'ลุงตู่' ต้องตอบแล้ว! 'หญิง' ถามเมื่อไหร่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คะ?

คำถามหนึ่งที่หญิงสงสัยมาตลอด คือ ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปีนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยป้องกันอะไรบ้างเหรอคะ? หญิงว่าไม่ใช่หญิงคนเดียวหรอกค่ะที่สงสัย แต่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศก็คงสงสัยไม่ต่างจากหญิง

1 มี.ค.2565- ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามรัฐบาลว่า เมื่อไหร่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คะ?

ทุกท่านทราบไหมคะว่า ณ ปัจจุบันนี้เราคนไทยกำลังใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมาเกือบ 2 ปีแล้ว?
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว วันที่ 25 มีนาคม 2563 ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 และวันที่ 26 มีนาคม 2563 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้

ถ้าถามหญิงว่า เราต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินกันไปอีกนานเท่าไหร่ หญิงคงตอบไม่ได้หรอกค่ะ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเรื่อย ๆ โดยตลอด อย่างน้อยที่สุดการประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบล่าสุด ซึ่งถือเป็นการขยายครั้งที่ 16 ก็บังคับใช้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 แต่หญิงเชื่อเหลือเกินว่า รัฐบาลจะประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกแน่นอน

คำถามหนึ่งที่หญิงสงสัยมาตลอด คือ ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปีนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยป้องกันอะไรบ้างเหรอคะ? หญิงว่าไม่ใช่หญิงคนเดียวหรอกค่ะที่สงสัย แต่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศก็คงสงสัยไม่ต่างจากหญิง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นอิทธิฤทธิ์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็แค่ตอนปราบม็อบเท่านั้น หญิงไม่เคยเห็นเลยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะถูกใช้เพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แถมเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนกระทรวงสาธารณสุขมีแนวความคิดที่จะปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะวิกฤตฉุกเฉินรักษาทุกที่ หรือ UCEP มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบประกันสุขภาพของแต่ละคนแทน กระทั่งถูก ครม. เบรกเอี๊ยด เรื่องนี้ทำให้หญิงสงสัยมากค่ะว่า ภายในรัฐบาลเขาไม่มีการพูดคุยกันให้รู้เรื่องเป็นข้อสรุปก่อนจะออกมาให้ข่าวกับประชาชนจนสร้างความสับสนเหรอ เรื่องนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงไร้ประสิทธิภาพของการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่โควิด-19 ระบาดมา 2 ปีแล้ว และไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นอย่างนี้นะคะ

วันนี้หญิงจะมาเล่าให้ฟังทีละเรื่องว่า ในความคิดเห็นของหญิง การมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ควรจะชั่วคราว แต่กลับอยู่มาเหมือนจะชั่วชีวิตเนี่ย มันมีปัญหาอย่างไร

  1. พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รัฐบาลสะดวก แต่ประชาชนเดือดร้อน
    อย่างที่หญิงกล่าวไปตอนต้นนะคะว่า พี่น้องประชาชนคนไทยต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเกือบ 2 ปีแล้ว และต่ออายุมาแล้วถึง 16 ครั้งแล้ว หลายคนอาจจะบอกว่าการใช้ชีวิตทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลยนี่ แต่หญิงบอกเลยนะคะว่า ‘นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ’ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายพิเศษและสถานการณ์ฉุกเฉินนานขนาดนี้ ยกเว้นประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม

และโดยหลักการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เงื่อนไขสำคัญคือ ‘เป็นการชั่วคราว’ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในตอนนี้ คือการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชั่ว…ชีวิต จริง ๆ ชื่อก็บอกอยู่นะคะว่า ‘ฉุกเฉิน’ และโควิด-19 ก็ระบาดมากว่า 2 ปีแล้ว หญิงคิดว่ามันไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้วค่ะ

นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 เลย นอกจากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากรัฐบาล ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นที่สนับสนุนรัฐบาลสามารถจัดการชุมนุมได้ โดยไม่โดนจับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลยแม้แต่คนเดียว แถม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป และยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้อำนาจเกินขอบเขตจนละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความไม่โปร่งใสได้

หญิงเห็นว่า รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสมในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหานี้แม้แต่น้อย

  1. ปรับโควิด-19 ออกจากสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉิน ถ้ายังจำกันได้มีข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเคยจะเตรียมปลดโควิด-19 ออกจากสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉิน หรือ UCEP ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ติดโควิด-19 จำเป็นต้องไปรักษาตัวกับโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีเท่านั้นถึงจะรักษาฟรี ไม่เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ประชาชนจะไปรักษากับโรงพยาบาลไหนก็ได้ จะโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ก็รักษาฟรีหมด ตอนที่ได้ยินข่าวนี้หญิงก็งงอยู่นะคะว่า ขณะที่รัฐบาลยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมโควิด-19 แต่กลับปลดโควิด-19 ออกจากอาการป่วยฉุกเฉิน ก็ตลกดีค่ะ

แต่ภายหลัง ครม.ก็ออกมาเบรคกระทรวงสาธารณสุขแล้วนะคะ สั่งให้กระทรวงฯ ไปทบทวนมาตรการนี้เสียใหม่ ซึ่งก็ทำให้ประชาชนยังคงรักษาฟรีที่โรงพยาบาลใดก็ได้อยู่ หญิงเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะคะ ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่จำกัดโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเตียงทั้งของรัฐและเอกชนได้อย่างเท่าเทียมกัน

หญิงแค่สงสัยค่ะว่า ภายในรัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันก่อนที่จะประกาศออกมาเหรอ พูดภาษาชาวบ้าน คือ ‘ไม่มีไลน์กลุ่มไว้คุยกันเหรอคะ’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการสื่อสารของรัฐบาล จนทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความสับสน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกค่ะ

  1. การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
    โควิด-19 ระบาดมานานกว่า 2 ปีแล้วนะคะ ระบาดมาก็หลายระลอกแล้ว แต่การจัดการของรัฐบาลในทุกวันนี้ก็ยังดูสับสนและไม่ชัดเจนเลยสักอย่าง ไม่ว่าจะการสื่อสารภายในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเอง การสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐ หรือการสื่อสารกับประชาชนก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหา ซึ่งสร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก

โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังพบว่า มีหลายคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า คุณแม่คนหนึ่งต้องมายืนโบกผ้าอ้อมที่ริมระเบียงคอนโดเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากลูกสาวอายุ 1 ขวบเศษ ติดโควิดแต่ไม่สามารถหาเตียงรักษาได้ กระทั่งลูกสาวมีอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออีกเหตุการณ์นึงที่ รปภ. ท่านหนึ่งที่ติดโควิดแต่ไม่สามารถหาที่รักษาได้ จนต้องออกมานอนอยู่หน้าธนาคาร เพราะตนเองอาศัยอยู่ที่ห้องเช่า กลัวภรรยาและลูก รวมไปถึงเพื่อนบ้านที่ต้องใช้ห้องน้ำรวมร่วมกันจะติดโควิดไปด้วย

ภาพเหล่านี้วนกลับมาอีกครั้งเหมือนฉายหนังซ้ำ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ภาครัฐไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดเมื่อปีที่แล้วเลย ยังคงปล่อยให้มีพี่น้องประชาชนต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ๆ และไม่มีใครควรจะต้องพบเจอกับเรื่องแบบนี้อีก

แม้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเรามานานแล้วนะคะ แต่การบริหารจัดการของรัฐบาลก็ยังดูงง ๆ อนาคตของประเทศและประชาชนก็ยังดูมืดมน เศรษฐกิจก็ยังดูไม่มีความหวัง ถ้าโควิด-19 เพิ่งจะระบาดก็ยังอาจจะพอเข้าใจได้ แต่นี่ระบาดมากว่า 2 ปีแล้วนะคะ ย้ำว่า 2 ปีแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด จากสถานการณ์และการบริหารจัดการโรคระบาดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเลย

รัฐบาลไม่สามารถรักษาชีวิตของประชาชนเอาไว้ มิหนำซ้ำยังใช้ข้ออ้างเรื่องโควิด-19 มาเป็นเครื่องมือทางเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเองไว้ หญิงว่าถ้ารัฐบาลไม่สามารถจะบริหารจัดการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็นได้ ก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อให้คนอื่นมาบริหารประเทศแทนดีกว่าค่ะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยันไม่เคยมีพูดคุยเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ระบุให้มาถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า

'เศรษฐา' เตรียมต้อนรับนายกฯบังกลาเทศ เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล 24-29 เม.ย.นี้

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 24 - 29 เมษายน 2567