รื้อรธน. รอแกนนำสรุป นิกรชี้แฉลบหลายเรื่อง

“วิสุทธิ์” ย้ำการชำเรา รธน.ต้องรอระดับแกนนำสะเด็ดน้ำ ส่วนจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ก็แล้วแต่ “อนุทิน” ลั่น พท.ยังไม่ติดต่อมา  อย่าเพิ่งกังวลช่วงนี้มีเรื่องสำคัญกว่า “นิกร” รับสภาพช่วงนี้การแก้ไขแฉลบเยอะ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ​พ.ศ.2567 ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2567 เป็นต้นไป โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ​ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพูดคุยหารือของหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคการเมือง ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าว่า เป็นเรื่องหัวหน้าพรรคการเมืองที่จะไปพูดกันก่อนว่าจะไปทางไหน จะเดินหน้าถอยหลังอย่างไร วิปรัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประสานเพื่อหารือ ดังนั้นต้องรอให้ระดับหัวไปคุยกันก่อน ข้างล่างจะได้ไปด้วยกันได้

เมื่อถามว่า จะปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 31  ต.ค. การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ทันพิจารณาสมัยประชุมนี้แล้วหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า แล้วแต่การหารือของหัวหน้าพรรคการเมือง ถ้าตกลงกันได้ แต่หากยังไม่ได้คุยกันก็ต้องรอไปก่อน เพราะมีกฎหมายประชามติ และอะไรหลายอย่างให้คุยกันเบ็ดเสร็จเป็นที่เข้าใจของสังคมจะได้จบๆ ไป  ส่วนต้องเปิดสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องใดหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะเสนอมา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรค พท.ยังไม่ได้นัดหารือเพื่อพูดคุยในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ และนายกฯ ช่วงนี้ก็เดินทางไปต่างประเทศตลอด ขออย่าเพิ่งกังวลตรงนั้นเลย  เพราะมีหลายเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญมากกว่า อาทิ ปัญหาอุทกภัย เรื่องเหตุรถบัสทัศนศึกษานักเรียนไฟไหม้ ซึ่งเราต้องจัดการเรื่องพวกนี้ก่อน

เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขอรอหารือกัน อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สมาชิกพรรคการเมือง สส.เราก็เดินหน้าไม่เหลียวหลังอยู่แล้ว

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีหลายพรรคการเมืองมีแนวโน้มว่าจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า  หลายพรรคการเมืองเคยมีนโยบายที่บอกกับประชาชนว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ก็มีนโยบายซึ่งมีผลผูกพัน อย่างไรก็ต้องทำ แต่ตอนนี้คือมีการแฉลบ

เมื่อถามถึงกรณีที่วุฒิสภามีมติให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติ นายนิกรกล่าวว่า การพิจารณาของ กมธ.วุฒิสภาก็แฉลบมาเยอะ แต่ถามว่าขณะนี้สิ้นหวังหรือยัง ก็ยัง เรายังมีโอกาสอยู่ คือสามารถประเมินกันได้เลยว่าหากแก้มาในหลักการเช่นนี้ ต้องกลับมาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำมายืนยัน ซึ่งเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแน่นอน เพราะเป็นหลักการใหญ่  ซึ่งหากไม่เห็นด้วยก็จะต้องตั้ง กมธ.ร่วมกัน 

“9 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรื่องนี้  เพื่อยืนยัน ซึ่งต้องยืนยันอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นหน้าตาของสภาจะอยู่ตรงไหน ถูกบีบมาเช่นนี้ โดยต้องเสนอชื่อคนที่จะไปเป็น กมธ.ร่วม 10 คน หลังจากนั้นก็จะต้องกลับเข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็น กมธ.อีก 10 คน ส่วนวันที่ 16-23 ต.ค.  กมธ.ร่วมต้องตกลงกันให้ได้ โดยภายในวันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาต้องยืนยันและเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของ กมธ.ร่วม ซึ่งหากทั้ง 2 สภาเห็นด้วยวันที่ 30 ต.ค.ก็จะมีผล และวันที่ 31 ต.ค. สามารถส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ในวันที่ 2 ก.พ.2568 ที่จะมีการเลือกนายก อบจ.ก็ยังทันอยู่ เพราะตอนแรกยังกังวล เนื่องจากเกรงว่าวุฒิสภาจะดึง” นายนิกรระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง