‘ชัยธวัช-ไอติม’ ประสานเสียงแก้ รธน.ฉบับใหม่ ต้องยึด ปชช. หาฉันทามติร่วมกัน

‘ชัยธวัช’ ย้ำ ร่างรธน.ฉบับใหม่ต้องยึดโยงปชช.-ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ชี้ ควรรวมโจทย์ทุกฝ่าย หาฉันทามติร่วมกัน ‘ไอติม’ ตั้งโจทย์ใหญ่แก้ไข รธน. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน คิดใหม่คุณสมบัตินายกฯ-ครม. ควรเป็น สส. หรือไม่

10 ธ.ค.2566-ที่ลานประชาชน รัฐสภา ในการเสวนา ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไร’ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวช่วงหนึ่งในการเสวนาว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีสองส่วนสำคัญ ประการแรก ต้องยึดโยงกับหลักอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชนให้มั่น กระบวนการทำประชามติที่มาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องยึดโยงกับหลักการนี้ พรรคก้าวไกล ต้องการให้ทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง การทำประชามติครั้งแรกสำคัญ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอต่างๆ จากพรรคการเมืองก็ถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชน เมื่อ สสร. ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ควรทำประชามติอีกรอบ แม้จะเสียทั้งเงิน และเวลา แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ

ประการที่สอง ทั้งกระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรตอบโจทย์สภาพการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะเราต้องยอมรับว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะหาฉันทามติร่วมกันได้ ดังนั้น การที่เราจะเห็นตรงกันเราอยู่กันได้อย่างมีความแตกต่างอยู่ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงตั้งแต่การออกแบบกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายชัยธวัช กล่าวว่า เราควรออกแบบกระบวนการให้ตอบโจทย์ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างฉันทามติในสังคม ฉันทามติในทางการเมืองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งเสริมสร้างให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกฉีกในปี 2549 ในเวลาไม่ถึง 10 ปี โจทย์เก่าที่คิดว่ามีคำตอบแล้วกลับยังไม่มีคำตอบ และเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปีนั้น ก็ยิ่งเพิ่มโจทย์ใหม่ๆ มา หากจะสร้างฉันทามติครั้งใหม่ ก็นำโจทย์จากแต่ฝ่ายเป็นตัวตั้ง เพื่อออกแบบร่วมกัน

นายชัยธวัช กล่าวว่า โจทย์แรก ต้องยอมรับว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แม้แต่ฝ่ายที่ยอมให้เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะได้คำตอบแล้วว่า ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่มีทางลัด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดรัฐประหาร และต้องคำนึงถึงการลบล้างความผิดในการรัฐประหารในอดีตด้วย

โจทย์ที่สอง ต้องออกแบบให้มีการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ ในระบบรัฐสภาของพรรคการเมือง  โจทย์ที่สาม ในปี 2540 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และคิดว่ากลไกในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจจะสามารถถ่วงดุลได้ ปรากฏว่ากลไกที่ออกแบบ เพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นองค์กรที่ฉ้อฉลในการใช้อำนาจเสียเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีกลไกมาตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ แต่คนที่มาตรวจสอบคนอื่น จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร และมีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนได้บ้าง

“โจทย์สุดท้าย เราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่อย่างไร นี่เป็นโจทย์ทั้งหมดที่เราควรคิด เพื่อใช้โอกาสนี้ในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทย”

ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวในการเสวนาถึงการเปิดพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่ลานประชาชน ของรัฐสภาครั้งแรก ว่า ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เรามีการใช้ลานประชาชน ของรัฐสภาฯ หวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนทุกความคิดทุกกลุ่ม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐสภาได้มากขึ้น

นายพริษฐ์ กล่าวถึงความเห็นจากหลายพรรคการเมือง ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่า หากจะพูดว่ารัฐธรรมนูญมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราต้องวิเคราะห์จากคำวิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อเสนอที่แบ่งได้เป็น 2 หมวดหมู่ คือ 1.ข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือข้อเสนอเกี่ยวกับที่มาของกระบวนการ ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่า ขาดความชอบธรรม เนื่องจากถูกเขียนโดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งมีข้อครหาว่าถูกเขียนขึ้นมาโดยมีเจตนาสืบทอดอำนาจของบางฝ่ายทางการเมือง และแม้จะมีการผ่านประชามติแล้วในปี 59 ยังถูกมองว่าไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตยและสากล รวมถึงผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้านหลายคนก็ถูกจับ และถูกดำเนินคดีแล้ว จึงนำมาสู่คำถามพ่วงของรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากแต่งตั้ง ในการเลือกนายกฯ นั้น เป็นคำถามพ่วงที่เขียนในลักษณะที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะซับซ้อน และชี้นำโดยเจตนา

2.ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา หากยังมีหลายมาตราที่อาจจะมีความถดถอยทางประชาธิปไตย ทั้งการถูกเปรียบเทียบกับฉบับก่อนๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล ท้ายที่สุดแล้ว ที่มาและกระบวนการจะเป็นเช่นไรจะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะเป็นเช่นไรเหมือนกัน และที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นอย่างไรก็จะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อเนื้อหาว่าจะสะท้อนถึงอะไร

“ถ้า สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม มันมีตัวแทนในสสร. ได้เราจะมีเนื้อหาที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มในสังคม แต่ถ้าเรามี สสร. ที่มาจากการแต่งตั้ง มิหน้ำซ้ำอาจจะถูกควบคุมจากฝ่ายใดฝ่ายนึง หรือแทรกแซงได้ เราก็อาจจะมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียน ให้ประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายนึงได้เปรียบและทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ”

นายพริษฐ์ กล่าวในมุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ว่า จากข้อมูลยังมีสองด้านที่เรายังได้น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยจากดัชนีประชาธิปไตย ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประชาธิปไตยบกพร่อง คือ 1.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 2.ความตอบสนองของสถาบันทางการเมือง ต่อความต้องการของประชาชน ทำให้เราต้องโจทย์สำคัญ 2 ข้อ ในการออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือ 1.เราจะทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุม และได้มาตรฐานสากลมากขึ้นได้อย่างไร 2.1 อำนาจและที่มาของวุฒิสภา 2.2 คณะรัฐมนตรีหรือคุณสมบัตินายกฯ ที่จะต้องคุยกันว่าควรจะเป็นสส.หรือไม่ 2.3 กระบวนการที่ได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ 2.4การกระจายอำนาจ

นายพริษฐ์ ยังตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในครั้งแรกว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หากพูดด้วยหมวก สส.ของพรรคก้าวไกล ตนของย้ำในข้อเสนอที่ให้แยกเป็นหนึ่งคำถามหลัก และสองคำถามรอง ในส่วนของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนส่วนตัวว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงไปตรงมา เพราะเรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมายกร่างกฏหมายระดับพระราชบัญญัติ แล้วทำไมกฏหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญถึงไม่มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เผยบรรจุแล้วทั้ง 17 ฉบับ ไม่ขัดกม.-คำวินิจฉัยศาล เหตุแก้รายมาตรา ไม่ต้องทำประชามติ ยกเว้นเสนอใหม่

'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ