สภาผู้บริโภคยืนยัน “กสทช.”ต้องยุติควบรวม AIS - 3BB หลังพบราคาเน็ตแพงขึ้นถึง 22%

สภาผู้บริโภคยืนยัน กสทช. ต้องยุติการดำเนินการควบรวมบริการอินเทอร์เน็ตระหว่าง AIS และ 3BB ชี้ทำให้ราคาแพงขึ้น 9.5% - 22.9% ลั่นหาก กสทช. ยังปฏิเสธอำนาจตนเองในการยับยั้งการควบรวมครั้งนี้ ขอให้ “กสทช.” ลาออกและยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที 

กรณีประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤษ์ ได้จัดแถลงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ อ้างว่าไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ควบรวมบริการอินเตอร์เน็ตระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN กับบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB นั้น 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค  เห็นว่าเป็นการชี้นำ แสดงความไม่เป็นกลางของประธาน กสทช. ในกรณีดังกล่าว เสมือนหนึ่งว่าการพิจารณานี้ ประธานเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสิน มิใช่องค์คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมีกรรมการทั้งสิ้น 7 คน (รวมประธาน) ทั้งนี้การแสดงทีท่าดังกล่าวของประธาน กสทช. มีความขัดแย้งกับหลายภาคส่วนอาทิ ความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการจากสถาบันทีดีอาร์ไอ และองค์กรของผู้บริโภค ที่ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการพิจารณาเรื่องการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือการควบรวม และบริษัทที่แสดงความจำนงที่จะควบรวมเป็นอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ มิใช่อำนาจของประธาน กสทช. เพียงคนเดียวแต่อย่างใด 

“เป็นที่ชัดเจนว่าหากประธาน กสทช. ลุแก่อำนาจและพิจารณาว่ากรรมการ กสทช. ทั้งคณะ ไม่มีอำนาจอนุญาต ทำได้เพียงแค่รับทราบ จะเป็นการกระทำที่ซ้ำรอยจนสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกได้มีการรวบรัดสรุปมติ รับทราบ ให้ควบรวมค่ายมือถือยักษ์สองค่ายคือ ทรู และ ดีแทค เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ภายหลังได้ปรากฏผลความเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างเป็นที่ประจักษ์”

นางสาวสารี กล่าวอีกว่า การแสดงออกของประธาน กสทช.ที่เป็นการชี้นำ และไม่เป็นกลางเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เกิดการผูกขาดมากขึ้นในกิจการโทรคมนาคม สร้างการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยากที่จะแก้ไขได้ หาก กสทช. ปฏิเสธการทำหน้าที่กำกับกิจการโทรคมนาคม สภาผู้บริโภคจะขอเรียกร้องให้ท่านยุติการทำหน้าที่ และลาออกจากตำแหน่งโดนทันที

นอกจากนี้ การศึกษาของ 101 Policy Research ร่วมกับสภาผู้บริโภค พบว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB อย่างกว้างขวาง เช่น

(1) จะกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านแตกต่างกันตามพื้นที่ ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นระหว่าง 9.5% - 22.9% ในพื้นที่ที่ทั้งสองรายแข่งขันทับซ้อนกันและมีคู่แข่งน้อย

(2) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มพ่วงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งจะเหลือค่ายโทรศัพท์มือถือ 2 ค่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ คู่แข่งรายอื่นตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะแข่งขันได้น้อยลง ในอนาคตตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจเหลือผู้เล่นหลัก 2 รายตามค่ายโทรศัพท์มือถือ

(3) กสทช. ต้องกำกับให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือแข่งขันแยกกัน โดยมีบริการแยกเดี่ยวที่เป็นทางเลือกได้จริงสำหรับผู้บริโภค และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในทุกพื้นที่

​สภาผู้บริโภค จึงขอให้ กสทช. พิจารณาและใช้อำนาจของคณะกรรมการในการพิจารณาเรื่องนี้ โดยไม่อนุญาตให้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมในครั้งนี้ 

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พบว่า บริษัทใหม่ที่เกิดหลังการควบรวม คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงแพคเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาท สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น มีการลดคุณภาพระบบอินเตอร์เน็ตลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แอปพลิเคชันไลน์ส่งข้อความและข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติด ๆ ดับ ๆ เป็นต้น

          จนปรากฏผลว่า กสทช. ไม่สามารถดำเนินการบังคับใช้ เงื่อนไขการควบรวมตามข้อตกลงที่กระทำไว้กับทั้งสองบริษัทได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ มีผลเสียต่อผู้บริโภคถึง 5 ประการ ได้แก่

1) การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย ก. โดยลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม ข. ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก ค. ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ ง. ให้ผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

2) การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)

3) การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช คอมมิวนิเคชั่นจำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี            

4) สัญญาการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว 

5) การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิสภา' ชงสอบแต่งตั้ง 'เลขาฯ กสทช.' ล่าช้าเกือบ 4 ปี ชี้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย

“กมธ. ไอซีที วุฒิสภา” ชงสำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ หลังพบความผิดปกติ กระบวนการตั้งเลขา กสทช. เกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว จนรักษาการจะครบวาระ ยันไม่ได้ก้าวก่าย แต่ส่งกระทบผลประโยชน์ชาติเสียหาย

ศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง 'พิรงรอง รามสูต' กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศาสตร