"โฆษก-เลขาสภาฯ" กางข้อกฎหมาย หลังฝ่ายค้านส่งข้อโต้ข้อบกพร่องญัตติซักฟอก กร้าวหากไม่แก้ไขก็ไม่บรรจุวาระ จ่อทำหนังสือชี้แจงเป็นทางการอีกครั้ง ด้าน “มุข” แนะแก้ญัตติ แม้ไม่มีชื่อ สังคมก็รู้ว่าใคร เผย “ประธานสภาฯ” หวั่นเกิดเหตุวุ่นวาย ฝากเอาเรื่องที่เป็นสาระต่อปชช. ขณะที่ “อารีเพ็ญ” ป้อง “วันนอร์” ไม่เคยรับคำขอใคร
11 มีนาคม 2568 - เมื่อเวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีหนังสือโต้แย้งของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยให้แก้ไขข้อบกพร่องในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า กรณีที่ฝ่ายค้านแย้งในอำนาจของประธานสภาฯ ว่ามาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีฯ ไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องอำนาจ ความผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภาฯ ให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มาตรา 128 วรรค 1 บัญญัติให้อำนาจ สส.ในการตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งรวมถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจด้วย
นายคัมภีร์ กล่าวต่อว่า โดยมีการกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายดังกล่าวไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2526 หมวด 9 เรื่องการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยเฉพาะข้อ 175 วรรค 1 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้แก่ประธานสภาฯ ไว้ชัดเจนในการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาฯ แจ้งผู้เสนอญัตติทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้ญัตติ เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง โดยข้อบังคับไม่ได้มีการกำหนดนิยามคำว่าข้อบกพร่องไว้อย่างชัดเจนว่าหมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาด เช่น มีลายชื่อผู้เสนอไม่ครบ ตามเกณฑ์กำหนด หรือลายมือชื่อผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกับลายมือชื่อจริง เป็นต้น จึงเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ที่จะใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัย หากมีการแก้ไขญัตติถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ประธานสภาฯ จึงจะสั่งเข้าบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ
นายคัมภีร์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 178 และข้อ 69 แล้วจะเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจห้ามผู้อภิปรายออกชื่อบุคคลใดโดยไม่จำเป็น และการอภิปรายที่อาจทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสส.ได้รับความเสียหายถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม สส.ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ประธานสภาฯ ต้องการให้การประชุมและการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชน จึงเห็นว่าหากปล่อยให้ชื่อบุคคลภายนอกอยู่ในญัตติต่อไปจะเกิดความเสียหายและความไม่เรียบร้อยในที่ประชุมจนยากจะแก้ไข เนื่องจากอาจจะเกิดการประท้วงไปมาหรือประท้วงประธานสภาฯ ว่าทำผิดข้อบังคับด้วย ไม่ควบคุมรักษาความสงบในที่ประชุม ซึ่งท่านจะต้องรับผิดชอบด้วยจึงต้องใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยข้อบกพร่องของญัตติดังกล่าว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในญัตติพบว่ามีสส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 รายที่ลายมือชื่อไม่ตรงกับที่เคยให้ไว้กับสภาฯ จึงให้ไปแก้ไข ซึ่งมีการแก้ไขกลับมาวันที่ 28 ก.พ. แต่เดือนก.พ.มีแค่ 28 วันเท่านั้น และเมื่อมีการนำเสนอเรื่องต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องไปถึงประธานสภาฯ ตามขั้นตอน จึงพบว่าญัตติมีการกำหนดชื่อบุคคลภายนอกไว้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ ดังนั้น นายพิเชษฐ์จึงเสนอต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกรอบเวลาการที่นายณัฐพงษ์ระบุว่าเกินกำหนดวันที่ 28 ก.พ.
ด้าน ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่า ในทางปฏิบัติสำนักการประชุมได้ชี้แจงมาว่าการยื่นญัตติของฝ่ายค้านนับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 6 มี.ค.พอดี โดยญัตติสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมระบุว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งด้วยหนังสือ แต่ประธานสภาฯ ให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้านจึงขอนำเรียนให้นายณัฐพงษ์แก้ไขก่อน ถ้าไม่แก้ไขก็จะให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำหนังสือส่งไป เผื่อนายณัฐพงษ์จะเปลี่ยนใจแก้ไข
เมื่อถามว่า นับตั้งแต่วันที่ประธานสภาฯ เรียกเข้าไปพบใช่หรือไม่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า ใช่ ประธานสภาฯ แจ้งด้วยวาจาและมีการเชิญผู้นำฝ่ายค้านฯ มาพบที่ห้องเพื่อนำเรียนนายณัฐพงษ์
ถามย้ำว่า ตามระเบียบหากไม่แก้ไขญัตติ จะไม่สามารถบรรจุวาระได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของประธานสภาฯ ว่าบรรทัดฐานที่ท่านทำมา ไม่ใช่ท่านเพิ่งคิดในครั้งนี้ แต่ท่านได้ให้สำนักการประชุมตรวจสอบดูในอดีต ซึ่งการกล่าวถึงบุคคลภายนอกนั้นไม่มี แต่ใช้คำว่าบุคคลในครอบครัว อดีตสมาชิกฯ จะไม่ระบุชื่อโดยตรง เฉพาะในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องอยู่ในกรอบนี้ ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ซึ่งญัตติทั่วไปอาจมีการเอ่ยถึงบุคคลภายนอกได้ ประธานสภาฯ ก็ถือเป็นบรรทัดฐานครั้งนี้
“การกล่าวถึงบุคคลภายนอก มีครั้งหนึ่งในสมัยญัตติปี 2529 ที่เป็นการกล่าวถึงบริษัทหนึ่ง แต่ปี 2529 เราต้องรู้ว่าเอกสิทธิ์ความคุ้มกันนั้นมี 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไปพาดพิงบุคคลภายนอกก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญพิจารณามา ถ้าบุคคลภายนอกเสียหายเขาสามารถฟ้องร้องได้ในส่วนนั้น ส่วนประเด็นที่บอกว่าเมื่อมีการอภิปรายแล้วพาดพิงบุคคลภายนอก เขาสามารถมายื่นคำชี้แจงได้ อันนั้นแยกส่วนต่างหาก แต่เรื่องนี้อยู่ในส่วนของการระบุชื่อในญัตติ และญัตติก็มีชื่อเผยแพร่เป็นบุคคลภายนอกแล้ว บุคคลที่มีชื่อในญัตติก็ไม่สามารถชี้แจงในลักษณะที่ไม่ถูกอภิปรายได้ ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน” เลขาธิการสภาฯ กล่าว
ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่าจริงอยู่ที่ผู้เสนอญัตติพร้อมรับผิดชอบในการกล่าวถึงบุคคลภายนอก แต่ว่าในฐานะประธานสภาฯ ท่านก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ถ้าชื่อของบุคคลภายนอกไปปรากฏอยู่ในญัตติ และมีการปรากฏอยู่ในสาธารณชน เพราะเป็นคนใช้อำนาจในการอนุญาตให้บรรจุญัตติ ซึ่งประธานสภาฯ เล็งเห็นในส่วนนี้ซึ่งมีความสำคัญจึงเห็นว่าควรให้ตัดการที่มีบุคคลภายนอกออกไป
ถามย้ำว่า หากไม่แก้ญัตติก็คือไม่บรรจุวาระการประชุม เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า “ครับๆ ตอนนี้ท่านประธานสภาฯ ก็มีดำริให้นโยบายมา ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ภายในวันที่ 11-12 มี.ค. นี้ ผมก็จะทำหนังสือชี้แจงในข้อที่ผู้นำฝ่ายค้านโต้แย้งมา ยืนยันหนังสืออย่างเป็นทางการไปอีกครั้งหนึ่ง”
ขณะที่นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงญัตติการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกคนอยากฟัง ตนจึงคิดว่าฝ่ายค้านน่าจะถอยไปก้าวหนึ่ง ซึ่งเมื่ออภิปรายแม้ไม่มีการระบุชื่อและนามสกุลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็สามารถอภิปรายแล้วทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบุคคลที่กำลังพูดถึงเป็นใคร ฉะนั้น จึงคิดว่าไม่มีข้อแตกต่างในการที่จะระบุชื่อหรือไม่ระบุในญัตติเปิดอภิปรายในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการประชุมเพราะหากไม่มีการอภิปรายฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และประชาชนก็อยากฟัง จึงฝากให้ฝ่ายค้านพิจารณาให้คำนึงถึงสาระสำคัญในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าเอาเรื่องอื่นที่มีความสำคัญน้อยกว่าเป็นประเด็นหลัก
”ประธานสภาฯ จำเป็นต้องคำนึงความสำคัญในการอภิปรายว่าจะทำอย่างไรให้วันนั้นสงบเรียบร้อย อย่าให้มีการประท้วงวุ่นวาย จนกระทั่งอาจจะไม่มีโอกาสที่จะอภิปราย เพราะลักษณะของความวุ่นวายในสภาเคยเกิดขึ้น ที่เคยล็อคคอประธานลงจากบัลลังค์ก็เคยมี ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น และเมื่อไม่อยากประธานก็ต้องคิดว่าควรระงับก่อนเหตุเกิด จึงพยายามมองว่าอะไรที่น่าจะเกิดก็สมควรระงับไว้ก่อน ผมจึงเชื่อว่าความรอบคอบของประธานเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องเข้มงวดในเรื่องนี้“ นายมุข กล่าว
ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวว่า ข่าวที่ระบุว่านายวันมูหะมัดนอร์ ให้ถอนชื่อของบุคคลที่ถูกกล่าวในญัตติของฝ่ายค้านร้องมานั้นเพราะมีบุคคลไปขอ ตนขอยืนยันว่านายวันมูหะมัดนอร์ ตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของท่านเอง ไม่มีใครไปขอ ฉะนั้น ที่มีข่าวนั้นไม่เป็นความจริง ตนอยู่กับท่านมา 40 ปี ยืนยันว่านายวันมูหะมัดนอร์ไม่ใช่ประเภทที่ใครจะขอให้ทำความผิดแล้วจะทำตาม แม้ว่าจะใกล้ชิดหรือไม่ก็ตาม และเดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอนที่มุสลิมถือศีลอด เขาจะไม่พูดปด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประธานสภาประณามเหตุยิงภิกษุ-สามเณรชี้แก้ไฟใต้ยังไม่ตรงจุด!
'วันนอร์’ ประณามเหตุคนร้ายลอบยิงภิกษุ-สามเณรที่สะบ้าย้อย ขอ 'รัฐบาล' เอาตัวคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว มอง ปัญหาไฟใต้ ยังแก้ไม่ตรงจุด เผย ’ภูมิธรรม’ เตรียมลงพื้นที่ประเมินเอง 26-27 เม.ย.นี้
'วันนอร์' พูดชัดโหวตเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เท่ากับบาป!
'วันนอร์' ลั่นตามหลักศาสนา โหวตเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เท่ากับบาป โยน 'ประชาชาติ' แถลงจุดยืน รับเปิดสมัยวิสามัญ 28-30 พ.ค. เอากาสิโนต่อเรื่องงบ 69 ได้ ขึ้นอยู่กับ 'รัฐบาล'
ได้เวลาปรับ 'ทักษิณ' ไปเลี้ยงหลาน หลังกลับประเทศ มีแต่ปัญหาตามมา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ได้เวลาปรับทักษิณไปเลี้ยงหลาน
'ซูการ์โน มะทา' ยัน 'วันนอร์' ไม่เกี่ยวร่างกฎหมายกาสิโน วอนหยุดบิดเบือน
นายซูการ์โน มะทา เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 ออกมาชี้แจงกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มพยา
เทพไท เปรียบ 'ทักษิณ' เสือติดจั่น หมดน้ำยาคุมเกมการเมือง
นายเทพไท เสนพงษ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ระบุว่า ทักษิณ : เสือติดจั่น
'ปชน.' โรยเกลือ 'นายกฯอิ๊งค์' 3 แผลใหญ่ ยื่นฟันหลายข้อหา แต่ไม่ถอดถอน
'วิโรจน์' เปิดแผนยุทธการโรยเกลือ 'นายกฯอิ๊งค์' 3 แผลใหญ่ 'ตั๋ว P/N - โรงแรมหรูเขาใหญ่ --ชั้น 14' ลุยร้อง ป.ป.ช. ฟันหลายข้อหา ยี้มรดกบาปรัฐประหาร ไม่ยื่นถอดถอน