แอปฯเช็คแล้งเครื่องมือช่วยเกษตรกรวางแผนเพาะปลูกป้องกันเสียหายจากภัยแล้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ 4 หน่วยงาน พัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เพื่อใช้ติดตามความเสี่ยงและความเสียหายของแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง มาวิเคราะห์ร่วมและแสดงผล เพื่อให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยหน่วยงานที่ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภาคการเกษตรของไทยประสบปัญหาจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก และเจ้าหน้าที่ต้องสำรวจ ตรวจสอบ ยืนยันความเสียหายของแปลงเกษตร ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ขาดข้อมูลเชิงประจักษ์และเทคโนโลยีที่สามารถช่วยตรวจสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ จึงเกิดการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ขึ้นเพื่อให้มีข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจประกาศภัยแล้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกในการสำรวจตรวจสอบความเสียหายของแปลงเกษตร ทำให้ลดภาระกำลังคนและระยะเวลาในการตรวจสอบ รวมถึงให้หน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำภาคการเกษตรมีฐานข้อมูลประกอบการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ตัวระบบของแอปฯจะช่วยวิเคราะห์ว่าในพื้นที่แปลงปลูกของเกษตรกร หรือผู้ใช้งาน มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหนกับภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้ โดยมีพื้นนำร่องการอบรมใช้งานแอปฯเช็คแล้ง จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี และกำแพงเพชร ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรในการทดลองใช้งานจำนวนมาก””อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

สำหรับวิธีการใช้งาน ให้ดาวโหลดแอปพลิเคชัน“เช็คแล้ง” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS หรืออีกแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ https://cropsdrought.gistda.or.th พร้อมลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยมีเมนูให้เลือกทั้งเช็คแปลงเกษตร เช็คแล้งรายจังหวัด และเช็คแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย โดยวิธีบันทึกข้อมูลในเมนูเช็คแปลงเกษตร  ให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานปฏิบัติดังนี้ 1. ให้ยืนอยู่ที่ ณ ตำแหน่งแปลงของตนเอง หรือ เลื่อนภาพแผนที่ดาวเทียมไปยังที่ตั้งแปลงของตนเอง 2. กดปุ่ม เพิ่มแปลง เพื่อวาดขอบเขตแปลงที่ต้องการ 3. วาดขอบเขตแปลง โดยเลื่อนหมุดไปยังขอบแปลง แล้วกดปุ่ม + ทำจนครบทุกมุมขอบแปลง และ 4. กดปุ่ม บันทึก, และกด OK เพื่อยืนยันรูปแปลง  ส่วนการบันทึกข้อมูลแปลงเพาะปลูก ให้ทำดังนี้ 1 ใส่ชื่อแปลง 2 เลือกชนิดพืช (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่น ๆ) 3 ถ่ายรูปแปลงหรือบันทึกภาพถ่ายแปลง ณ วันที่บันทึก หรือวันที่ใกล้เคียง (ไม่เกิน 2 – 3 วัน) และ4 กดปุ่ม บันทึก , และกด OK เพื่อยืนยันบันทึกข้อมูลแปลงเพาะปลูก

ส่วนเมนูเช็คแล้งรายจังหวัด สำหรับตรวจสอบความเสี่ยงภัยแล้งของแต่ละจังหวัด ให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งาน ปฏิบัติดังนี้ 1. กดเลือกจังหวัดที่ต้องการ และ2. กดเลือกอำเภอที่ต้องการ หากแสดงเป็นสีแดง แปลว่า พื้นที่นั้นเสี่ยงแล้งมาก หากแสดงเป็นสีเขียว แปลว่า พื้นที่นั้นไม่เสี่ยงแล้ง โดยเกษตรกร หรือผู้ใช้งาน สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้ง และวางแผนการเพาะปลูกได้

อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มดังกล่าว มีความแม่นยำสูงในพื้นที่ปลูกข้าวถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และยังคงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาแบบจำลองให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นทั้งในพื้นที่ปลูกข้าว และพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในโครงการระยะที่ 2 จะมีการขยายพื้นที่การดำเนินงานในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมการเกษตรดันฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตมะม่วงคุณภาพดี ส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ พัฒนาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ก้าวสู่สินค้า GI

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีรสชาติดี

โวอีกไม่เกินสัปดาห์จะเปิดโฉมขบวนการฮุบที่ดิน ส.ป.ก.

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยหลังเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมีนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

'ธรรมนัส' ขึงขัง ประกาศสงครามกับที่ดินเถื่อนในเขตปฏิรูปที่ดิน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ผมพร้อม "ทำสงครามกับที่ดินเถื่อน