยให้เกิดความรักความสามัคคี หยุดทะเลาะเบาะแว้ง เราเป็น สว. ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับ สส.และประชาชนชาวไทย รวมถึงสังคมไทยโดยทั่วไป
ส่วน รศ.แลแสดงวิสัยทัศน์ว่า อยากเห็นทุกเสียงของสมาชิก ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก หรือไร้กลุ่ม ต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการแสดงออก รวมถึงปัญหาของคนตัวเล็กที่ไร้เสียงด้วย
จากนั้นเวลา 13.40 น. ในการขานคะแนนให้ประชุมทราบ ผลปรากฏว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. ได้ 150 คะแนน ด้านนายนพดล อินนา สว. ได้ 27 คะแนน ขณะที่ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ได้ 16 คะแนน ส่วน ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ สว. ได้ 5 คะแนน บัตรเสีย 2 งดออกเสียง 0
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.20 น. มีความสับสนระหว่างการขานและการกดคะแนนเพื่อแสดงผลบนจอในช่วงสุดท้าย ทำให้ พล.ต.ท.ยุทธนาแจ้งต่อที่ประชุมว่า อาจจะต้องมีการนับคะแนนใหม่เนื่องจากมีบัตรเกินมา
ต่อมา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ลุกขึ้นถามว่า “ไม่ทราบว่าตัวเลขบนกระดาน 200 พอดี ไม่เกิน แล้วนับอะไรกันอยู่” พล.ต.ท.ยุทธนาชี้แจงว่า “นับบัตรเสีย 2 ใบ แล้วมีงดออกเสียงอีก 1 ใบเลยเกิน” ทำให้มีสมาชิกหนึ่งคนถามว่า “แล้วบัตรครบ 200 ใบหรือเกิน 200 ใบ” พล.ต.ท.ยุทธนาชี้แจงอีกครั้งว่า “บัตรครบ แต่ขานคะแนนไม่ตรงกัน จึงต้องขออนุญาตอ่านคะแนนใหม่”
น.ส.นันทนาจึงลุกขึ้นหารือว่า คะแนนตรงนี้ เป็นเรื่องของบัตรเสียหรืองดออกเสียง ซึ่งคาบเกี่ยวประมาณหนึ่งคะแนน แต่หนึ่งคะแนนที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ส่งผลให้ผู้ได้รับเลือกในตำแหน่งรองอันดับหนึ่งเปลี่ยนแปลง จึงเห็นว่าสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาควรจะย้อนเทปดูว่า มีการขานงดออกเสียงหรือไม่ เนื่องจากตนไม่ได้ยินคำนี้ และถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลต่อผู้ได้รับเลือกใดๆ แต่หากมีการขานกันใหม่จะใช้เวลายาวนานมาก ขณะที่ประหยัดเวลาในการแสดงวิสัยทัศน์เพียงคนละ 5 นาที แต่กลับนับคะแนนเป็นชั่วโมง พล.ต.ท.ยุทธนาเห็นด้วยกับ รศ.ดร.นันทนาว่าผลไม่เปลี่ยนแปลง แต่หลักฐานเปลี่ยนแปลง เพราะต้องมีการจดบันทึกและทำเป็นรายงาน หากไม่ตรงก็จะเสียหาย จึงขอให้เจ้าหน้าที่เสียเวลานับใหม่เพื่อให้มีความถูกต้อง 100%
'บุญส่ง' ฉลุยรอง ปธ.คนที่ 2
จากนั้นมีการอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวในวุฒิสภา ก่อนที่ พล.ต.ท.ยุทธนาจะวินิจฉัยว่า จะต้องนับคะแนนใหม่ทั้งหมด โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการนับคะแนนประมาณ 1 ชั่วโมง
ต่อมาเวลา 16.20 น. ได้ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 โดยนายมงคล สุระสัจจะ สว. เสนอนายบุญส่ง น้อยโสภณ สว., น.ส.นิชาภา สุวรรณนาค สว. เสนอนายปฏิมา จีระแพทย์ สว., น.ส.ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ สว. เสนอนายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต สว. และนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. เสนอนางอังคณา นีละไพจิตร สว.
นายบุญส่งแสดงวิสัยทัศน์คนแรกว่า ประวัติการทำงานของตนที่ผ่านมา เชื่อว่าความรู้ด้านกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ สามารถเข้าใจได้ดี ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อนำวุฒิสภาให้ได้รับความศรัทธา เชื่อมั่นจากประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดของ สว. คือกรรมาธิการของวุฒิสภา ขอให้ตั้งคนดีมีความรู้ความสามารถกับคณะที่อยู่ นอกจากการพิจารณากฎหมายแล้ว ต้องควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
"ผมเน้นที่กรรมาธิการ จะทำอย่างไรให้กรรมาธิการทำงานมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สว.ก็ต้องมีทั้งด้านวิชาการ ทวิภาคีและพหุภาคี ให้วุฒิสภาได้รับความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ หวังว่า 5 ปี สว.จะทำงานลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของวุฒิสภา” นายบุญส่งกล่าว
นายปฏิมาแสดงวิสัยทัศน์ว่า อยากให้ทุกท่านร่วมกันส่งเสริมบรรยากาศในการทำงานแบบเปิดกว้าง เปิดใจ เป็นกันเอง เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ได้สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ ตนหวังว่าเราจะมีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้สีแดง ขาว น้ำเงิน ของพวกเราทุกคน
ส่วนนายพงษ์ศักดิ์แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนพูดไม่เก่ง แต่จะไม่หลอกจะใช้พลังทั้งหมดที่มีในการทำงาน เพื่อลบทุกข้อครหา สร้างศรัทธาของประชาชน พาวุฒิสภาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เน้นกฎหมายที่ช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างเร่งด่วน
นางอังคณาแสดงวิสัยทัศน์ว่า ยืนยันเรื่องการสร้างความโปร่งใสในการทำหน้าที่ สว.ที่ยึดโยงกับประชาชนหรือชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สว. รวมถึงการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งสนับสนุนให้ สว.ได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของสหภาพรัฐสภา โดยเป็นตัวแทนจากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์
“เหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถหลายคนไม่อยากเข้าสู่วงการการเมือง เป็นเพราะนักการเมืองหญิงมักถูกด้อยค่า หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันมีนักการเมืองหญิงหลายคนที่เป็นเหยื่อการด้อยค่าโดยใช้เพศในการคุกคาม โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ในฐานะวุฒิสมาชิกเราจะต้องไม่อดทนต่อสิ่งเหล่านี้" นางอังคณากล่าว
ต่อมาเวลา 17.46 น. เป็นการลงคะแนนลับ ด้วยการเข้าคูหาเขียนชื่อบุคคลที่จะเลือกและขานเรียงตามลำดับตัวอักษร โดย พล.ต.ท.ยุทธนาทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า มีผู้มารับบัตรลงคะแนน 199 ใบ จากสว. 200 คน โดยปรากฏว่า นายบุญส่ง น้อยโสภณ สว.ได้ 167 คะแนน, นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ได้ 18 คะแนน, นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต สว. ได้ 8 คะแนน และนายปฏิมา จีระแพทย์ สว. ได้ 4 คะแนน งดออกเสียง 2
'นันทนา' โวยเกิดเดจาวู
จากนั้น พล.ต.ท.ยุทธนาแจ้งผลการเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ว่า นายบุญส่งถือว่าได้คะแนนสูงสุด ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ประชุมจำนวน 199 คน ถือว่านายบุญส่งได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2
พล.ต.ท.ยุทธนาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งชื่อผู้ที่ได้รับเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และ 2 ไปยังนายกฯ เพื่อนำความเพื่อกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป สำหรับการประชุมวุฒิสภาครั้งถัดไปจะขึ้นภายหลังจากมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภาแล้ว โดยประธานวุฒิสภาจะมีคำสั่งให้นัดประชุม และสำนักงานเลขาฯ จะได้แจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป
จากนั้น พล.ต.ท.ยุทธนา ประธานที่ประชุมสั่งปิดประชุมในเวลา 18.21 น.
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้โพสต์ภาพการเลือกประธานวุฒิสภาพร้อมข้อความระบุว่า “ผลการลงมติเลือกประธานวุฒิสภา เกิด Deja vu เช่นเดียวกับการเลือก สว.รอบสุดท้าย คะแนนมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เกินต้านทาน อันดับหนึ่งได้ถึง 159 คะแนน !! ปฏิบัติการ “สว.เล็กเปลี่ยนสภา” ไม่สำเร็จ นันทนาได้เพียง 19 คะแนน แต่ลองศึกษาวิสัยทัศน์ ฉบับเต็ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดู แล้วลองถามใจดูว่า ถ้าท่านเป็น สว. ท่านจะเลือกใครเป็นประธาน?
นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนในวันนี้ คือความไม่เป็นอิสระ อย่างช่วงที่มีการเลือกเข้ามา เราก็รู้ในระดับหนึ่งว่า มีการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง แต่วันนี้แสดงให้เห็นว่าวุฒิสภามีความเป็นอิสระจริงหรือไม่ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คะแนนจะเทไปให้คนใดคนหนึ่งจนมากแบบนี้
“วันนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่า วุฒิสภาไม่มีความเป็นอิสระจริงๆ” นางอังคณากล่าว
วันเดียวกัน ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ สว.กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน กล่าวถึงกรณี กกต.สั่งสอบหลังมีการปล่อยข่าวเคยถูกคุมขังเมื่อปี 2561 ว่า ต้องดูผลของคำพิพากษาก่อนว่าเขาพิพากษาหรือยัง ประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งต้องใช้มาตรฐานของศาลฎีกา ต้องฟังศาลฎีกาว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ขอย้ำว่าคดีของตนศาลยังไม่ได้พิพากษา เพียงอยู่ในชั้นอัยการส่งตัวฟ้อง และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอประกันตัวไม่เคยเข้าคุก
ด้านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีว่าที่ พ ต.กรพด ว่าการตรวจสอบคุณสมบัติและขณะต้องห้ามของว่าที่ พ.ต.กรพด ในเบื้องต้นพบว่ามีประวัติการถูกคุมขังในเรือนจำกลางระยอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกเป็น สว.จึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้บัญชาการเรือนจำกลางระยอง และได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบมายัง กกต. ว่าที่ พ.ต.กรพดได้ถูกคุมขังตามหมายขังในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2561 และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2549/2562 ให้ปรับ 5,000 บาท เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2562
"ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 การถูกคุมขังตามหมายขังและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวไม่ถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา" เอกสาร กกต.ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม