ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านกฎหมาย ซอฟต์พาวเวอร์ที่เอื้อมถึง

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า นอกจากภารกิจด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพกฎหมายของประเทศด้วยการขับเคลื่อนการนำแนวปฏิบัติด้านกฎหมายที่ดี (Good Regulatory Practices หรือ GRP) มาปรับใช้กับระบบกฎหมายของประเทศไทย

หนึ่งในแนวปฏิบัติ GRP สำคัญที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (หรือที่รู้จักกันในนาม “OECD”) แนะนำให้นานาประเทศยึดถือคือ การสร้างกลไกหรือการมีหน่วยงานกลางที่มีบทบาทการเป็น “ผู้คุมกฎ” หรือ “Oversight Body” ซึ่งสำนักงานฯ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กล่าวคือ เป็นหน่วยงานกำหนดขั้นตอนและวิธีการ รวมทั้งตรวจสอบการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เดิม เพื่อให้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่แก่ประชาชนคนไทยไม่เป็นภาระหรืออุปสรรคต่อการดำรงชีวิตเกินสมควรและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ

ในบทบาทการเป็น “Oversight Body” ทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้สำนักงานฯ ต้องทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ OECD เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบัน สำนักงานฯ มีความร่วมมือในการจัดทำบทประเมินคุณภาพกฎหมายไทย (Regulatory Policy Review) ร่วมกับ OECD ตามมาตรฐานของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ OECD (Country Programme) ระยะที่สอง นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในการปรับปรุงแก้ไขแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย (หรือที่ในวงการรู้จักกันในนามรายงาน RIA (Regulatory Impact Assessment)) เพื่อลดภาระของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เสนอกฎหมายโดยการกำหนดความเข้มข้นของการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายให้สอดคล้องกับผลกระทบของกฎหมายต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง ซึ่งภารกิจดังกล่าวคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงภายในปลายปี 2567 ที่จะถึงนี้

แม้ว่าการพัฒนากฎหมายจะดูเหมือนเป็นเรื่องภายในเฉพาะของแต่ละประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีบทบาททั้งในทางการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็น “hard power” ที่ประเทศคู่เจรจาต้องปฏิบัติตาม และในการสร้างการยอมรับและผูกมิตรไมตรีกับประเทศต่าง ๆ หรือ “soft power” ด้วย สำหรับบทบาทในลักษณะ hard power นั้น จะเห็นได้ชัดเจนจากการเจรจาในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ที่กำหนดให้การพัฒนากฎหมายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญสำหรับประเทศที่สนใจเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจดังกล่าวต้องร่วมกันตกลงและปฏิบัติตาม ในเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนหน่วยงานไทยในการเข้าร่วมเจรจาเพื่อให้การยกร่างความตกลงสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากฎหมายที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่ข้างต้น

นอกจากนั้น การพัฒนากฎหมายยังมีส่วนในการสร้าง soft power ให้แก่ประเทศไทยในฐานะผู้นำในภูมิภาคด้านการพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล สำนักงานฯ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ และบทเรียนที่ได้จากการพัฒนากฎหมายผ่านเครือข่ายการมีกฎหมายที่ดีของภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิก OECD หรือที่เรียกว่า ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Network (GRPN) ซึ่งสำนักงานฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายดังกล่าวมาแล้วเมื่อการประชุมครั้งที่ 5 ในปี 2562 และจะได้รับเชิญเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 8 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ การได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในฐานะเจ้าภาพและบอร์ดบริหารเครือข่าย แสดงให้เห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิก OECD ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ให้การยอมรับความเป็นผู้นำในเรื่องนี้ของประเทศไทย

Soft power ทางกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนไม่เคยได้ยิน แต่จะกลายเป็นพลังเงียบที่ช่วยเสริมสร้างอำนาจทางการต่อรองทางการค้าและเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอันมาก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของประชาชนได้เข้าสู่การดำเนินการผ่านโลกออนไลน์

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ