พอช.จับมือ 25 หน่วยงาน MoU. พัฒนาคุณภาพชีวิต-ฟื้นฟูคลองสำโรง จ.สงขลา

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลา และ พอช. รวม 25 หน่วยงาน  ลงนามร่วมกันพัฒนา ‘คน-คลองสำโรง’

สงขลา / พอช. จับมือ 25 หน่วยงานร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU.) พัฒนาชุมชนริมคลองสำโรง  จ.สงขลา เพื่อฟื้นฟูคลองสำโรงที่เน่าเสียให้เป็น “คลองสวย  น้ำใส  ไร้ขยะ  ชุมชนมีสุข”  ขณะที่จังหวัดสงขลาจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ชุดเดินหน้าพัฒนา ‘คน-คลอง’ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง  มีแผนพัฒนา 5 ปี  เริ่ม 2566-2570  ด้านชาวชุมชนบาลาเซาะห์  ปากคลองสำโรง  เตรียมแผนพร้อมพัฒนาที่อยู่อาศัย

ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน  กระทรวง พม. และ พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ที่จังหวัดสงขลา  Kick off  การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง  คลองสวย  น้ำใส  ไร้ขยะ  ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตำบลบ่อยาง   อำเภอเมืองสงขลา   จ.สงขลา  โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ  เวทีเสวนา  การลงพื้นที่ชุมชนสร้างเพื่อความเข้าใจกับชาวชุมชน  การสำรวจข้อมูล  และกิจกรรมฐานการเรียนรู้   เนื่องจากคลองสำโรงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  มีสภาพเน่าเสีย  คลองตื้นเขิน  คับแคบ  ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองมีสภาพเป็นชุมชนแออัด  บ้านเรือนทรุดโทรม  ชาวชุมชนริมคลองสำโรงและหน่วยงานในท้องถิ่นจึงมีแผนงานการฟื้นฟูชุมชนและคลองขึ้นมา

โดยในวันนี้ (1 พฤศจิกายน) ระหว่างเวลา 9.00-11.00 น.  มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of  Understanding) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ  ในจังหวัดสงขลาและส่วนกลาง  รวมทั้งหมด 25 หน่วยงาน  เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนริมคลองสำโรง  จ.สงขลา  โดยมีนายกองเอกพุทธ  กฤชคงพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นสักขีพยานการลงนาม  พร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่น  อบจ.สงขลา  เทศบาลนครสงขลา  เทศบาลเมืองเขารูปช้าง  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  เช่น  พมจ.จังหวัดสงขลา  เครือข่ายชุมชนจังหวัดสงขลา  และชาวชุมชนริมคลองสำโรงเข้าร่วมงานประมาณ 200 คน

‘บาลาเซาะห์’ ชุมชนชาวประมงปากคลองสำโรงเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย

พอช. จับมือ 25 หน่วยงานพัฒนาคลอง-คน

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2565 ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา  Kick off  การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง  คลองสวย  น้ำใส  ไร้ขยะ  ชุมชนมีสุข” ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน  มีสาระสำคัญคือ  การลงนามบันทึกความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 25 องค์กร  เช่น  พอช. จังหวัดสงขลา  หน่วยงานในท้องถิ่น  (อปท.)  ภาคเอกชน  ประชาสังคม  และชาวชุมชน   เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของชุมชนริมคลองผู้มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคง  มีสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี  โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม

มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เพื่อสนับสนุนนโยบาย  แนวทางการพัฒนาชุมชน  และส่งเสริมศักยภาพให้เป็นคลองรองรับน้ำที่มีคุณภาพที่ดี  2.เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและร่วมจัดระเบียบและภูมิทัศน์และการอยู่อาศัยชุมชนริมคลองสำโรง  3.เพื่อร่วมจัดกระบวนการ  สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน  หน่วยงานทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูพัฒนาคลองสำโรงให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น  4.เพื่อประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง  ระดมความคิดเห็น  ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยมีแผนการฟื้นฟูสภาพคลองสำโรงจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ผู้ร่วมงานบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาคลองและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองสำโรง

มีเป้าหมายเพื่อ 1.เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัย  ด้วยการสำรวจแนวเขตพื้นที่คลองสำโรงทั้งสองฝั่งตลอดสายคลอง  และเพื่อทำให้น้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี  2.จัดทำแผนปฏิบัติร่วม  ชุมชน  ท้องถิ่น  หน่วยงาน  เพื่อจัดระบบคลอง  ปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง  และพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคง  คลองสำโรงมีภูมิทัศน์สวยงาม  เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป  3.เกิดแผนการพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม  คุณภาพน้ำในคลองสำโรงและคุณภาพชีวิตประชาชนริมคลองดีขึ้น  โดยการบูรณาการงบประมาณ  จัดกลไกที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  4.สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันทำงานด้วยการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการพัฒนา  ทำให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ 25 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.สำนักงานจังหวัดสงขลา 2.ปลัดจังหวัดสงขลา 3.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา 4.อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา 5.ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา 6.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา   7.สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา 8.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา 9.ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา 10.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค  สาขาสงขลา 11.อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา

12.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา   13.นายกเทศมนตรีนครสงขลา 14.นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง 15.นายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว 16.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา 17.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 18.สำนักงานการจัดการน้ำเสียสาขา

สงขลา   19.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา   20.อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา   21.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย   22.ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2   23.ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 4  24.พลังงานจังหวัดสงขลา  และ 25.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

นายกองเอกพุทธ  กฤชคงพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนริมคลองสำโรงและการฟื้นฟูคลองสำโรง  กล่าวว่า  การพัฒนาคลองสำโรงและคุณภาพชีวิตชาวคลองสำโรง  โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  และมีการประสานงานกับหน่วยงานภาคี  ท้องที่  ท้องถิ่น  ภาคประชาสังคม  ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ  และเป็นแนวทางที่ถูกต้อง  เพื่อให้ชุมชนริมคลองสำโรงได้พัฒนาและบรรลุผลตามเป้าหมาย  ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว  การสร้างอาชีพ  รายได้  ให้แก่ชาวชุมชน

นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า  พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการคิดค้น  ออกแบบ  แก้ไขปัญหา  ร่วมกับ 25 หน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือกันในวันนี้  โดยชุมชนต้องเป็นหลัก  มีส่วนร่วมในการพัฒนา  ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนคลองสำโรงดีขึ้น  ขณะที่ พอช.ก็ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย  แต่จะทำทุกเรื่อง  ทุกมิติ  เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องดีขึ้น

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมลงนาม

แนวทางพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัยคลองสำโรง

คลองสำโรงมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ  อยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลเมืองเขารูปช้าง  และเชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย  ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่  เรือสินค้าสามารถแล่นผ่านได้  ปัจจุบันสภาพเปลี่ยนไป   สภาพคลองคับแคบ  บางช่วงมีความกว้างประมาณ 7 เมตร  น้ำในคลองเน่าเสีย  เพราะคลองสำโรงกลายเป็นคลองรับน้ำเสียในเมืองสงขลา  ทั้งจากโรงงานแปรูปสัตว์น้ำ  น้ำเสียจากโรงแรม  ชุมชน  ตลาด  ฯลฯ  ริมคลองมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น  มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง  กีดขวางทางไหลของน้ำ  มีวัชพืช  เช่น  ผักตบชวา  ประกอบกับบริเวณปากคลองสำโรงที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทยบริเวณชุมชนบาลาเซาะห์ในช่วงฤดูมรสุม  กระแสน้ำจะพัดพาตะกอนทรายมาทับถมบริเวณปากคลอง  จึงทำให้น้ำในคลองสำโรงไม่ไหลเวียน

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับชาวชุมชนและภาคีเครือข่าย  พบว่า  มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงจำนวน  15 ชุมชน  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง  6 ชุมชน  และในเขตเทศบาลนครสงขลา 9 ชุมชน  รวมประมาณ  584  ครัวเรือน  ประชากรประมาณ  2,400 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  หาเช้ากินค่ำ  และทำประมงพื้นบ้าน  สภาพบ้านเรือนแออัด  ทรุดโทรม  บางหลังอยู่อาศัยกันถึง 15 คน  คุณภาพชีวิตไม่ดี  น้ำประปา  ไฟฟ้าไม่มี  ต้องพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้  ไม่มีทะเบียนบ้านถาวร  ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ  และกรมเจ้าท่า

ส่วนการฟื้นฟูคลองสำโรงและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนนั้น  เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา  จังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาคลองสำโรง   จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาคลองสำโรง 2. คณะทำงานแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  และ 3. คณะทำงานจัดระเบียบและภูมิทัศน์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกมิติ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

นางบุณย์บังอร  ชนะโชติ  ผู้แทนเครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา  กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนและคลองสงขลาว่า  แผนพัฒนาคลองสำโรงของจังหวัดสงขลาระยะเวลา 5 ปี  จะมีแผนงานหลักคือ 1.การขุดลอกคลองสำโรงตลอดลำคลองความยยาวประมาณ 5.5 กิโลเมตร  2.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว  อนุรักษ์และฟืนฟูสภาพแวดล้อมริมคลอง 

ส่วนเทศบาลนครสงขลามีแผนงานหลัก  คือ 1.การจัดการคุณภาพน้ำในคลองสำโรง  2.การจัดการภูมิทัศน์คลองสำโรง  และเทศบาลเมืองเขารูปช้าง  มีแผนงานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตหรือพนังกั้นคลองสำโรง  ดำเนินการระหว่างปี 2566-2570 ปีละ 695 เมตร  รวมความยาวทั้งหมด 2,780 เมตร

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ในปี 2564  องค์การจัดการน้ำเสีย  กระทรวงมหาดไทย  ได้จัดทำโครงการจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลนครสงขลา    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ  รวมทั้งคลองสำโรง  โดยใช้งบประมาณจำนวน 656 ล้านบาทเศษ  เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียให้ดีขึ้น  โดยการสร้างสถานีสูบน้ำเสีย  วางระบบท่อน้ำเสีย  ฯลฯ  เพื่อเข้าสู่โรงบำบัด  เริ่มโครงการตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2564-15 ตุลาคม 2567

พื้นที่เตรียมสร้างสถานีสูบน้ำเสียบริเวณชุมชนเก้าเส้งและบาลาเซาะห์ก่อนไหลลงคลองสำโรง

เสียงจากชาวบาลาเซาะห์

นายเดอเล๊าะ  ปอโด๊ะ  อายุ 59 ปี  ผู้นำชุมชนบาลาเซาะห์  เทศบาลนครสงขลา  บอกว่า  เดิมชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเก้าเส้ง  ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่  ผู้นำในท้องถิ่นจึงให้แยกชุมชนบาลาเซาะห์ออกมาต่างหาก  เพื่อความสะดวกในการปกครอง  ปัจจุบันชุมชนมีทั้งหมด  184  ครอบครัว  ประมาณ 880 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  มีเรือประมงประมาณ 60 ลำ  ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปี  ส่วนที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ  และบางส่วนเป็นพื้นที่ริมคลองสำโรง  กรมเจ้าท่าดูแล  เนื้อที่ทั้งชุมชนทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ 

“เมื่อก่อนน้ำในคลองสำโรงยังใสสะอาด  สมัยเป็นเด็ก  เวลาเลิกเรียน  ผมก็จะมาเล่นน้ำในคลองสำโรง  ตอนหลังประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานี้     น้ำในคลองเริ่มเน่าเสีย  เพราะน้ำเสียจากในเมือง  โรงแรม  โรงงานอุตสาหกรรมทำปลากระป๋อง  น้ำจากชุมชน  ไหลมารวมกันลงในคลองสำโรง  อีกทั้งช่วงลมมรสุม  น้ำทะเลจะพัดพาทรายเข้ามาทับถมที่ปากคลองสำโรง  ทำให้ปากคลองตื้นเขิน  คับแคบ  น้ำจากในคลองไหลออกไปทะเลไม่ได้  คลองจึงเน่าเสีย  ชาวบ้านเคยใช้ลูกอีเอ็มบอลล์โยนลงในคลองเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย  แต่น้ำจะใสได้เพียงสัก 2 อาทิตย์ก็จะเน่าเหมือนเดิมอีก”  ผู้นำชุมชนบอก

ปากคลองสำโรงที่ชุมชนบาลาเซาะห์

เขาบอกว่า  หากจะทำให้น้ำในคลองสำโรงกลับมาใสสะอาด  จะต้องทำ 1.ทำแนวคลองให้ชัดเจน  ไม่ให้มีการรุกล้ำคลอง  ขุดลอกคลองเพื่อให้น้ำไหลเวียน 2.ให้บ้านเรือน  ชุมชน  มีระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน  เช่น  บ้านที่อยู่ใกล้กัน  5-10 หลัง  ให้ทำระบบท่อน้ำทิ้งรวม  และมีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงคลอง  4.ให้มีการสร้างเขื่อนกั้นปากคลองสำโรงเพื่อป้องกันไม่ให้ทรายมากองทับถมปิดปากคลอง  ขณะเดียวกัน  น้ำจากในคลองก็สามารถไหลออกสู่ทะเลได้  จะทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียน  ไม่เน่าเสีย

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น  เขาบอกว่า  ตัวอย่างที่ชุมชนบาลาเซาะห์  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่  มีครัวเรือน 184 ครอบครัว   ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย  หลังหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5-10 คน  บางหลังอยู่กัน  18 คน  อยู่กันแบบแออัด  จะขยายพื้นที่ก็ขยายไม่ได้แล้ว  เพราะด้านหน้าติดถนน  ตอนนี้ทางองค์การจัดการน้ำเสียกำลังทำสถานีสูบน้ำเสีย  ส่วนด้านข้างชุมชนติดคลองสำโรง  หากมีการปรับปรุงคลองสำโรง  ก็ต้องขยับบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองออกไป  เพื่อให้น้ำไหลเวียนไม่กีดขวางทางน้ำ  ชุมชนบางส่วนก็จะอยู่ในที่เดิมไม่ได้  จะต้องหาที่ดินใหม่รองรับ 

“ตอนนี้ชุมชนเริ่มเตรียมพร้อม  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการทำเรื่องที่อยู่อาศัย  ให้ชาวบ้านออมกันอย่างน้อยครอบครัวละ 100 บาท  เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว  ตอนนี้มีสมาชิก 78 ครอบครัว  ไปดูที่ดินแถวอำเภอจะนะเอาไว้แล้ว เป็นที่ดินริมทะเล ชาวบ้านก็จะทำประมงได้ ห่างจากที่นี่ประมาณ 20 กิโลฯ  เจ้าของจะขาย 38 ไร่  ราคาไร่ละ 7 แสนบาท   ถ้ามีการปรับปรุงคลองสำโรง  มีการรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลองออกไป  ชาวบ้านก็จะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่  รองรับครอบครัวขยายด้วย  อาจจะทำโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.  ใช้เงินที่ชาวบ้านออม  แล้วมีหน่วยงานมาสนับสนุน”  ผู้นำชุมชนบาลาเซาะห์บอกถึงแผนงานการเตรียมพร้อมเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน

ชุมชนประมงพื้นบ้านบาลาเซาะห์

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ตีปี๊บศึก อบจ. เหน็บกลัวโมโนเรลหาดใหญ่หายโผล่เชียงใหม่

“นิพนธ์-สรรเพชญ-มาดามเดียร์‘ เปิดเวทีระดมความคิดชาวสงขลา กระตุกรัฐบาลกระจายอำนาจ-งบประมาณให้ประชาชนออกแบบการใช้จ่าบภาษีของตัวเอง เหน็บโดนฉกงบฯ รถไฟฟ้าโมโนเรลไปโผล่เชียงใหม่

'สุทิน' ควง 'เจ้าสัวธนินท์' สักขีพยาน MOU กลาโหมจับมือซีพี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม กับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

อบอุ่น ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับบ้านเกิด ย้ำเรื่องคดีความให้ว่าไปตามกฎหมาย

บิ๊กโจ๊กกลับบ้านเกิดเป็นประธานงานคืนสู่เหย้าโรงเรียนวิเชียรชมส่วนหมายเรียกทั้งสองหมายนั้นให้ว่าไปตามกฎหมายตนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม

ชาวบ้านสุดทน! สำนักสงฆ์ชื่อดัง จัดงานรื่นเริง ขายเหล้า-เบียร์โจ่งครึ่ม

สำนักสงฆ์ชื่อดังแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา จัดงานขึ้นถึง 7 วัน 7 คืน โดยภายในงานมีการแสดงดนตรีแบบเต็มวง รำวงเวียนครก และการละเล่นอื่นๆ โดยภายในงานจัดให้มีการจำหน่ายสุราและเบียร์

กอ.รมน. สรุปเหตุป่วนชายแดนใต้ 40 จุด สร้างสถานการณ์ความไม่สงบเดือนรอมฎอน

กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า ได้สรุปเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งเกิดเหตุ ก่อกวนหลายจุด ทั้งในเขตจังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา, จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา

2กระทรวงใหญ่ผนึกกำลังขับเคลื่อนนิคมฯยางพารา ใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับดึงนักลงทุนต่างชาติ

กยท.เดินหน้า จับมือ กนอ.ลงนาม MOU ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมยางพาราให้เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมดึงนักลงทุนจากต่างชาติ ชูจุดเด่นตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มายาง ดันไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางยางพาราโลก สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้ทุกภาคส่วนในวงการยางพาราอย่างยั่งยืน