ฟ้าหลังฝนของ ‘ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็น’ จ.อุทัยธานี เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินทำกิน-สร้างบ้านสร้างชีวิตมั่นคง

ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นกับผ้าทอและงานจักสานสะท้อนรากเหง้าของตนเอง

บ้านภูเหม็น  อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมากนัก  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง  เป็นชุมชน ‘กะเหรี่ยงโปว์’ หรือ ‘โผล่ว’ นับถือศาสนาพุทธ  ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมานานกว่าร้อยปี  มีหลักฐานว่าบ้านภูเหม็นมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ.2415 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนชื่อ “ภูเหม็น” มาจากชื่อของหมู่บ้าน  เรียกว่า “พุเม้ยง์” เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง  ภาคกลางเรียก “ต้นเข้าพรรษา”  (คนสระบุรีนิยมใช้ใส่บาตรพระในวันเข้าพรรษา)  เป็นพืชล้มลุก  ตระกูลขิง  มีดอกสีเหลือง  ออกดอกในช่วงเข้าฤดูฝน  ชอบขึ้นใกล้ลำห้วย  ที่บ้านพุเม้ยง์ (ออกเสียงขึ้นจมูก) มีต้นไม้ชนิดนี้มาก  จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น  แต่คนบ้านอื่นที่ไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยงเรียกไม่ถนัดปาก  จึงออกเสียงเป็น “ภูเหม็น” 

ปัจจุบันบ้านภูเหม็นมีชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยประมาณ 200 ครอบครัว  ประชากรประมาณ 800 คน  หาอยู่หากินตามธรรมชาติ  ปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  พริก  พืชผักต่างๆ  สับปะรด  กล้วย  ฯลฯ  ไม่นิยมเลี้ยงสัตว์  มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  สงบสุข  และมีการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  การฟื้นฟูป่าไม้  สร้างพื้นที่สีเขียว  อนุรักษ์แหล่งน้ำ  พัฒนาที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูประเพณี  วัฒนธรรม  ส่งเสริมอาชีพ  โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน

แต่กว่าจะมีวันนี้...ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นต้องผ่านความทุกข์ยากมาไม่น้อย !!

ก่อนฟ้าหลังฝน...วันคืนที่มืดหม่น

ชาวกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างสยามกับพม่าและล้านนามาแต่โบราณ  เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ       

ชาวกะเหรี่ยงแยกเป็นหลายกลุ่มย่อย  เช่น  ปกาเกอะญอ  โปว์หรือโผล่ว  ตองซู  ฯลฯ มีสำเนียง  ภาษาพูด  ความเชื่อ  พิธีกรรมที่เหมือนและต่างกันไป  แต่ที่คล้ายกันคือวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติ  พึ่งพาป่าเขาและสายน้ำ  ปลูกข้าวและทำไร่หมุนเวียน  แต่กฎหมายและอำนาจรัฐที่เดินทางมาถึงทีหลัง  ขับไล่พวกเขาออกจากป่า...

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  วัย 56 ปี  บอกว่า  แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นมีชีวิตที่สงบสุข  หาอยู่หากินในป่า  ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย  ครอบครัวหนึ่งถ้าเป็นครอบครัวใหญ่จะทำกินประมาณ 5-6 ไร่  ปลูกข้าวเจ้าเอาไว้กิน  ปลูกข้าวเหนียวเอาไว้ทำขนมและขนมจีน  ใช้ในงานบุญ  งานมงคล  ปลูกฟัก  แฟง  ฟักทอง   น้ำเต้า  พริก  มะเขือ  งา  ยาสูบ  ฯลฯ  หาน้ำผึ้งจากในป่า  ขี้ผึ้งเอามาทำเทียนไขใช้ในพิธีต่างๆ

ลุงอังคาร  นอกจากจะเป็นผู้นำชุมชน  ยังใช้เวลาว่างสอนหนังสือภาษากะเหรี่ยงให้แก่เด็กๆ ด้วย

“การทำไร่หมุนเวียนนี้  เราจะต้องทำพิธีขอที่ดินจากแม่ธรณีก่อน  โดยใช้ไม้ฟาดเสี่ยงทาย  บางปีทำได้  บางปีก็ทำไม่ได้  พอหยอดข้าวและเกี่ยวข้าวแล้ว  เราจะปล่อยให้ดินฟื้นตัว  แล้วเปลี่ยนไปทำไร่หมุนเวียนในแปลงอื่น  ประมาณ 7 ปี  เราจะกลับมาทำไร่ในแปลงเดิมอีก  ต้องถางหญ้า  เผาหญ้า  เผาซากไร่  หญ้าก็จะกลายเป็นปุ๋ย  ดินก็จะสมบูรณ์  หมุนเวียนอย่างนี้  ไม่ใช่ทำไร่เลื่อนลอย”  ลุงอังคารบอก

ในปี 2515 ทางราชการประกาศเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง  ครอบคลุมพื้นที่อำเภอลานสัก  บ้านไร่  และห้วยคตในจังหวัดอุทัยธานี  แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านมากนัก   ต่อมาในปี 2528 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควายทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นเริ่มได้รับผลกระทบ   ในปี  2535-2545 มีการประกาศพื้นที่สวนป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้านอีก  มีการประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำไร่ในเขตสวนป่าที่ชาวบ้านเคยทำไร่หมุนเวียน 

สวนป่าที่ประกาศและปลูกตั้งแต่ปี 2535 ทับไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน

ลุงอังคารบอกว่า  ผลกระทบที่เกิดขึ้น  ทำให้ชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน  เพราะหากเข้าไปทำกินจะโดนเจ้าหน้าที่จับข้อหาบุกรุกป่า  บางครอบครัวต้องอาศัยพื้นที่ว่างในซอกเขาเนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ปลูกข้าว  แต่ไม่พอกิน  และต้องทำไร่แบบหลบๆ ซ่อนๆ  เพราะกลัวเจ้าหน้าที่จะมาจับ   ต้องออกไปทำไร่แต่เช้ามืด  พอพระอาทิตย์ขึ้นจึงกลับเข้าบ้าน  เพราะเจ้าหน้าที่จะออกตรวจพื้นที่ตอนช่วงสายๆ

เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน  ไม่มีรายได้  ไม่มีข้าวและอาหาร ชาวกะเหรี่ยงจึงต้องไปกู้ยืมเงินจากพ่อค้าพืชไร่  ดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาทต่อเดือน  และต้องเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวแบบวิถีดั้งเดิมมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี  เช่น  มันสำปะหลัง ข้าวโพด    ต้องซื้อเครื่องฉีดพ่นสารเคมี  จ้างรถไถ  ฯลฯ  ปลูกเพื่อขายเอาเงินมาซื้อกินและใช้หนี้ ประเพณีดั้งเดิมหายไป  เช่น  พิธีทำขวัญข้าว  ไหว้แม่โพสพ  กินข้าวใหม่ ฯลฯ  เพราะไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว

ช่วงปี 2557-2560 สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด  เนื่องจากมีการประกาศเขต ‘วนอุทยานห้วยคต’ เมื่อ 23 กรกฎาคม 2557 เนื้อที่ 15,530 ไร่  ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นอีกครั้ง  โดยทางราชการจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ดินใหม่ในอำเภอลานสัก ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานปลูกไม้เก่า  ผืนดินไม่สมบูรณ์  ภายในเดือนเมษายน 2560  ในระหว่างนี้มีชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุมดำเนินคดี 1 รายในข้อหาบุกรุกป่า  ต่อมาศาลได้ยกฟ้อง  เพราะพิจารณาเห็นว่าชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า  (รวมแล้วมีชาวบ้านโดนจับหรือถูกยึดที่ดินทำกินประมาณ 11 ราย)

“เมื่อก่อนตอนผมเป็นเด็ก  ตื่นแต่เช้าจะออกไปทำไร่กับพ่อแม่  เดินไปร้องเพลงกันไป  เวลาทำไร่  หนุ่มๆ จะร้องเพลงจีบสาว  ชีวิตผมตอนนั้นมีความสุขมาก  แต่เมื่อมีการประกาศเขตป่า  ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำไร่หมุนเวียน  ตอนนั้นชีวิตผมและคนอื่นๆ ไม่มีความสุขแล้ว”  ลุงอังคารเล่าย้อนอดีต  และบอกว่า  ตอนนั้นลุงมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในไร่เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่  แต่ห่วงลูกหลานที่ยังเล็กอยู่จึงยุติความคิดนั้น  และหันมาต่อสู้ด้วยการรวมตัวกันร้องเรียนเพื่อทวงความยุติธรรมต่อทางราชการ

ชาวกะเหรี่ยงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวมากมาย  ตั้งแต่การเลือกหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่ต้องทำพิธีขอจากพระแม่ธรณี  การหยอดข้าวไร่  เก็บเกี่ยว  พิธีกินข้าวใหม่  และเก็บเมล็ดข้าวไว้ทำพันธุ์ 

เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือ : ใช้แนวทางมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553

การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นไม่ได้โดดเดี่ยว  เพราะยังมีที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  จังหวัดอุทัยธานี ฯลฯ   ชาวกะเหรี่ยงได้รวมตัวกันร้องเรียนตั้งแต่อำเภอถึงจังหวัด  เมื่อไม่ได้ผลจึงได้รับคำแนะนำให้ไปร้องเรียนต่ออนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ในเดือนเมษายน 2560 ก่อนที่จะถึงกำหนดให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายออกจากบ้านภูเหม็นเพียงไม่กี่วัน

หลังจากนั้นปัญหาจึงเริ่มคลี่คลาย  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแก้ไขปัญหาจำนวน 2 ชุด  โดยใช้ ‘มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553  เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ ที่มีอยู่แล้วมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา  ใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษ  ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นจึงได้รับการแก้ไข

(มติ ‘ครม. 3 สิงหาคม 2553’  มีที่มาจากคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’  โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น  1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว   2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ  เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้)

เดือนสิงหาคม  2562  ชาวกะเหรี่ยงและทีมที่ปรึกษาได้ประชุมกับหัวหน้าอุทยานห้วยคตเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกัน  จนได้ข้อตกลงว่า  อุทยานฯ จะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม.ดังกล่าว รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  10,350 ไร่ 

หลังปัญหาที่ดินเริ่มคลี่คลายในเดือนธันวาคม 2563 ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553

อย่างไรก็ตาม  นอกจากข้อตกลงดังกล่าวในระดับพื้นที่แล้ว  ปัญหาที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นที่ถูกทางราชการประกาศเขตป่าทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยดั้งเดิม  รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่นๆ เช่น  จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี  ราชบุรี  เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ  ได้ถูกยกระดับไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย  โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้นำปัญหาดังกล่าวนี้ไปเจรจากับรัฐบาล (รวมกับปัญหาอื่นๆ เช่น  ปัญหาสิทธิมนุษยชน  ปัญหาชาวเล  ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. ปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ฯลฯ) โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา

สมบัติ  ชูมา  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  จังหวัดอุทัยธานี  ที่ปรึกษาชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  และผู้แทน P-Move  บอกว่า  การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อนและถูกทางราชการประกาศทับทั่วประเทศนั้น  ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย  โดยแต่ละชุมชน  แต่ละพื้นที่กำลังสำรวจข้อมูลปัญหาร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน  เช่น  จัดทำประวัติการอยู่อาศัยของชุมชน  หลักฐานการตั้งถิ่นฐาน  พื้นที่ที่ถูกทับซ้อน  จำนวนครัวเรือนผู้ที่เดือดร้อน  ความต้องการของชาวบ้าน  การจัดทำแผนที่ทำมือ  จับพิกัดด้วย GPS  สถานะทางกฎหมายของพื้นที่  ฯลฯ  เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อไป

ส่วนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นนั้น  หลังจากที่ทางวนอุทยานห้วยคตได้ตกลงจะกันพื้นที่ออกจากเขตวนอุทยาน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  10,350 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งจัดสรรเป็นพื้นที่ทำกิน  ทำไร่หมุนเวียน  หรือเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงนั้น  ขณะนี้ชาวบ้านกำลังร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่เคยทำไร่หมุนเวียน  ข้อมูลการทำกิน  การใช้ประโยชน์ที่ดิน  โดยใช้วิธีเดินสำรวจ  และใช้เครื่องมือจับพิกัด GPS  เพื่อนำมาจัดทำแผนที่ 

“เรากำลังทำข้อมูลเพื่อจำแนกว่าพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมรวม 10,350 ไร่นั้น  มีพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำไร่หมุนเวียน  ใครทำตรงไหน  บริเวณไหนเป็นพื้นที่ป่าชุมชน  เป็นพื้นที่สีเขียว  พื้นที่อนุรักษ์ลุ่มน้ำ  พื้นที่พิธีกรรมกะเหรี่ยง  เพื่อนำมาจับพิกัดและจัดทำเป็นแผนที่  และนำไปพูดคุยกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหา  ทั้งในระดับจังหวัด  และกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงภูเหม็น  เป็นการหาทางออกร่วมกัน  เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือ  โดยใช้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา และจะเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีปัญหาเหมือนกันต่อไป”  สมบัติอธิบาย

ร่วมกันเดินสำรวจพื้นที่เพื่อนำมาจัดทำแผนที่

ชาวภูเหม็นฟื้นฟูวิถีชีวิต  สิ่งแวดล้อม  สร้างบ้าน  สร้างอาชีพ

“เมื่อเมฆฝนพัดผ่านไป  ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ”  ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นก็เช่นกัน  เมื่อปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเริ่มคลี่คลาย  พวกเขาได้จัดทำแผนงานต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชน  โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และคุณภาพชีวิตประชาชนที่มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ พอช. ให้การสนับสนุน

โดยในปี 2565  ที่ผ่านมา  พอช. ได้อนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต  3 ตำบล  รวม  791 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 37.1 ล้านบาทเศษ  มีโครงการที่สำคัญ  เช่น  ซ่อมสร้างบ้าน  สร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร  ส่งเสริมอาชีพปลูกไม้ผล  ผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด  ไก่   ฯลฯ  เพื่อให้มีแหล่งอาหาร  มีรายได้ 

รัตนา  ภูเหม็น  แกนนำกลุ่มสตรีกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  บอกว่า  เฉพาะที่บ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง  มีการจัดทำแผนงานพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ  โดย พอช. สนับสนุน  งบประมาณรวม 1 ล้านบาทเศษ  มีโครงการที่ทำไปแล้ว  เช่น  ประปาภูเขา  โดยใช้เครื่องสูบน้ำจากบ่อขึ้นไปใส่ในถังเก็บน้ำบนเนินเขาเพื่อใช้ทำเกษตรในหน้าแล้ง  การปลูกป่า  สร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกพะยูง  ประดู่  มะค่า  ยางนา  เต็งรัง  ฯลฯ เนื้อที่ประมาณ 1 พันไร่    อนุรักษ์แหล่งน้ำ  สร้างฝายชะลอน้ำ  ทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในห้วยภูเหม็น  ส่งเสริมวัฒนธรรม  สอนภาษากะเหรี่ยงเขียน-อ่านให้แก่เยาวชน  สอนการฟ้อนรำ  การเปิดตลาดนัดกะเหรี่ยงให้พี่น้องเอาสินค้าเกษตร  ผ้าทอ  เครื่องจักสานมาขาย

เด็กๆ สืบทอดการดูแลป่าไม้และแหล่งน้ำ

“นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมบ้านให้ครอบครัวที่บ้านเรือนผุพัง รวม 51 หลัง  ตอนนี้ซ่อมเสร็จไปแล้ว 37 หลัง  หลังนึงไม่เกิน 2 หมื่นบาท  ถ้าสร้างบ้านใหม่ 4 หมื่นบาท  เจ้าของบ้านต้องออกเงินเพิ่ม  แต่มีช่างชุมชนมาช่วยกันสร้าง  ช่วยประหยัดเงินได้  และที่กำลังสร้างคือพิพิธภัณฑ์ชุมชน  เพื่อเอาข้าวของ  เครื่องใช้  เสื้อผ้าชาวกะเหรี่ยง  รวมทั้งรูปถ่ายเก่าๆ ในหมู่บ้านเอามาไว้โชว์ในพิพิธภัณฑ์ด้วย”  รัตนาบอก

นอกจากการสนับสนุนของ พอช.แล้ว  รัตนาบอกว่า  ยังมีหน่วยงานอื่นๆ  เข้ามาสนับสนุนชุมชนด้วย  เช่น  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จะสนับสนุนด้านอาชีพและสร้างแหล่งอาหาร  ส่งเสริมการเลี้ยงปลา  เลี้ยงหอย  (ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นจะนำหอยน้ำจืด  เช่น หอยขม  นำมาทำอาหารเพื่อใช้ในพิธีกรรม)  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรส่งเสริมการอนุรักษ์ขนมกะเหรี่ยง  เช่น  มิงสิ  (ข้าวเหนียวนึ่งนำมาตำในครกมองใส่งาดำและเกลือ แล้วปั้นเป็นก้อน  หรือนำมาย่าง  ทอด  เพิ่มรสชาติด้วยการกินกับน้ำผึ้งป่า)  โดยจะทำขนมมิงสิสำเร็จรูปบรรจุกล่องพร้อมน้ำผึ้งป่าจำหน่ายในงานออกบูธต่างๆ

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  บอกทิ้งท้ายว่า  “เราอยู่แบบกะเหรี่ยง  มีกฎ  มีจารีต  มีวัฒนธรรม  ก่อนที่จะมีกฎหมายห้ามเราอยู่ในป่า   เรามีภูมิปัญญาในการอยู่กับป่า  อยู่กับน้ำ  เราจะทำไร่ตรงไหน  เราก็ต้องขอที่ดินกับแม่ธรณี  ตรงไหนทำไม่ได้  เราก็ไม่ทำ  พอหยอดข้าวแล้ว  เราจะต้องทำพิธีขอให้แม่ธรณีดูแลข้าว  ไม่ให้เพลี้ย  แมลงมาทำลาย  เราดูแลดิน  น้ำ  ป่า  เหมือนกับเป็นร่างกายของเรา  ดินคือร่างกาย  น้ำคือเลือด  ป่าคือวิญญาณ  ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งเราก็อยู่ไม่ได้  เราจึงต้องเคารพดิน  น้ำ  ป่า”

ทุกวันนี้ลุงอังคารมีความสุขตามวิถีชาวกะเหรี่ยง  เพราะไม่ต้องทำไร่แบบหลบซ่อนเหมือนแต่ก่อน

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล