'ปิยบุตร' ร่วมเวทีม.ขอนแก่น ยกปัญหา 'ขนส่งมวลชนสาธารณะ' รณรงค์ 'ปลดล็อกท้องถิ่น'

'ปิยบุตร' ร่วมเวทีสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น รณรงค์ 'ปลดล็อกท้องถิ่น' ยกปัญหา 'ขนส่งมวลชนสาธารณะ' ที่ไม่มีในจังหวัดอื่น เป็นเพราะไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง ชี้ 3 ปมสำคัญ พลิกโฉมท้องถิ่น สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

10 มิ.ย.2565 - ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการเสวนาท้องถิ่นไทย หัวข้อ “ปลดล็อกท้องถิ่นกับการปฏิรูปรัฐราชการไทย” โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เดินทางมาหลายจังหวัด ไม่ว่าที่ไหนปัญหาหนึ่งที่พบคือไม่มีขนส่งมวลชนสาธารณะ ประเทศไทยที่ว่ากันว่ามีความเด่นดังเรื่องท่องเที่ยว มีศิลปวัฒนธรรมน่าดึงดูดให้คนมาดู แต่ทำไมเวลาไปเที่ยวก็พบว่า ระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนแต่ละจังหวัดพึงมีกลับไม่มี และทำไมจึงเกิดขึ้นแค่กรุงเทพมหานครแห่งเดียว ภาคเอกชนที่ขอนแก่นมีความคิดผลักดันเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน นี่สะท้อนปัญหาเรื่องของการกระจายอำนาจ และแม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คิดจะทำเรื่องขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชน ก็ติดล็อกไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะขนส่งมวลชนหนึ่งเส้นไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบได้หน่วยเดียวจบ ต้องไปคุยกับ สำนักโยธาธิการผังเมืองจังหวัด คุยกับทางหลวงชนบท คุยกับมหาดไทย คมนาคม ฯลฯ มีอีกสารพัดหน่วยงานเป็นเจ้าภาพ จนทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถตัดสินใจเด็ดขาดได้

"แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ปัญหาต่อมาก็คือไม่มีงบประมาณ เพราะขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต้องใช้เงินมาก อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็น อปท. รูปแบบหนึ่ง รถไฟฟ้าหลายสายที่เราเห็น แท้จริงแล้ว กทม. มีอำนาจดูแลอยู่สายเดียว คือ BTS ที่เหลือเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดกระทรวงคมนาคม และเงินที่ใช้สร้างสายอื่นๆก็เป็นงบประมาณส่วนกลาง ซึ่งแบบนี้ถามว่าเป็นธรรมต่อคนต่างจังหวัดที่เสียภาษีเช่นกันหรือไม่ ทำไมต้องสร้างที่ กทม. แล้วที่อื่นๆ ทำไมคนต่างจังหวัดต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทางเท่านั้้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องการไม่กระจายอำนาจ เป็นเหตุผลที่เราทำรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น"

นายปิยบุตร กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจ ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีปัญหาอยู่ใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ เรื่องที่ 1.ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะที่แท้จริง เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่โครงสร้างการปกครองของเราที่ผิดหลักสากล โดยเราให้กระทรวง กรม เป็นนิติบุคคล แทนที่จะให้ราชการส่วนกลางทั้งหมดเป็นนิติบุคคล แล้วกระทรวง กรม เป็นเพียงไส้ในเท่านั้น ซึ่งพอเป็นแบบนี้ทำให้มีปัญหาเรื่องความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เวลาจะย้ายโอนอะไรต่างๆ ไปสู่ท้องถิ่นก็ติดขัดไปหมด แต่ละหน่วยงานต่างถือกฎหมายคนละตัว มีอำนาจในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน มันจึงวุ่นวาย ท้องถิ่นจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ดังนั้น เราจึงปรับวิธีคิดใหม่ จากเดิมที่บอกว่าส่วนกลางทำได้ทุกเรื่อง เปลี่ยนให้ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่องในพื้นที่ตัวเอง แล้วส่วนกลางห้ามทำ ยกเว้นแค่บางเรื่อง เช่น การเงินการคลัง ความมั่นคง การต่างประเทศ ฯลฯ หรือเว้นแต่ถ้าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ แล้วร้องขอมาให้ส่วนกลางช่วย นี่เป็นการคิดจากพื้นที่เป็นหลัก บริการสาธารณะท้องถิ่นต้องเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนกลางและภูมิภาคเข้ามาเสริมเมื่อท้องถิ่นทำไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นต้องตั้งอยู่บนหลักการกำกับดูแล ไม่ใช่ไปสั่งการหรือระงับยับยั้งโครงการที่ผู้บริหารท้องถิ่นคิดจัดทำขึ้น ซึ่งถ้าเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง กรณีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการที่ผู้บริหารท้องถิ่นจะทำอะไรต้องไปถามผู้ว่าราชการจังหวัดเสียทุกเรื่องว่าทำได้หรือไม่ รวมถึงแก้การที่ผู้ว่าฯ นายอำเภอมักจะมีจดหมายน้อยสั่งการให้ผู้บริหารทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วย

นายปิยบุตร​ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 2. ท้องถิ่นไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งในที่นี้ก็คืองบประมาณ เพราะทุกวันนี้ท้องถิ่นแต่ละแห่งจัดเก็บได้แต่ภาษีตัวเล็กๆ เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ส่วนภาษีตัวใหญ่ๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เราเสีย 7 % จากการซื้อสินค้านั้น ต้องเข้าส่วนกลางก่อนแล้วค่อยแบ่งกลับมาให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่การบริโภคเกิดขึ้นที่ไหน ภาษีก็ควรจะใช้ที่นั่น และนอกจากนี้สัดส่วนการจัดสรรรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ก็อยู่ที่ร้อยละ 65 ต่อ 35 ซึ่งเราจะขยับสัดส่วนตรงนี้ใหม่เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 รวมถึงเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีโอกาสหารายได้แบบใหม่ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นออกพันธบัตร การกู้เงินมาลงทุน หรืออาจจะมีการออกสลากในจังหวัดตัวเอง แล้วเอารายได้ส่วนนี้มาสร้างสวัสดิการ เป็นหวยบำนาญให้คนในท้องถิ่นได้ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่จะมาจัดทำบริการสาธารณะเพื่อคนในท้องถิ่นได้


และเรื่องที่ 3. การตรวจสอบคอร์รัปชั่นและการมีส่วนร่วมของพลเมือง หลายคนเป็นห่วงว่ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแล้วจะเกิดการคอร์รัปชั่นมากมาย พูดอย่างนี้ทำราวกับว่าส่วนกลางและภูมิภาคไม่มีการทุจริต ทั้งๆ ที่ถ้าไปดูตัวเลขก็จะพบว่าส่วนกลางกับภูมิภาคนั้น มีมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตสูงกว่ามาก ส่วนท้องถิ่นแม้มีจำนวนที่เยอะกว่าแต่มูลค่าไม่มากเท่า และที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นความผิดทางเอกสาร ทางระเบียบด้วย ว่า อปท ใช้งบทำในสิ่งที่ตนไม่มีอำนาจทำ ดังนั้น คำว่ากระจายอำนาจเท่ากับกระจายการโกงจึงฟังไม่ขึ้น และตรงกันข้าม การกระจายอำนาจจะช่วยทำให้การคอร์รัปชั่นลดลงได้ เพราะอำนาจ งบประมาณ ที่ไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดประชาชนนั้น ประชาชนจะร่วมตรวจสอบได้ง่ายขึ้น


"การจะแก้คอร์รัปชั่นไม่ใช่การไปสร้างองค์กรตรวจสอบเยอะๆ แต่ต้องเติมเรื่องการมีส่วนร่วมประชาชนเข้าไป ซึ่งเรามีข้อเสนอเรื่องการเปิดเผยข้อมูล สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การประชุมสภาท้องถิ่น มติในการประชุมต่างๆ ต้องเปิดเผย ประชาชนต้องรับรู้ นอกจากนี้ ต้องกระตุ้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเรามีข้อเสนอเรื่องสภาพลเมืองท้องถิ่น ที่จะถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลย์และตรวจสอบ ผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น โดยเป็นสภาพลเมืองท้องถิ่นนี้ ทุกคนมีมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่ เช่น ให้พลเมืองในท้องถิ่นมาลงทะเบียนไว้ เสร็จแล้วจับสลากเวียนกันเป็นคนละปี สภาแห่งนี้ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ตามดูการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นทุกวัน เรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเป็นพวกเดียวกันของสภาท้องถิ่นกับผู้บริหารท้องถิ่นได้ และนอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและกระตือรือร้นด้วย"นาย ปิยบุตร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทึ่ง! 'มข.' พัฒนาเตียงอัจฉริยะ นวัตกรรมเพื่อคนสูงวัยป่วย สร้างรายได้ให้ชุมชน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งเตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตัวลดแผลกดทับ ‘สูงวัยป่วยติดเตียง’ 2 ชุมชนนำร่อง ตำบลบ้านโต้น และตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เตรียมอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น

'มข.' เจ๋ง! พัฒนา 'เตียงอัจริยะ' ช่วยพลิกตัวผู้ป่วย ราคาถูกช่วยชุมชน

'มหาวิทยาลัยขอนแก่น' สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม พัฒนา 'เตียงอัจฉริยะ' เวอร์ชัน 3 ช่วยพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงลดแผลกดทับ 2 ชุมชนนำร่อง เตรียมอัปเกรดเวอร์ชั่นใหม่ตอบโจทย์มากขึ้น

คนเนรคุณ! 'ศิษย์​เก่าม.​ขอนแก่น' รับไม่ได้ภาพอัญเชิญ​ 'พระเกี้ยว' กรรมคือเครื่องส่อเจตนา​

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า

'ดร.นิว' ฟาด 'ดร.ป๊อก' สร้างตรรกะอุบาทว์ ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

'ปิยบุตร' ฉะ 'ก้าวไกล' กลัว ลนลาน นำนโยบายแก้ไข 112 ออกจากเว็บไซต์พรรค

'ปิยบุตร' ไม่พอใจ 'ก้าวไกล'นำนโยบายแก้ไข 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรค ย้อนถามทำไมแหยและหงออย่างนี้ คำวินิจฉัยไม่ได้สั่งให้เอาออกเลย ไม่ควรกลัว ลนลาน ขนาดนี้ ต่อให้ลบออกก็ยุบได้อยู่ดี