จากพงไพรและสายน้ำ...สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ตำบลน้ำตก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

ที่มาของชื่อตำบล...ไหลรินฉ่ำเย็นยังประโยชน์แก่ผู้คน  แผ่นดิน  พืชผล  และสัตว์น้อยใหญ่ (ภาพจาก อบต.น้ำตก)

ห่างจากตัวอำเภอทุ่งสงไปทางทิศตะวันออกราว 30 กิโลเมตร  ตำบลน้ำตกซุกซ่อนตัวเองอยู่ที่นั่น  รายล้อมไปด้วยแมกไม้และทิวเขา  ที่นี่จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารน้อยใหญ่  บ้างลดหลั่นไหลลงมาจากโตรกผาเป็นน้ำตกใสเย็น  รินหลั่งลงสู่พื้นล่าง  ผ่านเรือกสวนและท้องทุ่ง  สร้างความชุ่มฉ่ำให้แก่ผืนดินและพืชผล  ผู้คนต่างอยู่เย็นเป็นสุขมาเนิ่นนาน  แม้ว่าจะห่างไกลจากแสงสีและความเจริญ

“เมื่อก่อนยังไม่มีถนน  ไม่มีรถยนต์  ถ้าจะเข้าไปในตัวอำเภอทุ่งสงก็ต้องเดินไป  ใช้เวลาวันนึง  ต้องนอนค้างที่ทุ่งสง  ตอนเช้าทำธุระหรือซื้อข้าวของเสร็จแล้วจึงเดินกลับ”  ป้าสุภรณ์  ไชยเดช  วัย 64 ปี  ผู้อาวุโสแห่งบ้านวังทน  ฉายภาพการสัญจรไปมาของผู้คนตำบลน้ำตกในอดีต 

“ตอนปี 2523  ผมมาแต่งงานที่นี่  ผมและญาติต้องเดินลัดเลาะจากอำเภอชะอวดแห่ขันหมากมา  ระยะทางประมาณ 30 กิโลฯ พอใกล้จะถึงบ้านป้าสุภรณ์จึงมาเปลี่ยนชุด  เพราะสมัยนั้นถนนหนทาง  รถราก็ยังไม่มี  สัตวป่าต่างๆ ยังชุกชุม  มีเก้ง  มีกวาง  ตอนนี้กวางก็ยังมีอยู่เยอะ เพราะพื้นที่ของตำบลติดกับอุทยานเขาปู่เขาย่า”  ลุงประภาส  ไชยเดช สามีป้าสุภรณ์ช่วยเสริม

“เมื่อก่อนชาวบ้านจะปลูกยางเป็นหลัก  ปลูกข้าวไร่บ้าง  เพราะที่ดินที่ราบมีน้อย  สมัยคุณตาคุณยายจะปลูกมังคุดเอาไว้แลกข้าวของบ้าง  ตอนนี้ยังมีหลายต้น  อายุเป็นร้อยปี”  ป้าสุภรณ์ชี้ให้ดูต้นมังคุดสูงใหญ่จนต้องแหงนคอมอง  เพราะแต่ละต้นสูงเกือบ 30  เมตร  และกลายเป็นร่มเงาที่เหมาะแก่การสร้างที่พักรองรับผู้มาเยือนตำบลน้ำตก

ป้าสุภรณ์-ลุงประภาส  ผู้บุกเบิกสร้างที่พักรองรับนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันตำบลน้ำตก  อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช  มีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร  มี 6 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 3,400 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร  ปลูกยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  สวนผลไม้  ทุเรียน  มังคุด  ลองกอง  เลี้ยงสัตว์  ค้าขาย  ฯลฯ  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าและป่าสงวนแห่งชาติ

ทุนธรรมชาติ-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน

นอกจากสภาพป่าเขา  น้ำตก  ลำธารที่ยังคงความสมบูรณ์ดูร่มรื่นชื่นฉ่ำแล้ว  ตำบลน้ำตกยังมีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายอย่าง  เช่น  ถ้ำพระ  ถ้ำถ้วย  ฯลฯ  มีพระพุทธรูปศิลปะสมัยอาณาจักรศรีวิชัยอายุหลายร้อยปี  มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ  เช่น  ถ้วย  ชาม  จาน  มีด  กริช ฯลฯ  ปัจจุบันนำมารวบรวมและจัดแสดงไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ

ความงดงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ (ภาพจาก อบต.น้ำตก)

สัมพันธ์  หนูอินทร์แก้ว  แกนนำการพัฒนาในตำบล  ผู้สวมหมวกหลายใบ  เพราะเป็นทั้งกำนัน  ประธานกลุ่มท่องเที่ยว  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำตก  ฯลฯ  บอกว่า  ด้วยต้นทุนต่างๆ ในตำบลที่มีอยู่  ทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ  ประวัติศาสตร์   ศิลปะ  วัฒนธรรมท้องถิ่น  ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้าน  ตำบลน้ำตกจึงได้รับการส่งเสริมจากกรมการพัฒนาชุมชนและ อบต.น้ำตกให้จัดทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 

โดยมีโปรแกรมการท่องเที่ยวหลายอย่าง  หลายวัน  หรือจะเที่ยววันเดียวก็ได้  เช่น  น้ำตกธารทิพย์  น้ำตกธาราวารินทร์  มีน้ำตลอดปี  แต่น้ำจะมีมากในช่วงฤดูฝน  มีวังน้ำมากถึง 32 วัง  32 บรรยากาศ นักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำ  แช่น้ำ  เพื่อผ่อนคลาย  นั่งพักผ่อน  กินอาหาร  กางเต๊นท์ได้

ล่องแพไม้ไผ่ในลำธาร  พายเรือคายัคลอดถ้ำ  ชมถ้ำ  เดินป่า  ชมป่าต้นน้ำ ดูพระอาทิตย์ตกดินที่ยอดควนหิว   แค้มป์ปิ้ง  ทำอาหารกลางป่า กิจกรรมรอบกองไฟ  ส่องสัตว์

ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น  การทำสมุนไพร  ทำทุเรียนกวนโบราณ  ทำผ้ามัดย้อม  เครื่องจักสาน  จากไม้ไผ่  ต้นคลุ้ม  กินอาหารพื้นบ้าน  นวดแผนโบราณ  ชมรำมโนราห์  ฯลฯ

สัมพันธ์  หนูอินทร์แก้ว  (ที่ 6 จากซ้ายไปขวา)

คุณตาบุญให้ ไผ่สร้างชีวิต

คุณตาบุญให้  อินทร์อักษร  วัย 80 ปี  ช่างทำเครื่องจักสานฝีมือเยี่ยมของบ้านน้ำตก  มีผล งานที่เด่นคือ   คันธนูไม้ไผ่แบบโบราณ  โดยใช้กระสุนดินเหนียวปั้นเป็นลูกกลมๆ   คุณตาบอกว่าในอดีตชาวบ้านจะใช้ล่าสัตว์ขนาดเล็ก  หรือใช้ไล่นกหนูที่มาทำลายพืชไร่  ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว  แต่คุณตายังทำเพื่อเป๋นสินค้าที่ระลึกหรือของสะสมขายนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ 

คุณตาเล่าว่า  แกเริ่มทำเครื่องจักสานอย่างจริงจังหรือทำเป็นอาชีพ  เมื่อตอนอายุได้ราว 60 ปี  เพราะมีเวลาว่างและไม่อยากอยู่แบบหายใจทิ้งไปวันๆ   แต่ละวันคุณตาจะหยิบไม้ไผ่มาเหลาและประดิษฐ์เป็นคันธนูได้ประมาณ 4-5 คัน  ราคาขายย่อมเยาเพียงคันละ 200 บาท  เคยนำไปออกบูธที่เมืองทองธานี  กรุงเทพฯ  เอาไปขายประมาณ 300 คัน  ราคาคันละ 300 บาท  ขายดีจนหมดเกลี้ยง 

นอกจากนี้คุณตายังทำไม้กวาดจากไม้ไผ่  และเครื่องใช้อื่นๆ  ทำให้ได้ออกแรง  หยิบโน่น  ทำนี่เมื่อยก็พัก  ไม่ได้อยู่เฉยๆ  นั่งกิน  นอนกิน  เหมือนผู้สูงอายุทั่วไป  คุณตาบุญไห้จึงดูแข็งแรงแม้อายุจะ 80 ปีแล้ว  เดินเหินยังคล่องแคล่ว  แถมยังมีรายได้อีกประมาณเดือนละ 2 - 3 พันบาท  หรือมากกว่านั้นหากมีงานออกบูธ  ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน  หากใครมาเยือนที่ตำบลน้ำตกต้องไม่พลาดที่จะแวะมาชมฝีมือคุณตาบุญให้ที่ ไผ่สร้างชีวิต’

คุณตาบุญให้กับคันธนูแบบโบราณใช้ดินเหนียวปั้นกลมเป็นลูกกระสุน

โฮมสเตย์บ้านทองคำและจิบกาแฟที่ หลงป่าคาเฟ่

นอกจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะทำให้ผู้สูงอายุอย่างคุณตาบุญไห้มีรายได้  มีงานทำแล้ว  ยังทำให้ชาวบ้านตำบลน้ำตกหลายครอบครัวมีอาชีพรองรับ  เช่น  ป้าสุภาภรณ์และลุงประภาส  ซึ่งทำที่พัก  อาหาร  และการท่องเที่ยวทางน้ำ  เช่น  ล่องแพ  พายเรือคายัค   รองรับนักท่องเที่ยว  ใช้ชื่อว่า บ้านสวนทองคำโฮมสเตย์’

ป้าสุภรณ์  บอกว่า  เริ่มทำที่พักตั้งแต่ปี 2561  หลังจากที่มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ตอนแรกใช้ยุงข้าวเก่าที่สร้างตั้งแต่สมัยคุณตาคุณยายนำมาปรับปรุงเป็นห้องพัก   เมื่อเริ่มมีคนมาท่องเที่ยว  ในปีต่อๆ มา  จึงขยับขยายสร้างเป็นบ้านไม้ใต้ต้นมังคุด  ห้องพักใกล้ลำธาร  และที่พักแบบเต๊นท์  รองรับนักท่องเที่ยวได้ 20-30 คน

“ป้าคิดค่าที่พักและอาหารไม่แพง  ถ้าเป็นห้องพักราคาคนละ 600 บาท  มีอาหารมื้อเย็น  และข้าวต้มมื้อเช้า  พร้อมกาแฟ  ถ้านอนเต๊นท์ราคาคนละ 500 บาท  มีอาหารเหมือนกัน  มื้อเย็นจะเป็นอาหารพื้นบ้าน  มีแกงส้ม แกงไก่ใส่หยวกกล้วย ผักเหรียงผัดไข่  ปลาทอด  น้ำพริกกะปิ  ผักสด  ยำผักกูด  เลือกได้ 3-4 อย่าง  บางวันอาจจะมีกบภูเขา  ตัวใหญ่ เนื้อแน่น เป็นกบธรรมชาติจับได้จากริมน้ำ”  ป้าสุภรณ์บอกถึงเมนูเด็ด

นอกจากนี้ยังมี หลงป่าคาเฟ่’ จัดเป็นมุมกาแฟสด  มีมุมถ่ายรูป  จิบกาแฟ  มีรถจักรยานให้เช่า  มีเรือคายัคพายเล่นได้ทั้งวันไม่คิดค่าบริการ  ถ้าเป็นช่วงฤดูผลไม้  ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  จะมีทุเรียนและมังคุดจากสวนให้กินฟรีไม่อั้น

เต๊นท์พักกลางโอบกอดของธรรมชาติ  พร้อมอาหาร 2 มื้อ  ราคาคนละ 500 บาท/วัน

เตรียมจัดงาน วันทุเรียนหล่น ดึงนักท่องเที่ยว

สัมพันธ์  หนูอินทร์แก้ว  ในฐานะประธานกลุ่มท่องเที่ยวตำบลน้ำตก  บอกว่า  รายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน  จากที่พักและบริการต่างๆ  ทางกลุ่มตกลงกันว่าจะหักรายได้จำนวน 1 เปอร์เซ็นต์เข้ากลุ่มเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการและนำมาสนับสนุนการท่องเที่ยวในตำบล

“ในเดือนกรกฎาคมปีนี้  เป็นช่วงผลไม้ในตำบลออกผลผลิต  มีทุเรียนหมอนทอง  ทุเรียนพื้นบ้าน  มังคุด  ลองกอง  เราจึงคิดแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในตำบล  โดยจะจัดงาน วันทุเรียนหล่น’ ครั้งแรกขึ้นมา  เป็นทุเรียนพื้นบ้าน  เมื่อสุกแล้วทุเรียนจะหล่นจากต้นตามธรรมชาติ  ไม่ต้องสอยหรือตัดลงมา  กินได้ทั้งแบบทุเรียนสุก  หรือเอาไปกวนแบบโบราณ  ทำเป็นทุเรียนกวนห่อกาบหมาก  เก็บไว้กินได้นาน  และจะมีการประกวดทุเรียน  ประกวดผลไม้อื่นๆ  และมีอาหารพื้นบ้านให้กินด้วย”  ประธานกลุ่มท่องเที่ยวตำบลน้ำตกบอกถึงแผนงานที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางปีนี้

พายเรือคายัคชมเถื่อนถ้ำที่ยังบริสุทธิ์ (ภาพจาก อบต.น้ำตก)

พอช.หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย-ท่องเที่ยวชุมชน

ตั้งแต่ปี 2562  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.’  ได้สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่มีรายได้น้อยในตำบลน้ำตก  ตามโครงการ บ้านพอเพียงชนบท’ งบประมาณ  500,000 บาท  เพื่อซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่ยากจน  สภาพทรุดโทรม  ประมาณ 40 หลัง (งบไม่เกินหลังละ 20,000 บาท)

ในปี 2565 ที่ผ่านมา  พอช. ได้ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนตำบลน้ำตก  ตามโครง การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชนบท  โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 60,000 บาทให้แก่สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำตกเพื่อใช้จัดกิจกรรมต่างๆ

เช่น  จัดอบรมนักเล่าเรื่องชุมชนหรือมัคคุเทศก์ชุมชน  พรานนำทาง  อบรมการแปรรูปผลไม้และสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า  เช่น  ทำทุเรียนกวน  มังคุดกวน  ทำสบู่เปลือกมังคุด  สบู่ขมิ้น  มะขาม  มีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรีย  บำรุงผิวพรรณ  ฯลฯ 

ผู้ที่สนใจอยากจะมาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ชิมอาหารพื้นบ้าน...สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สัมพันธ์  หนูอินทร์แก้ว  ประธานกลุ่มท่องเที่ยวตำบลน้ำตก  โทร 0811409755

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ถ้ำพระพุทธสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับพระธาตุเมืองนคร     

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ