แพทย์รามาฯ ห่วงเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม แนะรัฐบาลใหม่ เร่งให้ความรู้ ปราบปรามจริงจัง หวั่นซ้ำรอยอังกฤษพบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 3 เท่าจาก 8% เป็น 24% ในรอบ 5 ปี

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันมีเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% โดยสูบตามเพื่อนสูงถึง 92.2% และยังมีเยาวชนอีกจำนวนมากที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะกรณีบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอดใช้แล้วทิ้ง ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีสารเสพติดนิโคตินในปริมาณที่สูงถึงขั้นอันตราย และมีการจำหน่ายแบบผิดกฎหมายในไทย โดยเฉพาะชนิดที่สูบได้ถึง 5000 พัฟฟ์ มีนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดาถึง 20 ซอง หรือ 400 มวน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น เป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนโดยตรง ทั้งนี้ นิโคตินเป็นสารเคมีอันตรายเพียงแค่ 1 ซีซี ก็ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า จากรายงานการสำรวจแนวโน้มการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนจากชุดข้อมูลสำรวจเพื่อประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ (International Tobacco Control Policy Evaluation Project : ITC) โดยมหาวิทยาลัยวอร์เตอร์ลู แคนาดา สำรวจเยาวชนอายุ 16-19 ปี รวม 104,467 คน ใน 3 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2560-2565 โดยผลการศึกษาพบข้อมูลการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนอังกฤษที่พุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต ดังนี้ 1.อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาในเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นจาก 16% เป็น 21% 2.เยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาหนักขึ้นคือ สูบบุหรี่ธรรมดาอย่างน้อย 20 วันในรอบ 1 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 8.9% 3.อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนเพิ่มจาก 8% เป็น 24% 4.เยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าหนักขึ้นคือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 20 วันในรอบ 1 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 7.9% 5.เยาวชนมีแนวโน้มใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทุกประเภทเพิ่มขึ้นจาก 22% เป็น 36%

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า 6.เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 19% ขณะเดียวกันเยาวชนที่สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลง 7.บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสพติดนิโคตินหนักกว่าบุหรี่ธรรมดา พบสัดส่วนของเยาวชนที่ต้องสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอนถึง 47% 8.เยาวชนส่วนใหญ่ 80% สูบบุหรี่ไฟฟ้ารสชาติผลไม้ 9.เยาวชนที่รู้สึกว่าตัวเองติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 57% 10.อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอดใช้แล้วทิ้ง (disposable pod) เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 67% ทั้งนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากรัฐบาลอังกฤษมีท่าทีสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยมักจะถูกเครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ายกมาเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ซึ่งจากข้อมูลสำรวจชุดนี้พบว่าอัตราการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนอังกฤษมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงปี 2560-2565 ดังนี้

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถถูกจำกัดการใช้เฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ตามที่เครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามักกล่าวอ้าง แต่ถือเป็นสิ่งเสพติดใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่เยาวชนโดยตรง แม้ในอังกฤษที่ถือว่ามีมาตรการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายดีกว่าไทยก็ยังล้มเหลว ปัจจุบันนานาประเทศแสดงออกถึงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษ เพราะนอกจากจะทำให้ส่งผลกระทบทำให้เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังถูกเครือข่ายล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้านำไปอ้างเพื่อแทรกแซงนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ

“ในไทยมีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักยกอังกฤษเป็นข้ออ้างและบิดเบือนข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ในการเข้าให้ข้อมูลแก่ ฝ่ายบริหาร ผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบ พร้อมทั้งให้รับคำแนะนำจากองค์กรด้านสุขภาพระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนให้ไทยคงมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป พร้อมเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งสกัดการเข้าถึงของเยาวชนและเร่งให้ความรู้โทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง องค์การอนามัยโลกเพิ่งรายงานว่าปัจจุบันประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 37 ประเทศจาก 32 ประเทศเมื่อปี 2564” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่ให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้รัฐเก็บภาษีได้ เป็นข้ออ้างที่ถูกปฏิเสธโดยองค์การอนามัยโลก โดยยืนยันว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้ามีจำนวนเล็กน้อยไม่คุ้มค่ากับการที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องเข้ามาเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่มีขึ้นในอนาคต และหากต้องการภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้ามาก ๆ หมายถึงต้องมีเด็กและเยาวชนเข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากได้รายได้เพิ่มจากภาษีแนะนำว่าให้ไปขึ้นภาษีบุหรี่ธรรมดา รวมทั้งยาเส้นที่มีวางขายในตลาดอยู่แล้วจะดีกว่าเพราะนอกจากรายได้จะเพิ่มแล้วช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ด้วย
อ้างอิง
David Hammond, et al. Trends in smoking and vaping among young people: Findings From The ITC Youth Survey (April 2023)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พวงเพ็ชร' นำแถลงจับบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 1.2 หมื่นชิ้น

'พวงเพ็ชร' แถลงข่าวร่วม สคบ.จับกุมผู้ลักลอบขาย 'บุหรี่ไฟฟ้า' ใกล้สถานศึกษา โซน กทม. ยึดของกลางกว่า 12,000 ชิ้น มูลค่า 3.6 ล้านบาท ตะลึง!! พบแพ็คเกจลักษณะคล้ายโลโก้พรรคการเมืองดัง

สสส. สานพลัง ภาคี จ.สงขลา จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs”

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก แฉนายตำรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าให้ภรรยาขาย

22 ม.ค. 2567 - ที่โรงแรมฮิลตัน พัทยา จังหวัดชลบุรี พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่เฟสบุ๊คเพจหนึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลว่ามีตำรวจนำของกลางบุหรี่ไฟฟ้าไปให้ภรรยาขายทำกำไร ว่า

ผบ.ตร. สั่งสอบตำรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าส่งให้เมียขาย หากพบผิดฟันวินัย-อาญา

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่เฟซบุ๊กเพจหนึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลว่ามีตำรวจนำของกลางบุหรี่ไฟฟ้าไปให้ภรรยาขายทำกำไร ว่า กรณีดังกล่าวได้รายงานให้กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ทราบแล้ว