สังคมอย่างไทย..ในวันนี้ มีปรากฏการณ์ที่มองข้ามความจริงมิได้ว่า "วัยแรงงาน" ต้องรับภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
ประเด็น..การสร้างประสิทธิภาพในการรับมือต่อปัญหาที่หนีไม่พ้น เลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อสุขภาวะของทุกวัยในสังคม ซึ่งการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ โดยไม่ปล่อยให้ครอบครัวหรือผู้สูงอายุเผชิญปัญหาโดยลำพัง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นทางออก อีกทั้งยังเป็นหนทางในการพัฒนาเชิงรุกที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในชุมชนหลากหลายมิติทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม สภาพแวดล้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
มื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สานพลังภาคี สถาบันอาศรมศิลป์ คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เทศบาลเมืองไร่ขิง อสม. ผู้นำชุมชน จัด Workshop สร้างจิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนต้นแบบพัฒนานวัตกรรมเสริมกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงวัยคลายเหงา ช่วยกันปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษหน้าลานกว้างอาคารสูง 5 ชั้น ณ ชุมชนเอื้ออาทรสาย 5 จ.นครปฐม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.สานพลังสถาบันอาศรมศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท สวนสามพราน จำกัด และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมบูรณาการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานส่งเสริมสุขภาวะระดับพื้นที่” ที่ อ.พุทธมณฑล และ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 และ 5 สสส., ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาพ คณะที่ 5 สสส., ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการแผนคณะที่ 5 สสส., นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร อดีตหัวหน้าทีมโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS), อ.ชนวน รัตนวราหะ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ, ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณะกรรมการ สสส., ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมยาสูบ และภาคีเครือข่าย ตลอดจนตัวแทนจาก รพ.น่าน รพ.บ้านแพ้ว เข้าร่วมกิจกรรม
คณะทำงานนำชมพื้นที่สุขภาวะต้นแบบดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน ชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 นครปฐม ซึ่งมีอาคารสูง 5 ชั้น จำนวน 1,232 ห้อง ผู้อาศัย 2,200 คน มีแปลงปลูกผักพืชสวนครัวปลอดสารพิษ เป็นเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ว่างโดยแบ่งให้ผู้สูงอายุช่วยกันดูแลเป็นการคลายความเหงา เนื่องจากวัยแรงงานออกไปทำงานและเด็กไปโรงเรียน ทั้งนี้นำวัสดุเหลือใช้ อาทิ หม้อหุงข้าว ถังน้ำ ท่อน้ำ ใช้ประโยชน์ในการปลูกใบย่านาง พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง ต้นคูน ก้านจอง สาบเสือ พลูเหลือง ไผ่น้ำ มะระขี้นก ผักชีล้อม ผักชีน้ำ กล้วยเตี้ย ผลผลิตที่ได้ก็นำไปแบ่งกันรับประทาน
การเรียนรู้นวัตกรรมกลไกพื้นที่สุขภาวะควบคู่กับงานส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มุ่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อมและการมีส่วนร่วมตามบริบทของพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ทั้งรูปแบบชุมชนเมือง 6 แห่ง รูปแบบชุมชนชนบท 6 แห่ง พร้อมจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะครบวงจรในระดับชุมชนท้องถิ่น ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
“การมีสุขภาพดี การกินมีส่วนสำคัญ สสส.บูรณาการจัดการอาหารโดยชุมชนท้องถิ่น มียุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อ คือ 1.ขับเคลื่อนและบูรณาการแนวคิด 'ระบบอาหารที่ยั่งยืน' สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ 2.สานเสริมพลังภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ต่อยอดและขยายผลเชิงนโยบาย 3.ยกระดับต้นแบบงานอาหารเพื่อสุขภาวะในระดับพื้นที่ โดยมีจุดเน้นส่งเสริมโภชนาการเชิงรุก ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างความเข้มแข็งของประชาชน ให้เกิดความรอบรู้และเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร พัฒนาและใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสร้างสมรรถนะผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ผลิตอาหารที่ยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม บูรณาการภาคีเครือข่ายยกระดับทางด้านนโยบาย เพื่อสุขภาวะอย่างสมดุล ภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ชุมชนเอื้ออาทรพุทธมณฑลสาย 5 (หลังองค์พระ) จ.นครปฐม เป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะรูปแบบชุมชนเมือง ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกกลุ่มวัยได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีถึง 138 คนจากสมาชิกชุมชน มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน จัดกิจกรรมร้องเพลง เต้นรำ ทำบุญ ส่งเสริมอาชีพ รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางร่วมกับสาธารณสุขท้องถิ่นและจิตอาสาในชุมชน วางแผนดูแลผู้ป่วยติดเตียง พัฒนานวัตกรรมเครื่องยกตัวผู้ป่วย อุปกรณ์ลดการเกิดอุบัติเหตุ และระบบ Telehealth ดูแลผู้ป่วยทางไกล
สถาบันอาศรมศิลป์ พร้อมด้วยคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล และทีมงานชุมชนร่วมกันเก็บข้อมูลผู้อยู่อาศัยในบ้านเอื้ออาทรพุทธมณฑลสาย 5 การเคหะแห่งชาติ มีผู้สูงอายุ 138 คน และเข้าไม่ถึงข้อมูลอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ที่นี่เจ้าของอยู่เอง 80% ปล่อยให้เช่า 20% ผู้อยู่อาศัย 70% ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนและกองทุนช่วยเหลือปรับปรุงบ้าน การจัดทำกิจกรรมสุขภาวะในชุมชน
อ.ดร.กภ.เจนจิรา ธนกำโชคชัย นักกายภาพบำบัดชุมชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 มีนักกายภาพบำบัด ม.มหิดล เข้ามาทำงานชุมชน 7 ปี มี อสม.เป็นตัวเชื่อมนักภายภาพชุมชน อบรมหลักสูตร Care Giver มีภาระในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ภาวะที่เลือกไม่ได้ส่งผลต่อความเครียดในจิตใจ ดังนั้นการรับฟังปัญหาแบบเปิดใจกว้างจะทำให้รู้ลึกถึงปัญหาและหาทางแก้ไข
การลงพื้นที่เป็นครั้งคราวพบว่า ผู้สูงอายุที่ติดเตียงมีแผลกดทับจะมีปัญหาโรค NCDs ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยระบบ Telehealth ติดต่อกับผู้ดูแลผู้ป่วย มีการพัฒนากายอุปกรณ์ สร้างเครื่องยกตัวเพื่อดึงรั้งร่างกายท่อนบนของคนไข้ เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางจากนอนหงายเป็นการพับตัวมาด้านหน้า สำหรับทำความสะอาดและขับถ่าย ซึ่งแต่เดิมต้องใช้แรงงานของผู้ดูแลซึ่งสูงวัยแล้ว เพื่อลดปัญหาจากการยกตัวคนไข้ด้วยมือที่อาจจะทำให้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย หากปล่อยให้คนไข้ใช้ชีวิตอยู่ในท่านอนตลอดเวลา จะทำให้ปอดทำงานได้น้อยลงและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จำเป็นต้องปรับปรุงให้อยู่ในท่านั่ง เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอด และยังทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย เครื่องมือนี้จิตอาสาทำเองได้ด้วยสนนราคาอุปกรณ์ 5,000 บาท
การจัดทำแผ่นพับแบบพกพา “แค่มีกำลังใจก็ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง” ท่าเคลื่อนย้ายปลอดภัยในทุกสถานการณ์และตารางนัดหมาย ดูแลดี มีการฟื้นตัว จัดท่าให้ถูกต้อง นั่งเก่ง เร่งฟื้นตัว กลืนดี ไม่มีสำลัก ขยับข้อต่อ ป้องกันข้อติด ขาแข็งแรง ทรงตัวดี ไม่มีล้ม พร้อมคู่มือในการออกกำลังกายเบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ลำตัวและความสามารถในการทรงตัว ควรหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกมึนศีรษะ แน่นหน้าอก เมื่อมีอาการเหนื่อยมากจนไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้.
***
ชุมชนกำลังสำคัญ..ดูแลผู้สูงอายุ
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ.2573 โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปทำให้ประเทศไทยต้องรับมือการดูแลผู้สูงอายุ โดยคนวัยทำงานมีภาระต้องออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน ส่งผลให้ผู้สูงอายุในบ้านขาดคนดูแล โครงการรักเฒ่ากันมีเป้าหมายให้ “ชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม และเชื่อมประสานหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างเป็นองค์รวม” การสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุให้แก่ชุมชน โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การดูแลอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ ประหยัด แบ่งเบาภาระของภาครัฐ สามารถตอบโจทย์ปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Home Coming งานศิลป์ฮีลใจคนที่หมดไฟ
“หมดไฟ” เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ ผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไปอย่างต่อเนื่อง คนทำงานส่วนหนึ่งกำลังเผชิญช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ ท้อแท้ หมดไฟ มีความสุขจากการทำงานลดลง และทำงานได้ไม่ดี บางคนรู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน ถ้าปล่อยให้ตกอยู่ในภาวะ
“ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข” ตามไปดู"สามเณร"ออกแบบเมือง
เพราะ “โลกนี้คือห้องเรียน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สสส. นำโดย ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8
เด็กและครอบครัว..บนสองทางแพร่ง โจทย์รอ"รัฐบาลใหม่"สานฝันเป็นจริง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
สสส. ปลื้ม นวัตกรรม ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค’ มีผู้รับประโยชน์กว่า 7 ล้านคน เร่งสานพลัง รพ.น่าน เดินหน้าขยายผล ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ น่าน’
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ โรงพยาบาลน่าน อ.เมือง จ.น่าน คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะผู้บริหาร สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข”
‘คนไร้บ้าน’ เพิ่มโอกาสคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้
คนไร้บ้านหน้าใหม่มีเพิ่มขึ้น ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การไร้ที่อยู่อาศัย ชุมชนที่ถูกขับไล่จากการพัฒนาที่ดินหรือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของเมือง แม้กระทั่งคนถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง อาชีพไม่มั่นคง รายได้น้อย รวมถึงพอใจอยากมีชีวิตที่อิสระ หลากหลายเหตุ
สสส. สานพลัง ภาคี จ.น่าน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข”
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 ที่ทำการสถานีวิทยุเสียงใสเรดิโอ FM 100.75 MHz ต.ท่าวังผา อ.ท่าวังผา จ.น่าน คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8