ธนาคารเวลารองรับสังคมผู้สูงวัย สร้างคุณค่าที่เท่าเทียมด้วยการแบ่งปัน

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปีสังคมสูงวัย รัฐบาลประกาศให้สังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีธนาคารเวลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือรองรับสังคมสูงวัย Give & Take ด้วยรูปแบบกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่ช่วยส่งเสริมให้คนดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการนำทักษะความรู้ ความชำนาญ ที่เรามีไปช่วยเหลือ และได้รับค่าตอบแทนจากการเข้าไปช่วยเพื่อนเป็นเวลา นำเวลาที่ได้ฝากสะสมไว้ในบัญชีส่วนบุคคล เบิกถอนได้เมื่อเราต้องการใช้เวลานั้น การฝากหรือถอนจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิก ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบ มีลายลักษณ์อักษร ยึดหลักว่าทุกคนมีคุณค่า มีความสามารถ มีเวลาเท่ากัน สามารถแบ่งปันกันได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “If you want to go fast, go alone. If you want to go far, Go together. ดร.เอ็ดการ์ คาห์น ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวสหรัฐ ผู้พัฒนาแนวคิดธนาคารเวลาให้เป็นระบบ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง เรื่องแนวคิดธนาคารเวลา (Time Bank) ว่า มีจุดเริ่มต้นจากญี่ปุ่น ซึ่งพบสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ต้องคิดวิธีรับมือแก้ปัญหาสังคมสูงวัยให้เหมาะสมกับบริบทต่างๆ

ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 30% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” (Super - aged society) ทำให้ สสส.ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายพัฒนาแนวคิดธนาคารเวลาเพื่อรองรับสูงวัย เพื่อเป็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนช่วยกันดูแลกัน และช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีความต้องการ ด้วยวิธีที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ โดยสมาชิกธนาคารเวลาจะได้รับการตอบแทนในรูปแบบเวลาที่สะสมไว้

เรื่องของธนาคารเวลา หัวใจสำคัญคือการสะสมเครดิตเวลาจากกิจการบริการด้านต่างๆ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนเงินระหว่างกัน ธนาคารเวลายึดความเท่าเทียม โดยทุกชั่วโมงทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะมีกิจกรรมบริการแบบไหนก็ตาม จะมีค่าที่เท่ากันเสมอ  1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 เครดิตเวลา (คะแนน) ธนาคารเวลา คือพลังอาสาสมัครช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถักทอเครือข่ายช่วยเหลือกันและกัน รูปแบบกิจการที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน โดยยึดแนวคิด “เพื่อนบ้านช่วยเหลือเพื่อนบ้าน” ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ บริการขั้นพื้นฐาน และสามารถสะสมเวลาไว้ เมื่อมีการออมเงินในบัญชีธนาคารของเรา เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือสามารถเบิกเวลามาใช้ได้

ธนาคารเวลา คุณค่าของเวลาที่เท่ากัน ผู้สูงอายุ/ผู้สูงวัย อายุมากกว่า 60 ปี มีสัญชาติไทย มี 3 ระดับ 

1.ระดับก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมากกว่า 10% ของประชากร หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด 

2.สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด  3.สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ทุกวันนี้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตยืนยาว มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการดึงทุกภาคส่วนเข้ามา  เด็กและคนที่อยู่ในวัยทำงานช่วยกันเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คนที่มีความชำนาญอย่างหนึ่งเข้าไปดูแลซ่อมเครื่องซักผ้า อีกรายหนึ่งเข้าไปสระผม หรือตัดเล็บให้ผู้สูงวัย หรือบางกรณีสามารถฝากดูแลลูกหลานได้เมื่อต้องออกไปทำธุระที่จำเป็น แสดงให้รู้ว่าผู้สูงอายุไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นการระดมสมองช่วยเหลือกัน

ขณะนี้ สสส.ร่วมมือกับ 50 ชุมชน จำนวน 2,000 คน เรามีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คนสูงวัยที่มีฐานะดี มีลูกหลานอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ แต่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย หากหน่วยงานใดสนใจสามารถหาข้อมูลได้ใน www.thaitimebank.net และสอบถามเข้ามาที่ สสส.ได้

“เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล (1 ต.ค.ทุกปี) สสส.ยังยึดมั่นสร้างสุขภาวะให้ผู้สูงอายุทุกกลุ่ม และพัฒนาระบบ กลไกต่างๆ ที่รองรับสังคมสูงวัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องสังคมสูงวัย ที่ยกให้แนวคิดธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วน ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย : นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย จะช่วยพลิก “วิกฤต” เป็น “โอกาส” แก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงสร้างการช่วยเหลือเกื้อกูล และสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนวัยต่างๆ ในชุมชนได้ โดย สสส.มีเจตนารมณ์ในการพัฒนานวัตกรรมระบบ กลไกต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยจนเกิดเป็นกลไกและนโยบายที่ยั่งยืน ซึ่งธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้” นางภรณีกล่าว

นางปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย พูดถึงโครงสร้างประชากรในไทยเปลี่ยนไปว่า เพราะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ แนวคิดธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมเชิงระบบ เริ่มตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยแต่ละชุมชนจะพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ แบ่งกลุ่มย่อยดูแลผู้สูงอายุตามความถนัด เช่น ขับรถพาไปโรงพยาบาล-ซื้อของ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดผม แม้กระทั่งตัดเล็บ เพราะมีผู้สูงอายุบางคนที่ตัดเล็บเท้าตัวเองไม่ได้ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเวลาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้ม มีเป้าหมายทำให้สังคมตระหนักว่า การ “ออมเวลา” สำคัญไม่น้อยไปกว่าการ “ออมเงิน” เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง

“เมืองไทยทำมา 3 ปี เป็นความท้าทายพัฒนาธนาคารเวลาใช้ในสังคมไทย ด้วยการเชิญชวนภาคีเครือข่ายทดลองทำ เป็นเรื่องไม่ยากถ้าเราตั้งใจร่วมมือสร้างสรรค์สังคมเข้มแข็ง ใช้วิเคราะห์คน ผู้นำที่มีความพร้อมทั้งกายและใจร่วมสร้างเครือข่าย ทำงานสร้างคุณค่าที่เท่าเทียม เมื่อทดลองทำในชุมชน 8 จังหวัด ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ 353 บาท และยังได้ความสุขทางใจ ลดค่าใช้จ่ายจากสมาชิกได้อย่างดี”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เล่าว่า เท่าที่มีการสำรวจข้อมูล พบเหตุที่น่ากังวลใจ มีผู้สูงวัย 1-2 ล้านคน 4 ล้านครัวเรือนประสบปัญหาไม่มีลูกหลานช่วยดูแล ยิ่งอยู่ในฐานะที่ไม่ร่ำรวย มีความยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่ม Single income Duo income No kids กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอยู่ในกลไกของธนาคารเวลาเข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะ  60-80% มีรายได้ไม่เพียงพอ ทุกวันนี้มีผู้สูงวัย 12 ล้านคน ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนเป็น 20 ล้านคน จำนวน 80% มีเงินไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องใช้กลไกสังคมเข้ามาช่วยเหลือคนจำนวน 16 ล้านคน คนสูงวัย 5 ล้านคนใช้กลไกของรัฐมาหนุนเสริม กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กลไกภาครัฐอื่นๆ มีการให้เงินสวัสดิการ 600 บาท ถ้าจะเพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาท เป็นนิทานการเมือง จะใช้งบประมาณมาจากไหน ดังนั้นเราต้องช่วยกันสร้างสังคม เตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นเข้ามาดูแลแก้ไข ธนาคารเวลาเป็นเฟสที่ 2 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เสมือนกับการลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว

สังคมสูงวัยในไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ 5 ข้อ ที่ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต 1.คนไทยจะมีอายุยืนมากขึ้น 2.คนไทยที่อายุยืนมีเงินไม่พร้อมในวัยเกษียณ 3.สังคมไทยจะเปลี่ยวเหงามากขึ้น เพราะค่านิยมไม่แต่งงาน ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย และคู่แต่งงานผู้ชายจะเสียชีวิตก่อนผู้หญิง 4.สังคมต้องการความหลากหลาย ผู้สูงอายุในวัยเกษียณยังต้องการทำงานระยะยาว และไปเที่ยวตามความต้องการ 5.ระบบทุนนิยม ทำให้การตีค่าคนไม่เท่ากัน เช่น คนฐานะดีจะถูกตีราคาสูง ผู้มีรายได้น้อยถูกตีราคาต่ำ ขณะที่แนวคิดธนาคารเวลาช่วยสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี 8 ข้อ 1.สังคมเกิดการรู้จักกัน 2.สามัคคีกัน 3.เกิดการเรียนรู้ในชุมชน 4.มีกิจกรรมร่วมกัน 5.เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน 6.ใส่ใจดูแลกัน 7.ช่วยจัดการปัญหาสังคม 8.พึ่งพากันในยามวิกฤต หากมองวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่มีจิตสาธารณะ อยู่กันแบบเครือญาติ จึงเชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่และสถานการณ์ได้ เช่น การตั้งระบบจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ การทำชุมชนช่วยเรื่องโควิด ตั้งชมรมอนุรักษ์ประเพณีเพื่อให้เกิดสังคมสูงวัยที่มีสุขภาวะดี.

***

ความท้าทายเมื่อสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย

เมื่อก้าวสู่สังคมสูงวัย สมรรถนะร่างกายลดลง ความสัมพันธ์ลดลง กิจกรรมทางสังคมลดลง รายได้ลดลง มีปัญหาสุขภาพ ไม่มีอาชีพ บางครั้งกลายเป็นผู้ป่วย คนพิการ ทุกคนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคนดูแลในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย....ปันด้วยใจให้ด้วยรัก ตอบแทนกันด้วยเวลา เพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน ทำที่ใช่ให้ที่ชอบ คุณค่าที่เงินหาซื้อไม่ได้  หลักประกันสังคมสูงวัย

“ยากดีมีจนที่แตกต่าง คุณค่าเวลาผ่านธนาคารเวลา มั่นใจว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นำไปใช้ในชุมชนอย่างชัดเจน เริ่มต่อยอดในระดับประเทศ”

พ.ศ.2548 สังคมสูงวัย 10.8 ล้านคน หรือ 16.5 ของประชากรทั้งหมด

พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน  หรือร้อยละ 18

พ.ศ.2563 ประชากรวัยแรงงาน 43.26 ล้านคน ร้อยละ 65

พ.ศ.2565 ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ หรือมีสัดส่วนประชากร 60 ปีขึ้นไปสูงร้อยละ 20

พ.ศ.2576 ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28

พ.ศ.2583 ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 20.42 ล้านคน หรือร้อยละ 31.28

พ.ศ.2583 (อายุ 15-59 ปี) จะลดลงเหลือ 36.5 ล้านคน หรือร้อยละ 56

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง