พอช.จับมือมูลนิธิ ttb เซ็น MoU.พัฒนาขบวนองค์กรชุมชน ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน-ต่อยอดการผลิตสินค้า-ขายออนไลน์

การลงนามบันทึกความร่วมมือ และผู้แทนชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม workshop

พอช. / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จับมือมูลนิธิ ttb เซ็น Mou. ด้านการ “พัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก” โดยจะร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามความต้องการของชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุก เพาะเห็ด ทำแหนม ฯลฯ นำผลิตภัณฑ์มาแปรรูป สร้าง แบรนด์สินค้า พัฒนาช่องทางการตลาด การขายสินค้าทางออนไลน์ จัดทำบัญชี ฯลฯ โดยมี 26 ชุมชนที่สนใจเข้าร่วม เริ่มโครงการเมษายนนี้ ขณะที่ชุมชนบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้เตรียมเสนอแผนจัดทำตลาดนัดชุมชนสร้างอาชีพหลังสร้างที่อยู่อาศัยใหม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (10 มีนาคม) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง พอช. กับ มูลนิธิ ttb ด้านการ “พัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก” โดยมีผู้บริหาร พอช. ผู้แทนมูลนิธิ ttb ผู้แทนชุมชนในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก จำนวน 26 ชุมชน ประมาณ 100 คนเข้าร่วมงาน

มูลนิธิ ttb ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
ในช่วงเช้ามีการจัดกิจกรรม work shop เพื่อให้ผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าใจบทบาทของมูลนิธิ ttb และนำเสนอประสบการณ์ บทเรียนการสนับสนุนชุมชนของมูลนิธิ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิได้เข้าไปสนับสนุนชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในด้านต่างๆ รวม 4 ชุมชน

เช่น ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาธร กรุงเทพฯ ทำแหนมหมู ขนมนางเล็ด ชุมชนบ้านมั่นคงใจเดียวกัน ส่งเสริมการเพาะเห็ด แปรรูปเห็ดจำหน่าย ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุกและนำมาแปรรูปเป็นปลาดุกเส้น ปลาดุกแดดเดียว โดยมูลนิธิ ttb ได้เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าด้านต่างๆ เช่น สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการขายทางออนไลน์ ออกแบบโลโก้ การตั้งราคา การจัดทำบัญชี ฯลฯ

‘แหนมกระดูกอ่อน’ จากชุมชนสวนพลู ที่มูลนิธิ ttb เข้าไปส่งเสริมเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวชุมชนทั่วประเทศคือ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการสร้างทุนชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มีการจัดสวัสดิการในชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน ฯลฯ

“เมื่อมีมูลนิธิ ttb เข้ามาช่วยสนับสนุนต่อยอดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของพี่น้อง ตามความต้องการของชุมชน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่พี่น้องจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยวันนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้น และต่อไปอาจจะนำเยาวชนในชุมชนมาร่วมเรียนรู้ กับมูลนิธิ เพื่ออนาคตจะได้เป็นอาสาสมัครไปพัฒนาชุมชนในด้านเศรษฐกิจ เพราะชุมชนต่างๆ มีสินค้า มีผลิตภัณฑ์ มีอาหารที่มีฝีมือมากมาย แต่จะช่วยกันต่อยอดพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้” รองผอ.พอช.กล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิ ttb (ttb foundation) เป็นมูลนิธิของธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) มีโครงการที่สำคัญ คือโครงการ ‘ไฟ-ฟ้า’ (fai-fah for Communities) โครงการแห่งการให้ที่ยั่งยืน มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการจุดประกาย ส่งเสริมเยาวชนและชุมชน เช่น ส่งเสริมการศึกษาเยาวชนผ่านทุนการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า ช่องทางการตลาด ฯลฯ

ผู้เข้าร่วมงานจาก 26 ชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก

พอช.-มูลนิธิ ttb ร่วมลงนาม 5 ด้าน
ส่วนการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการ “พัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก”ระหว่างมูลนิธิ ttb กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในวันนี้ มีนางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน มูลนิธิ ttb และนางสาวสุมล ยางสูง ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นผู้แทนร่วมลงนาม มีสาระสำคัญความร่วมมือ ดังนี้

1.เพื่อจุดประกายให้คนในชุมชนทุกเพศวัย และองค์กรชุมชน ร่วมกันส่งเสริมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

2.เพื่อปลุกพลังอาสาสมัคร ttb เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้นำองค์กรชุมชน ได้เข้าร่วมในการลงมือ เปลี่ยนชุมชน ผ่านกิจกรรม fai-fah for Communities ให้ชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

3.พัฒนาและต่อยอดแนวทางการ “ให้คืน” สู่สังคม ด้วยการส่งต่อพลังแห่งการ “ให้” โดยมีส่วนร่วมจากอาสาสมัคร ttb ผ่านมูลนิธิ ttb เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก ผ่านกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนให้มีการพัฒนาที่ยังยืน

4.นำองค์ความรู้ตามศักยภาพ ความถนัด และการเป็นอาสาสมัคร โดยเป็น “ผู้ให้” เพื่อตอบแทนชุมชนและสังคมให้ได้รับการพัฒนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

5.ร่วมกำหนดพื้นที่ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ตามความต้องการและตอบโจทย์ปัญหาที่เหมาะสมแต่ละชุมชน เช่น การจัดทำโลโก้ และสื่อประชาสัมพันธ์ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และช่องทางการขาย ให้ความรู้การทำบัญชีรับ-จ่าย การตั้งราคาสินค้า สอนการขายของผ่านออนไลน์ เป็นต้นการลงนามบันทึกความร่วมมือโดยผู้แทน พอช. (ที่ 2 จากซ้าย) และผู้แทนมูลนิธิ ttb (ที่ 4 จากซ้าย)

26 ชุมชน กทม.-ตะวันออกสนใจร่วมโครงการ
ในการจัดกิจกรรมวันนี้ มีผู้แทน 26 ชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก รวม 70 คนที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop เช่น ชุมชนร่วมสามัคคี เขตวังทองหลาง ชุมชนวัดฉัตรแก้ว เขตบางพลัด กลุ่มออมทรัพย์บ้านร่มเย็น เขตบางกะปิ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กลุ่มผลิตภัณฑ์และท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดระยอง ฯลฯ โดยมีการฝึกการวิเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ในชุมชน การแก้ไขปัญหาชุมชน ปัญหาเศรษฐกิจ การส่งเสริมอาชีพ สิ่งที่ต้องการพัฒนา ฯลฯ

ทั้งนี้หลังจากที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้แล้ว ชุมชนที่มีความพร้อมและสนใจทั้ง 26 ชุมชนจะต้องเสนอความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ ขณะที่มูลนิธิ ttb จะพิจารณาชุมชนที่มีความเหมาะสม เช่น 1.ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน 2.ชุมชนมีความต้องการพัฒนาความรู้ พัฒนาด้านทักษะอาชีพ ด้านการจัดทำบัญชี ฯลฯ 3.ชุมชนมีผู้ประสานงาน และมีความพร้อมให้อาสาสมัครมูลนิธิเข้าไปทำงาน ส่วนชุมชนที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มูลนิธิจะส่งอาสาสมัครเข้าไปทำงาน ระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้
นายนิทัศน์ จันทสาร รองประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กล่าวว่า ชุมชนโดนไฟไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ขณะนี้กำลังเตรียมการสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงใหม่ เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์บริเวณซอยโปโล 7 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก รองรับชาวชุมชนจำนวน 76 ครอบครัว โดย พอช.สนับสนุนเรื่องสินเชื่อ ตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2566 นี้ รูปแบบจะเป็นอาคารสูงประมาณ 5 ชั้น ชั้นล่างสามารถค้าขายได้

“เราอยากเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิ ttb และ พอช. เพราะเมื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ เราจะใช้พื้นที่ด้านล่างจัดทำตลาดนัดชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ สามารถขายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าต่างๆ ได้ เพราะในซอยโปโล 7 มีคอนโดฯ ที่พัก สำนักงานอยู่หลายแห่ง จึงอยากจะให้มูลนิธิช่วยออกแบบเรื่องตลาดนัด และการนำสินค้าต่างๆ มาขาย” นายนิทัศน์บอกถึงแผนการพัฒนาด้านอาชีพของชาวชุมชนพัฒนาบ่อนไก่

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัฒกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมขน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

กระทรวง พม. จัดประชุมแก้ปัญหา “วิกฤตประชากร” ‘วราวุธ’ แนะเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน ชวนทุกหน่วยงานแก้ปัญหาไปด้วยกัน

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / ‘วราวุธ’ รมว.พม. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ