สำนักงานประกันสังคม โดยกองทุนเงินทดแทนคุ้มครองลูกจ้างเนื่องจากการทำงาน

เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนทันทีนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง การเจ็บป่วยหรือการประสบกับอันตรายในระหว่างการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ลูกจ้างควรจะรับรู้สิทธิประโยชน์ของตนเอง วันนี้ประกันสังคม โดยกองทุนเงินทดแทนจึงมาชี้แจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ มีดังนี้

ค่ารักษาพยาบาล จ่ายได้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้

1.กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

2.กรณีที่ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วน และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท

- ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม

- ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย

3.กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีกตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ โดยรวมค่ารักษาพยาบาลทั้งข้อ 1 และ 2 แล้วต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 2 ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป

- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 2 ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ 25 วันขึ้นไป

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตัวในสถานพยาบาลตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน

- การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นตามข้อ 2 ซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

4.กรณีค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1 - 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

5.กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

6.ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท

ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้

- จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน

- ลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วัน รวมกันไม่เกิน 1 ปี

- มีใบรับรองแพทย์ระบุหยุดพักรักษาตัว

- ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์

- ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดในปัจจุบัน = 20,000 x 70 % = 14,000 บาท

ค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย

- มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

- การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาและอวัยวะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ

- กรณีที่ลูกจ้างได้รับการประเมินเป็นผู้ทุพพลภาพให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนตลอดชีวิต มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยการประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

ทั้งนี้ กรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการเป็นผู้ทุพพลภาพได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

ค่าทดแทนกรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน

สูญหาย

กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่

  1. มารดา
  2. บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  5. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
  6. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
  7. บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด
  8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตราดังนี้

- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท

- ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท

- ลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ปัจจุบันมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่เปิดบริการแล้ว จำนวน 5 แห่ง คือ

  1. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 (จังหวัดปทุมธานี)
  2. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 (จังหวัดระยอง)
  3. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 (จังหวัดเชียงใหม่)
  4. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 (จังหวัดขอนแก่น)
  5. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 (จังหวัดสงขลา)

ค่าทำศพ

ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจ่ายให้ผู้จัดการศพ โดยปัจจุบัน กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 สามารถจ่ายค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท

และทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหากมีข้อสงสัยสามารถตรสจสอบ หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่

www.sso.go.th

Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Instagram: sso_1506

Twitter: @sso1506

YouTube : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

LINE : @SSOTHAI

TikTok : @SSONEWS1506

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รู้ยัง! ผู้ประกันตนมาตรา 33-39-40 ส่งเงินสมทบประกันสังคม นำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพกรเปิดให้ผู้มีรายได้ยื่นแบบแสดง

รมว. "พิพัฒน์" ดูแลแรงงานอิสระ รับจ้าง เกษตรกร กว่า 1.8 แสนคน จ.พัทลุง สร้างหลักประกัน ม.40 ประกันสังคม เจ็บป่วยนอนพัก ได้เงินทดแทนขาดรายได้

รมว. "พิพัฒน์" ลงพื้นที่ จ.พัทลุง พบเครือข่ายผู้ประกันตน ชูมาตรา 40 สร้างหลักประกันให้แรงงานนอกระบบ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

"บุญสงค์" เลขาธิการ สปส. ห่วงใย ผู้ประกันตน เสียชีวิตเหตุพลุระเบิด สุพรรณบุรี มอบ ผู้ตรวจราชการกรม ตรวจสอบข้อมูลเร่งจ่ายสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 15.30 น. เกิดเหตุพลุระเบิด ที่บ้านข่อยงาม ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี