วิถี ‘คนคลองร้อยสาย’ ตำบลบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี และการปรับตัวฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของตลาดน้ำชุมชน

คลองบางใบไม้ อ.เมือง  จ.สุราษฎร์ธานี (ภาพจากเฟสบุ๊คส์ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้)

พิษเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  และอีกหลายสาเหตุ  ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมย่าน   ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน  เช่น  ที่ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้  อ.เมือง  จ.สุราษฎร์ธานี  ในยุคก่อนโควิดจะมาเยี่ยมเยือน  ตลาดน้ำและวิถีชีวิตของ ‘คนคลองร้อยสาย’ ดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อของกินของฝากกันอย่างคึกคัก  ทำให้เศรษฐกิจในตำบลหมุนเวียน  บางสัปดาห์มีเงินไหลเข้าสู่ชุมชนประมาณ 1 ล้านบาท 

แต่ปัจจุบันยอดขายลดลง  เพราะนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติหดหาย  ทำให้ตลาดน้ำบางใบไม้ต้องปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ !!

วิถีชีวิตคนคลองร้อยสาย”  จากปากของ นักเล่าเรื่องชุมชน

ก่อนปี 2535 ยังไม่มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี  คนบางใบไม้และตำบลใกล้เคียงต้องใช้เรือกันทั้งนั้น  มีทั้งเรือแจว  เรือพาย  เรือติดเครื่องยนต์  หรือเรือหางยาว  วิ่งแล่นไปมาในคลอง  ตอนเช้าๆ เด็กโตก็จะนั่งเรือไปเรียนในเมืองสุราษฎร์ฯ  ส่วนเด็กเล็กจะเรียนชั้นประถมในตำบล  เด็กที่นี่พายเรือและว่ายน้ำเป็นกันทั้งนั้น  เพราะในตำบลมีแต่คลอง  เชื่อมโยงไปมาถึงกันหมด  คนแถบนี้จึงเรียกที่นี่ว่า ‘คลองร้อยสาย’  พอมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปีแล้ว  การใช้เรือจึงลดน้อยลง  เพราะรถยนต์สะดวกกว่า  แต่การใช้เรือก็ยังมีอยู่

พยนตร์ ศรีคิรินทร์’  หรือ ลุงไก่’  อายุ 61 ปี  เจ้าของเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติในคลองบางใบไม้  รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็น นักเล่าเรื่องชุมชน’  เปิดปากบอกถึงวิถีชีวิตคนตำบลบางใบไม้

ลุงไก่ ‘นักเล่าเรื่องชุมชน’ ดีกรีจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเอเซีย  กรุงเทพฯ   เคยทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ที่เยอรมันนี  แต่กลับมามีความสุขกับชีวิตแบบเรียบง่ายที่บางใบไม้

ตำบลบางใบไม้  ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีประมาณ  2 กิโลเมตร  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร  มี 5 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  3,000 คน  สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม  มีลำคลองหลายสายไหลผ่าน  และเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปีทางตอนใต้ของตำบลก่อนจะไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวบ้านดอน  อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 

ลำคลองในตำบลบางใบไม้ (รวมทั้งตำบลใกล้เคียง) จึงมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม   เหมาะที่จะปลูกมะพร้าว  ผลมะพร้าวของที่นี่จะมีเนื้อหนา  เมื่อเอามาคั้นจะได้น้ำกะทิที่เข้มข้น  รสชาติหวานมัน  มีกลิ่นหอม  เอาไปทำกับข้าวหรือทำขนมก็จะได้อาหารที่ หรอยแรง หรืออร่อยมาก  ชาวบ้านประมาณ 80 %  มีอาชีพทำสวนมะพร้าวสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ  ส่วนที่เหลือทำประมงชายฝั่ง  รับจ้าง  และค้าขายทั่วไป

อีกทั้งสองข้างลำคลองยังหนาแน่นไปด้วยต้นจาก  ใช้ประโยชน์ได้สารพัด  เช่น  ลูกจากนำมาทำขนม  งวงจากให้น้ำตาลเหมือนมะพร้าวหรือตาล  เรียกว่า น้ำผึ้งจาก  นำมาหมักทำน้ำส้มสายชู  ใบเอามามุงหลังคา  ทำฝาบ้าน  ทำหมวก  ภาชนะตักน้ำ  ยอดจากเอามาตากแดดใช้มวนบุหรี่  ใบอ่อนเอามาห่อขนมจาก  ฯลฯ  เป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา

ลูกจากจะออกมากในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ป่าจากนี้ก็เหมือนกับป่าชุมชน  ใครจะเข้ามาใช้ประโยชน์  จะมาเอาลูกจาก  ใบจากไปใช้ก็ได้  แต่ต้องช่วยกันดูแลรักษา  ปีหนึ่งจะตัดใบจากได้ประมาณ 3-4 ครั้ง  ใบใหม่จะแทงขึ้นมาจากกอ  ลูกจากที่สุกแล้วจะมีเปลือกสีดำ  พอแก่แล้วมันก็จะร่วงลอยไปตามน้ำ  ไปติดฝั่งตรงไหนมันก็จะงอกขึ้นมาอีก   ประมาณ 5-6 ปีต้นจากก็จะโต  เอามาใช้ประโยชน์ได้อีกไม่มีวันหมด ลุงไก่บอกวงจรการเติบโตของต้นจาก

ส่วนในคลองที่มีทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อยก็มีปลากะพง  ดุกทะเล  ตะเพียน ซิว ฯลฯ  มีกุ้ง  มีหอยในป่าจาก-ป่าเลน  แถมในอดีตชาวบ้านที่นี่ก็ยังทำนา  เรียกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ความอุดมสมบูรณ์  มีของกินของใช้ไม่อดอยาก  รวมทั้งมีพืชที่เป็นสมุนไพรที่ยืนต้นเรียงรายอยู่เต็มสองฝั่งคลอง

โน่นต้นแคน้ำ  ดอกเอามากินได้...นั่นเหงือกปลาหมอ  ใช้แก้โรคผิวหนังและน้ำเหลืองเสีย....สำลีงา  แก้ฝีในปอด  เถาวัลย์เปรียงบำรุงเลือด  หมามุ่ย...คนอินเดียใช้เป็นยาบำรุงทางเพศ ลุงไก่ชี้ชวนให้ดูแล้วบอกสรรพคุณสมุนไพรต่างๆ ที่แกมองเห็นขณะเรือล่องผ่าน

‘‘ลุงไก่’ ถือเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากการท่องเที่ยวชุมชนตำบลบางใบไม้ที่พวกเขาช่วยสร้างกันขึ้นมาเมื่อราว 14-15 ปีก่อน  ปัจจุบันมีเรือหางยาวแบบลุงไก่พานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติประมาณ 20 ลำ  หากไปดู อุโมงค์จาก’ ที่อยู่ไม่ไกลจากตลาดน้ำจะคิดราคาคนละ 20 บาท  หากเหมาไปชมสวนลัดเลาะไปในคลองร้อยสายจะคิดราคาลำละ 500 บาท  ถือเป็นอาชีพเสริมของคนบางใบไม้

อุโมงค์จาก  ฉากอันซีนที่คลองบางใบไม้

ท่องเที่ยวชุมชนคนบางใบไม้

กำนันสาว’ หรือจรัญญา  ศรีรักษ์’  กำนันตำบลบางใบไม้ และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางใบไม้  เล่าว่า  จากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  วิถีชีวิต  และภูมิปัญญาของคนบางใบไม้  แกนนำในตำบลจึงริเริ่มทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาในช่วงปี 2549  ใช้เวลาลองถูกลองผิด  อาศัยประสบการณ์การไปดูงานจากแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ  แล้วนำมาปรับใช้  เช่น  ฝึกให้คนขับเรือท่องเที่ยวเช่นลุงไก่เป็น นักเล่าเรื่องชุมชน’  สามารถบอกเล่าวิถีชีวิต  ภูมิปัญญา  ความรู้ท้องถิ่นของคนบางใบไม้ให้นักท่องเที่ยวฟังได้

พอปีต่อมา  ตอนนั้นมะพร้าวราคาตก  ลูกนึงไม่กี่บาท  ชาวสวนได้รับผลกระทบ  จึงมาคิดเรื่องการแปรรูปมะพร้าว  พาชาวบ้านไปดูงานที่ชุมพร  ชวนหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้เรื่องการทำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว  การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น  เช่น  สวนลุงสงค์  แต่เดิมแกปลูกมะพร้าวอย่างเดียวก็มาเรียนรู้เรื่องแปรรูปมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เช่น  เครื่องสำอาง  โลชั่นบำรุงผิว  ตอนนี้สวนลุงสงค์มีสินค้าจากมะพร้าวหลายอย่าง  มีลิงขึ้นต้นมะพร้าว  สวนตั้งอยู่ริมคลอง  วิวก็สวย  เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา”  กำนันสาวเล่าถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน

กำนันสาว  หญิงเหล็กแห่งบางใบไม้  เข้ารับรางวัล 10 ยอดชุมชนต้นแบบ ‘เที่ยวชุมชน  ยลวิถี’ จากนายกรัฐมนตรี  เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล (ภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

พอถึงปี 2559 จึงเริ่มทำตลาดน้ำ  เพราะชุมชนตั้งอยู่ริมคลองอยู่แล้ว  จึงชวนชาวบ้านเอาสินค้าในครัวเรือนมาขาย  มีน้ำผึ้งจาก  น้ำส้ม (สายชู) จาก  ใครมีฝีมือทางการทำอาหาร  ทำขนมก็เอามาขาย  เพราะมะพร้าวของที่นี่มีชื่อเสียง  มีรสชาติหวานมัน  กลิ่นหอม  เอามาทำอะไรก็อร่อย  เช่น  แกงคั่ว  แกงไก่  น้ำยาขนมจีน  ห่อหมก  ขนมจาก  ขนมถ้วย  ข้าวต้มมัด  ข้าวหลาม  นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่ออื่นๆ  เช่น  ผัดไทย  กาแฟสด  ฯลฯ 

ใช้ชื่อตลาดว่า ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้’  ตั้งอยู่ในสวนมะพร้าวริมฝั่งคลองตรงข้ามวัดบางใบไม้  บรรยากาศร่มรื่น  อากาศเย็นสบาย  เปิดทุกวันอาทิตย์  ตั้งแต่เวลา  9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น  มีชาวบ้านบางใบไม้และใกล้เคียงมาค้าขายประมาณ  130 ราย  สร้างรายได้หรือเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้านที่มาค้าขายหรือวิ่งเรือท่องเที่ยวได้อาทิตย์ละหลายพันบาท

บรรยากาศตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน  เช่น  สวนลุงสงค์’ หรือ สมประสงค์ ศรีเทพ ที่เดิมเคยปลูกมะพร้าว  ขายเป็นมะพร้าวแกงหรือส่งเข้าโรงงานผลิตกะทิสำเร็จรูป  เมื่อได้รับการส่งเสริมให้แปรรูปมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กว่า 20 ชนิด  เช่น  น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสำหรับบริโภค  ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โลชั่น  สครัป  แชมพูสระผม  ครีมนวด  ครีมหมักผม     เซรั่ม  สบู่ก้อน  เจลอาบน้ำ  ลิปมัน  ยาหม่อง  ครีมทาส้นเท้า  ฯลฯ  ก็สามารถนำมาขายให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อได้

สวนลุงสงค์เป็นตัวอย่างของการนำผลผลิตจากชุมชนมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  จากเดิมเคยขายเป็นมะพร้าวทำกะทิได้ราคาลูกนึงไม่กี่บาท  พอเอามาทำสบู่ก้อนนึงก็หลายสิบบาท  หรือทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นขวดนึงหลายร้อยบาท  หรือหากนักท่องเที่ยวอยากนั่งเรือชมคลองแล้วขึ้นไปดูสวนลุงสงค์  ไปซื้อสินค้าที่ผลิตจากมะพร้าว  ก็จะทำให้ทั้งคนขับเรือและคนผลิตสินค้ามีรายได้”  กำนันสาวบอกถึงรายได้ที่กระจายสู่ชุมชน

ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจากสวนลุงสงค์

ส่วนการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชนและตลาดน้ำนั้น  กำนันสาวบอกว่า  ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน  ใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้’  มีสมาชิกมาจากชาวบ้านที่มาค้าขาย  คนขับเรือ  ผลิตภัณฑ์แปรรูป  ธุรกิจชุมชน  โฮมสเตย์  รีสอร์ท  ทั้งหมดประมาณ 200 คน  สมาชิกที่มีรายได้จากการขับเรือ  บริการที่พัก  ขายอาหาร  เรือพานักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้า  จะมอบรายได้เข้ากลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์  เพื่อนำมาเป็นค่าบริหารจัดการ  พัฒนาตำบล  จัดกิจกรรมต่างๆ  ให้ทุนการศึกษานักเรียน  ฯลฯ

พิษโควิด-เศรษฐกิจติดลบ  ตลาดน้ำปรับตัวฝ่าวิกฤต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา  ทำให้ธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่  ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยวชุมชนที่ตำบลบางใบไม้  เพราะก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2559  นับแต่เปิดตลาดน้ำประชารัฐเป็นต้นมา  มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องราวของตลาดน้ำและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ผ่านสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ  เช่น  ไทยรัฐ  เดลินิวส์   อัมรินทร์ทีวีออนไลน์  สำนักข่าวไทย  ฯลฯ  จึงช่วยให้บางใบไม้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป  รวมทั้งบริษัททัวร์ได้นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาล่องเรือชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมคลองด้วย

ช่วงที่บูมๆ  มีนักท่องเที่ยวมาล่องเรือชมคลอง  พักโฮมสเตย์และรีสอร์ทริมคลองคึกคักมาก  ตลาดน้ำมีคนมาเที่ยววันนึงประมาณ 3,000 คน  ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณอาทิตย์ละ 1 ล้านบาท  แต่ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง  รายได้ของพ่อค้าแม่ค้าก็ลดลงด้วย กำนันสาวบอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

บรรยากาศร่มรื่นในสวนมะพร้าวริมคลองบางใบไม้ (ภาพจากเฟสบุ๊คส์ตลาดน้ำประชารัฐฯ)

ส่วนการปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤตโควิดและพิษเศรษฐกิจในขณะนี้นั้น  กำนันบอกว่า  เธอเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  แต่ได้ประยุกต์เอาหลักการตลาดและการบริหารธุรกิจมาใช้ในการกอบกู้วิกฤต  เพราะได้ไปเห็นป้ายโฆษณาของห้างสรรพสินค้าใหญ่ระดับประเทศที่ตั้งอยู่ในเมืองสุราษฎร์ธานีที่งัดเอาโปรโมชั่นต่างๆ มาใช้เพื่อดึงดูดให้คนมาจับจ่าย   มาช้อปปิ้งในห้างเป็นการสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ตอนนี้เรามีโปรโมชั่น  ‘ช้อป 100 บาท  แถม 200 บาท’  โดยจะให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้า  อาหาร  ร้านไหนก็ได้  เมื่อครบ 100 บาท  เราจะแจกคูปองให้ซื้อสินค้า  หรือแจกสินค้ามูลค่า 100 บาท  และแถมคูปองนั่งเรือท่องเที่ยวฟรีอีก 100 บาท  โปรโมชั่นนี้เริ่มเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ได้รับการตอบรับดีมาก  กำนันสาวในฐานะหัวเรือใหญ่ของตลาดน้ำและท่องเที่ยวชุมชนบางใบไม้บอกถึงแผนเด็ด

(ภาพจากเฟสบุ๊คส์ตลาดน้ำประชารัฐฯ)

กำนันบอกด้วยว่า  เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา  เธอได้เข้าร่วมอบรมการวางแผนธุรกิจเพื่อชุมชน CBMC (Community Business Model  Canvas) ที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จัดอบรมผ่านระบบ Zoom  ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ  เพราะตอนแรกยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องวางแผน ? เพราะคิดว่าเราทำได้แล้ว  มีทุนต่างๆ อยู่แล้ว  แต่เมื่อได้เข้าอบรม   ทำให้เข้าใจเรื่องการทำธุรกิจเพื่อชุมชนมากขึ้น  มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น  นำความรู้มาทบทวนการทำงานที่ผ่านมา  เช่น  การสร้างเครือข่าย  การถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ในตำบล  รวมทั้งจะนำความรู้มาฟื้นฟูตลาดน้ำและการท่องเที่ยวชุมชนด้วย

เมื่อปี 2562 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในตำบลบางใบไม้  ตลาดน้ำก็ถูกน้ำท่วม  ต้องปิดตลาดไปนาน  แต่เราก็ช่วยกันฟื้นฟูตลาดน้ำและการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ได้  คราวนี้เราก็คิดว่าเราต้องต่อสู้อีกครั้งเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวกลับมา”  กำนันหญิงเหล็กแห่งบางใบไม้บอกทิ้งท้าย

(ภาพจากเฟสบุ๊คส์ตลาดน้ำประชารัฐฯ)

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชนดูรายละเอียดการท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ facebook : talardnumpracharatbangbaimai  ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวจากสวนลุงสงค์  facebook : ProwthaiSuratthani

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวบชายต่างชาติลอบสอนโยคะอนาจาร พบเป็นยูทูบเบอร์ดัง ผู้ติดตามกว่า 18 ล้านคน

ฝ่ายปกครองอำเภอพะงัน บูรณาการหน่วยงานความมั่นคง ร่วมจับกุมหนุ่มวัยกลางคนชาวโปแลนด์ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ลักลอบสอนโยคะ สุ่มเสี่ยงอนาจารทางเพศ พบเป็นยูทูบเบอร์ดังมีผู้ติดตามมากกว่า 18 ล้านคน

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล