'ฝ่ายค้าน' รุมจวกรัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อ้างเหตุอุปกรณ์ไม่พร้อม จี้นำเข้าสู่วาระการประชุมสภาโดยเร็ว เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิดพร้อมส่งศาล รธน. ตีความ
22ก.พ.2566 - ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ร่วมแถลงข่าวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 4 มาตรา ออกไปถึงวันที่ 1 ต.ค. จากเดิมที่จะประกาศใช้ในวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ผ่านความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายผ่านระบบรัฐสภาแปลว่ากระบวนการตรากฎหมายมีความรอบคอบในทุกเรื่อง และเห็นความจำเป็นในการกำหนดวันบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือวันที่ 22 ก.พ. และกำหนดให้มี 120 วันหรือ 4 เดือนในการเตรียมพร้อมบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ ครม.ได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ออก พ.ร.ก.ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาโดยเลื่อนวันบังคับใช้ไปเกือบ 9 เดือน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การตรา พ.ร.ก.นั้น รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องมีเหตุ คือ เรื่องภัยพิบัติต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ หรือการป้องกันภัยพิบัติครม.ต้องเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นเร่งด่วน จึงจะประกาศเป็น พ.ร.ก.ได้ แต่การที่ ครม.อ้างความไม่พร้อมของหน่วยปฏิบัติและอุปกรณ์ มาเป็นเรื่องเร่งด่วน ความจำเป็นถือว่าไม่เป็นเหตุผลและไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อดังกล่าว การออกพ.ร.ก.เช่นนี้ จึงไม่น่าชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า ระหว่างนี้ยังอยู่ในสมัยประชุมสภาฯ อยู่ การออกพ.ร.ก.จึงต้องนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ โดยไม่ชักช้า คือการเปิดประชุมสัปดาห์ต่อไป หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก. มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ
“จึงขอเรียกร้องให้ ครม. นำ พ.ร.ก.นี้เข้าสู่วาระการประชุมสภาโดยเร็ว แม้จะเหลือเวลาของวาระสภาอยู่น้อย แต่ก็ยังกำหนดวันพิจารณาได้ทันทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา จะนัดประชุมเพิ่มในวันหยุดวันที่ 17-18 ก.พ. ก็ยังได้ ครม.มาเกรงพวกเราว่าจะประชุมไม่ทันได้อย่างไร หน้าที่เราคือหน้าที่เรา หน้าที่ท่านคือแค่ส่ง พ.ร.ก.มาเท่านั้น จึงสังเกตได้ว่าเหตุผลที่ท่านไม่ส่งมา จะมีอะไรลึกลับซ่อนเงื่อนหรือไม่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อให้สนับสนุนรักชอบรัฐบาลขนาดไหน ก็ไม่กล้าฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และมั่นใจว่ารัฐสภาจะไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้" นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า ตลอด 120 วันที่ผ่านมารัฐบาลไม่เตรียมการอะไรเลย และเมื่อวันที่ 14 ก.พ. วันวาเลนไทน์ รัฐบาลก็มอบของขวัญให้ประชาชนคือเลื่อนการประกาศใช้บางมาตราไปจนถึง 1 ตุลาคม ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตราที่สำคัญทั้งสิ้น เพราะเกี่ยวกับการบันทึกภาพเสียงระหว่างควบคุมตัว ทั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้ ครม.ส่งพ.ร.ก.มายังที่ประชุมสภาฯ โดยเร็ว คือภายในสัปดาห์นี้ ให้ทัน 27-28 ก.พ. ก็ได้ และถ้าเรียกประชุมไม่ทันในสมัยประชุมนี้ ก็สามารถขอให้สภาฯ เปิดประชุมวิสามัญ ก่อน 23 มี.ค. ที่จะหมดวาระสภาฯ ได้
นอกจากนี้ ถ้า ครม.ไม่แสดงความตั้งใจที่จะส่ง พ.ร.ก.มายังสภาฯ ภายในวันศุกร์นี้ ตนจะใช้สิทธิของประชาชนยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอน ครม. จากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากมีความจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้สิทธิของ ส.ส.อภิปรายในที่ประชุมสภาฯ ถึงความถูกต้องเหมาะสมของพ.ร.ก.นี้ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร รวมถึงได้รวบรวมรายชื่อ 1 ใน 5 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วิรุตม์' ชี้ '7ตำรวจตีนโหด' ถ้า ผบช.น.-ผบ.ตร.ไม่สั่งแจ้งข้อหา 'กฎหมายอุ้มหาย' ผิดอาญาด้วย
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กรณี 7 ตำรวจนครบาล รุมกระทืบประชาชนผู้ถูกจับและควบคุมตัวปางตาย ไม่ใช่แค่ผิดวินัยหรืออาญาข้อหาทำร้ายตามกฎหมายอาญา
'สมชัย' บอกรู้ทันแจกเงินหมื่นชี้หมิ่นเหม่ตกเขียวเลือกตั้ง อบจ.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
'สมชัย' วิเคราะห์ 5 ประเด็น MOU44ควรเดินหน้าต่อหรือไม่
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
'สมชัย' ข้องใจนายกฯ จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จริงหรือหลังแถลงปม MOU 2544
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
สมชัย แนะ 5 ทางออก อย่ากลัวหาก ‘สว.’ จะแก้ กม.ประชามติ จากร่างเดิม ‘สส.’
ประเด็นที่หวาดหวั่นกันคือ การแก้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น (double majority) สำหรับการทำประชามติเรื่องสำคัญ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ว่า ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่ง และชั้นที่สอง มติที่ชนะก็ต้องเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
'สมชัย' ฟันเปรี้ยง 4 เหตุผลทำเพื่อไทยถอยเรื่องแก้จริยธรรม!
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)