'อมรัตน์' ซัดกอ.รมน. มีทหารเป็นตัวเล่นหลักทุกสนาม มีอำนาจใหญ่โต สร้างความแตกแยกให้ประชาชน ชงยุบทิ้ง พร้อมปฏิรูป สมช.แก้ไขกฎหมายความมั่นคง
16 ก.พ.2566 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายกรณีการใช้อำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า เป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นมาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อ 50-60 ปีก่อน เช่น เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง เมื่อปี 2517 ที่เป็นการสังหารประชาชนในประเทศถึง 3 พันศพ ทำให้นิสิตนักศึกษาในขณะนั้นเรียกร้องให้มีการยุบ กอ.รมน.ทิ้งไป และเหตุการณ์เผาหมู่บ้าน สังหารประชาชน ที่หมู่บ้านนาทราย จ.หนองคาย ในขณะนั้น ปรากฏว่า กอ.รมน. ยังมีส่วนจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อีกด้วย ทำให้ประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่นที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยกันทั้งโลก คือ เรามีทหารเป็นผู้เล่นหลักอยู่ในทุกสนาม เหมาหมดเบ็ดเสร็จทั้งหน้าที่ ดูแลความมั่นคงภายนอกและภายใน ทำทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ยิ่งนับวันกองทัพก็ยิ่งเข้ามาแทรกแซงการเมือง มีลักษณะเป็นรัฐซ่อนรัฐอย่างเต็มรูปแบบ หลังจบสงครามกับคอมมิวนิสต์ องค์การนี้แทบไม่เหลือภารกิจที่จำเป็นอีกเลย แต่ กอ.รมน.ก็ยังดำรงอยู่ได้ เพราะกองทัพใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมและประชาชน
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า หลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง มีการเพิ่มบทบาทอำนาจให้กับกอ.รมน.อย่างยิ่งใหญ่ โดยในปี 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใน กอ.รมน. มี พ.ร.บ.ภัยความมั่นคง ปี 2551 ทำให้โครงสร้างมีความผิดปกติออกไป คือ เกิดการทับซ้อนของโครงสร้างในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นตำแหน่ง ผอ.รมน. นำ ผบ.ทบ. นั่งเป็นเลขาฯ กอ.รมน. และแม่ทัพภาค เป็น ผอ.รมน.ภาค อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการยกระดับ กอ.รมน. ในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด แม้ยังมีตำรวจ หรือพลเรือนปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย เพื่ออ้างความชอบธรรมว่ามีการบูรณาการแล้ว
“ทราบว่าตำรวจมีความอึดอัดอย่างมากที่ตัวเองจะต้องมานั่งอยู่ปลายแถวในโครงสร้าง กอ.รมน.ในระดับภาคและจังหวัด โดยมีการพยายามจะนำตัวเองออกจากโครงสร้างดังกล่าว แต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจที่ล้นเหลือ และการตีความภัยความมั่นคง ถูกขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมทุกเรื่องที่ไม่ใช่กิจของทหาร นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้ กอ.รมน. ในการสอดส่องควบคุมในการติดตามและคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ทั้งนี้ กอ.รมน.ไม่ได้มีเพียงงบประมาณส่วนตัว หรือกำลังพลส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะไปใช้งบประมาณทุกกระทรวง ทบวง กรมได้”
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ โครงสร้างแบบรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวกับเราตลอดไป ถ้าไม่มีการแก้ไขงบประมาณของ กอ.รมน. ปีละเกือบหมื่นล้าน ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ อาจจะมีข้าราชการของตัวเองจริงๆ ประมาณ 1.2 พันคน แต่มีอำนาจสั่งการเรียกข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ เข้ามาช่วยงานได้อย่างไม่จำกัด มีบัญชีผีเต็มไปหมด ฉะนั้น งานของ กอ.รมน. คืองานสร้างอารมณ์ ความรู้สึก และสร้างความเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังให้กับประชน ให้มองเห็นว่ามีศัตรูอยู่ในประเทศ และให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมาต่อต้าน ปกป้อง สร้างความขัดแย้งกันเอง ให้ประชาชนหลอนกันเอง ทั้งหมด ก็เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพไว้ในยุคที่แทบจะไม่เหลือภารกิจอีกแล้ว
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า การยืนอยู่บนวิธีคิดแบบทหารที่ผิดยุคผิดสมัยไม่เข้าใจประชาธิปไตย ทำให้เกิดขบวนการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาขับไล่ทรราชประยุทธ์ และเกิดข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันเบ่งบานเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ปี 2563 นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ออกมารับฟัง แต่กลับทำสิ่งตรงข้ามคือการใช้ความรุนแรงตลอดเวลา ใช้ศาลทหาร คุกตะรางและกฎหมายความมั่นคงทุกฉบับมาจัดการกับเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ที่ออกมาตั้งคำถาม ควบคุม คุกคาม และปราบปรามด้วยกระสุนยาง ไม้กระบองและแก๊สน้ำตา แม้กระทั่งช่วงประชุมเอเปกที่ผ่านมา คดีความมาตรา 112 และมาตรา 116 รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือที่ลุแก่อำนาจและไม่แคร์สายตาชาวโลก พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้นำที่ทำให้ประเทศที่รักของเรากลายเป็นรัฐที่อ่อนแอ เปราะบาง อ่อนไหว ชนิดที่ยืนแล้วแทบล้ม ถึงกระนั้นก็พยายามที่จะอยู่ต่อเพื่อจะถ่วงความเจริญ จึงขอเสนอไปยังรัฐบาลว่าการดำเนินนโยบายความมั่นคงแบบเดิมๆ ที่ใช้ กอ.รมน.ไปแก้ปัญหาทุกเรื่องด้วยวิธีคิดแบบทหารจะต้องยุติลงได้แล้ว รัฐบาลที่เหมาะกับโลกยุคใหม่ต้องหยุดหมกมุ่นเรื่องหาศัตรูภายในชาติ ต้องเรียนรู้ศึกษาโลกยุคใหม่ ข้อเสนอของพรรค ก.ก.คือต้องมีการดำเนินนโยบายความมั่นคงที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เอาทหารออกจากธุรกิจไปดูแลความมั่นคงจากภัยภายนอก เรื่องภายในต้องเป็นเรื่องของพลเรือนเท่านั้น หากมีปัญหาขัดแย้งต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมืองเท่านั้น ต้องบริหารแผ่นดินด้วยการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพราะความมั่นคงของประชาชนคือความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของทรราช
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคุณจับคนไปขังได้ คุณฆ่าคนได้ เพียงเพราะคิดว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง พรรค ก.ก.ขอเสนอทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ยุบกอ.รมน.ทิ้งโดยทำคู่ไปกับการปฏิรูปกองทัพเพราะองค์กรนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 2.ปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แม้เป็นองค์กรพลเรือน แต่คนที่มานั่งเลขากลับเป็นพลทหารแก่ๆ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง 3.แก้ไขกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับคือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายความมั่นคงมาตรา 116 และมาตรา 112 รวมถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องถูกออกแบบและแก้ไขในหลักการ เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้อย่างถูกเหวี่ยงแห และให้สัตยาบรรณศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อคุ้มครองประชาชน ซึ่งจะไม่กระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
เมื่อนางอมรัตน์ อภิปรายถึงช่วงนี้ ทำให้นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะลุกขึ้นประท้วงว่า “ท่านสมาชิกท่านนี้พูดเร็วมาก ฟังได้ศัพท์บ้างไม่ได้ศัพท์บ้าง และห้ามพูดใส่ร้ายป้ายสี ที่ท่านผู้หญิงคนนี้พูดว่าจู่ๆ ท่านนายกฯ เอารถถังมายึดอำนาจ ที่ผ่านมาในปี 57 ไม่มีรถถังสักคัน จึงขอให้ถอนคำพูด เพราะพูดเช่นนี้ถือว่าดูถูกท่านนายกฯ ที่ท่านออกมายึดอำนาจก็เพราะคนไทยแตกแยก ที่พูดว่ามีการสลายการชุมนุมช่วงเอเปก ผมคิดว่าท่านพวกนี้แหละครับที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม”
จากนั้นนายศุภชัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น พยายามอธิบายว่า ตนขอวินิจฉัยว่าประเด็นที่นายสายัณห์ประท้วงมานั้นเห็นว่ายังไม่ผิดข้อบังคับ
จากนั้นนางอมรัตน์ได้อภิปรายต่อในช่วงท้ายว่า นโยบายที่ได้กล่าวมาเชื่อว่ารัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำจะไม่สามารถทำได้ เพราะหากทำได้ก็คงทำไปนานแล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันภัยเงียบที่เกิดขึ้นผ่านการแทรกซึมของกลไก กอ.รมน. และทราบว่ามันเลวร้ายแค่ไหน รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหา ขอให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ร่วมกันทวงคืนประเทศที่รักของเราออกจากเนื้อมือของกองทัพ เพื่อให้ประเทศของเรามีการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต และส่งต่อประเทศไทยที่รักของเรา ส่งต่อความอบอุ่นไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วิสุทธิ์' แจงกัดยับ 'วิโรจน์' อ้างยอมกลืนเลือดลงมติตัดงบฯ จนน้ำท่วมภาคเหนือ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวิวาทะกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ
รู้แล้วบอกต่อ 'ทักษิณ' อ้างเหตุนี้ ทำเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งก้าวไกล
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ซึ่งเป็นงานแรกที่นายทักษิณขึ้นพูดหลังจากเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ
'อ.เจษฎา' เผยจุดยืน เคยเลือก 'ก้าวไกล' แต่เคยโดน 'ด้อมส้ม' ทัวร์ลงเวลาพูดว่าเป็นรอยัลลิสต์ด้วย
ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
เอาแล้ว!สนธิญาร้อง บช.น.สอบ 'แอ๊ด คาราบาว-วอเนอร์มิวสิค'
'สนธิญา' ร้อง บช.น. ตรวจสอบแอ๊ดคาราบาว-วอเนอร์ มิวสิคฯ วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เข้าข่ายผิด ม.112 -พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่
ข้องใจพรรคก้าวไกล-ประชาชน ไม่โพสต์ถวายพระพรฯ จี้ให้ชี้แจง พรรคที่ไม่จงรักภักดี
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112
แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค.