ถึงคิววุฒิสภาชำแหละงบฯ 68 "พิชัย" พร้อมเดินหน้าจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทน้ำหนักให้สวัสดิการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบาง สว.กางกฎเหล็ก 8 ข้อ ขีดเส้นตัวแดงรัฐบาลต้องลดจำนวนเงินกู้ รักษากรอบวินัยการเงินการคลัง "วุฒิพงศ์" เขย่าหนักหั่นเบี้ยเลี้ยงนายพล นำเงินไปซื้ออาหารดีๆ ให้พลทหาร ฟาดหนักดีอีไม่มีนักเทคโนโลยี ตามไม่ทันมิจฉาชีพที่ผุดรายวัน ระอาหนักตำรวจไซเบอร์ยังไม่ตื่น “อังคณา” ติงแผนคุ้มครองสิทธิฯ ไม่มีโผล่ชายแดนใต้ งอกแค่งานอบรม
เมื่อวันจันทร์ เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ชี้แจงว่า งบประมาณปี 2568 เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม และกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อนและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น สำหรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ รวมทั้งความห่วงใยที่สมาชิก เสนอแนะไว้ รัฐบาลขอรับไว้และจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงาน
ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า คณะ กมธ.มีข้อสังเกตถึงรัฐบาล 8 หัวข้อ ดังนี้ 1.แนวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรเร่งทำงาน 3 เรื่อง คือการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการเร่งรัดการลงทุนในโครงการลงทุน นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และการรักษาพื้นที่ทางการคลัง และปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์
นายชีวะภาพกล่าวอีกว่า 2.ความเสี่ยงทางการคลังในการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายมาตลอด ทำให้สัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยอยู่ในระดับสูงขึ้นตามไปด้วย คณะ กมธ.จึงมีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณสุ่มเสี่ยงต่อเพดานกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด จากการจัดเก็บรายได้ที่ได้น้อยกว่าประมาณการ ทำให้พื้นที่การคลังมีจำกัด ดังนั้นรัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ประมาณการ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ
3.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีตั้งแต่ปี 62-65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นผ่านกู้เพื่อชดเชย แต่การชำระต้นเงินกู้จะทำให้ยอดลดลงไม่มาก ทำให้การรักษากรอบวินัยการเงินการคลังสุ่มเสี่ยง ดังนั้นรัฐต้องจัดงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0
4.ประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงหรือใกล้เคียงกับรายจ่าย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รัฐบาลจำเป็นต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้มีผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน สร้างรายได้ท่องเที่ยว เป็นต้น
“5.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รัฐบาลควรหาแนวทางเพื่อลดจำนวนเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และต้องรักษากรอบวินัยการเงินการคลังให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมถึงหลีกเลี่ยงนโยบายหรือโครงการที่จะส่งผลให้ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้การจัดทำงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 6.การจัดทำงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนงบประมาณกับยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำแผนงานหรือโครงการ และจัดสรรงบประมาณให้กับแผ่นแม่บท และควรกำกับติดตาม รวมถึงควรจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับคำนิยามของแผนงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” ประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าว
นายชีวะภาพกล่าวทิ้งท้ายว่า 7.เพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายและการกันเงินเหลื่อมปี ปี 68 รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพหรือเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อให้เม็ดเงินของรัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 8.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเชิงพื้นที่ ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มกรอบวงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท จัดทำแผนงานพัฒนาจังหวัด ไม่ควรกำหนดรูปแบบให้เหมือนกันทุกจังหวัด แต่ควรให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนให้เหมาะสมกับทิศทางตามศักยภาพพื้นที่
จากนั้นเวลา 11.00 น. นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ อภิปรายว่า ในส่วนงบกระทรวงกลาโหม งบซื้ออาวุธ งบเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการผู้บังคับบัญชา ขอให้ลดลง นายพลทั้งหลายรับให้น้อยลง เกลี่ยให้ทหารชั้นผู้น้อยบ้าง ทหารชั้นผู้น้อยอยู่ชายแดนได้รับสวัสดิการยังไม่เต็มที่ อาหารก็แทบจะไม่มี เขาไม่อยากได้ถาดหลุมแพงๆ เขาอยากได้อาหารดีๆ ที่ครบ 5 หมู่ ดังนั้นการใช้งบประมาณควรต้องมีหลักธรรมาภิบาล
น.ต.วุฒิพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนงบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงก็ไม่ใช่นักไอที แต่ที่ได้เป็นเพราะอาวุโสถึง แล้วมาจากกระทรวงอื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระทรวงนี้ขาดนักเทคโนโลยี รวมถึงปัญหามิจฉาชีพที่ตอนนี้มีทั่วไปหมด
"มีใครไม่เคยได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพบ้าง ดังนั้นควรจะมีการบูรณาการระหว่างกระทรวงดีอี, ธนาคาร, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คือกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ เมื่อไหร่จะตื่นขึ้นมาทำงาน ตอนนี้ลองไปแจ้งความดูจะเป็นคดีที่ 5 แสน เมื่อไหร่เสร็จก็ไม่ทราบ ท่านอาจจะอ้างว่ากฎหมายมีความล่าช้า ซึ่งก็สามารถแก้ได้ ก็บอกมาว่าต้องแก้มาตราไหนเราจะช่วยแก้ให้" น.ต.วุฒิพงศ์ระบุ
เมื่อเวลา 18.00 น. หลังสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ 174 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68
จากนั้นนายพิชัยได้กล่าวขอบคุณ สว.ที่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 พร้อมกล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่านโยบายและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้ จะนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์แผนงานที่กำหนด โดยรัฐบาลจะกำกับดูแลติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้มีความโปร่งใส และเป็นผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดตามความมุ่งหวังของรัฐบาลและสมาชิกต่อไป
ด้านนางสาวนันทนา นันทวโรภาส ให้สัมภาษณ์ว่า จากการดูรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 68 เป็นการจัดที่ไม่มียุทธศาสตร์ เชื่อว่าเป็นการจัดทำงบประมาณของข้าราชการประจำ ทำให้ไม่มีลักษณะของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และงบฯ ที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นงบประมาณในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และซอฟต์พาวเวอร์ หากยังจัดงบประมาณแบบนี้ต่อไป ปีหน้าคงหมดหวัง
ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร ระบุว่า ตั้งข้อสงสัยว่า แผนมนุษยชนแห่งชาติอยู่ตรงส่วนไหนของงบฯ และทุกกระทรวงได้นำเข้าไปอยู่ในแผนงบประมาณหรือไม่ รวมถึงเรื่องเพศสภาพหรือวัย ทุกกระทรวงได้นำไปใส่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น งบฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่วนมากเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของการบูรณาการจัดการอบรมเฉยๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยื่นสอบอิ๊งค์แทรกแซงสื่อ เรืองไกรขู่มีอีกหลายเรื่อง
จองเวรเพิ่ม "เรืองไกร" ร้อง กกต.สอบ "นายกฯ อิ๊งค์" แทรกแซงสื่อ งัดข่าว-คลิปฉุนสื่อไม่ให้ถามยุแยง
51ปี14ตุลาย้ำปรองดอง ถกรายงานนิรโทษ17ตค.
รำลึก 14 ตุลา ครบ 51 ปี รัฐบาลย้ำส่งเสริมประชาธิปไตยเคารพความเห็นต่าง
เหยื่อดิไอคอนอื้อ‘พอล’รับโดนไถ
"บก.ปคบ." เผยยอดเหยื่อ “ดิไอคอนกรุ๊ป" พุ่งกว่าพันคน มูลค่าความเสียหาย 378 ล้านบาท
ฟัน‘พิศาล’เซ่นตากใบ จับตาเพื่อไทยขับพ้นพรรค จี้รบ.บี้ตร.ออก‘หมายแดง’
จับตาที่ประชุม "กก.บห.เพื่อไทย" ขับ "พิศาล" พ้นพรรคหรือไม่
แจ้งเตือน9จว.ใต้ เฝ้าระวังดินสไลด์ ‘ธ.SME’ซับน้ำตา
ศปช.แจ้งเตือนภาคใต้ 9 จว.เฝ้าระวังดินสไลด์หลังฝนเคลื่อนลงใต้
พท.หวังเข็น‘ประชามติ’ โทษสภาสูงเตะถ่วงกม.
"สรวงศ์" หวังเข็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้ทันพ่วงเลือก สจ. พร้อมยกร่าง