สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-หน่วยงานภาคีร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ “บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ใต้ร่มพระบารมี” ที่ชุมชนซอยรามคำแหง 39 กรุงเทพฯ

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนในซอยรามคำแหง 39  รวม 3 ชุมชน  จำนวน 420 ครอบครัว/หลัง  เป็นที่ดินที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ชุมชนเช่าในอัตราผ่อนปรน  ระยะยาว  เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  โดยชาวชุมชนร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน 

รามคำแหง 39 /  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ร่วมกับหน่วยงานภาคีจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2566  “บ้านมั่นคง  ชุมชนเข้มแข็ง  ใต้ร่มพระบารมี” ที่ชุมชนย่านซอยรามคำแหง 39  เขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นประธานในพิธี เพื่อนำเสนอรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยมีพิธียกเสาเอกเพื่อสร้างบ้านใหม่ 3 ชุมชน  รวม  420  ครัวเรือน  จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ส่วนที่ผ่านมาดำเนินการแล้วใน 4 ชุมชน  รวม 483 ครอบครัว

เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’ (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาคี  และเครือข่ายองค์กรชุมชน  ได้ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ตลอดช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้  ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  และนำเสนอรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

โดยในวันนี้ (23 พฤศจิกายน) ตั้แต่เวลา 9.00 น. มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566  “บ้านมั่นคง  ชุมชนเข้มแข็ง  ใต้ร่มพระบารมี” ที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา  ซอยรามคำแหง 39 (วัดเทพลีลา) เขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัติย์  โดยมีพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และพลอากาศโทภักดี แสง-ชูโต กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตวังทองหลาง ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย  เช่น  กาประปา  การไฟฟ้า  สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายที่อยู่อาศัย 5 ภาค  และชาวชุมชนตต่างๆ ร่วมในพิธีประมาณ 350 คน    

โดยในช่วงเช้ามีพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา  ซึ่งเพิ่งก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จในเฟสสุดท้ายจำนวน 100 หลัง  การมอบเครื่องประกอบพิธียกเสาเอกให้แก่ผู้แทนชุมชน 3 ชุมชนที่จะทำพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนทรัพย์สินเก่า  ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา  และชุมชนน้อมเกล้า  และการมอบทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนรุ่งมณีพัฒนาที่เพิ่งก่อสร้างบ้านเสร็จ

พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มอบเครื่องประกอบพิธียกเสาเอกให้นายวราวุธ  รมว.พม. เพื่อนำไปทำพิธียกเสาเอก

สร้างบ้านมั่นคงในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ อีก 3 ชุมชน 420 ครัวเรือน

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า  ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยของประชาชนเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความยากจน  โดย พอช.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา  ปัจจุบันดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579  ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว  มีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579’ 

“ขณะนี้ดำเนินการแล้วทั่วประเทศจำนวน 272,552 ครัวเรือน  ภายใต้เป้าหมาย 1,053,000  ครัวเรือน  กรพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงในกรุงเทพมหานคร  ดำเนินการแล้ว 122 โครงการ  จำนวน  17,499 ครัวเรือน  ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี ใน 39 ชุมชน  ดำเนินการแล้ว 29 ชุมชน  จำนวน 3,000 ครัวเรือน  เป็นความสุขของประชาชนภายใต้ร่มพระบารมี”  ผอ.พอช. กล่าว

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.

นางกัลยาศรี หมอกมณี  ประธานกองทุนสถาบันการเงินชุมชนรุ่งมณีพัฒนา  รายงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในซอยรามคำแหง 39 ว่า  ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาตั้งอยู่ในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด  74 ไร่  จำนวน 525 ครัวเรือน  เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของชุมชน จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง ต่อมาได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์   และเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงรวมทั้งหมด 271 ครัวเรือน  แบ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็น 3 เฟส  เฟสที่ 1 และ 2 จำนวน 171 ครัวเรือน ก่อสร้างเสร็จและเข้าอยู่อาศัยแล้ว  เฟสที่ 3 จำนวน 100 ครัวเรือน  เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จและเข้าอยู่อาศัยแล้วเช่นกัน

 ส่วนในปี 2566 ได้มีการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงอีก 3  ชุมชน รวม  420 ครัวเรือนได้แก่ 1. ชุมชนทรัพย์สินเก่า  237 8iy;ginvoเรือน  2. ชุมชนน้อมเกล้า  จำนวน 130 ครัวเรือน  และ 3.ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา  53 ครัวเรือน  ซึ่งทั้ง 3 ชุมชน  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับถมที่ดินและมีพิธียกเสาเอกในวันนี้ 

“การพัฒนาชุมชนในย่านรามคำแหง39  นี้  ไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้  หากขาดการเชื่อมโยง การบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน  ขอขอบคุณสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และสำนักงานเขตวังทองหลางที่สนับสนุนแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและสร้างความเข้มแข็ง จัดการชุมชนทุกมิติภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เพื่อให้ประชาชนมีบ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งภายใต้ ร่มพระบารมี  นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อย่างยั่งยืนต่อไป”  ผู้แทนชุมชนบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ ย่านรามคำแหง 39 กล่าว

พื้นที่ซอยรามคำแหง 39 หมุดสีแดงหมายเลข 2-4 คือ 3 ชุมชนที่รื้อย้ายเพื่อจะสร้างบ้านใหม่  ส่วนหมายเลข 1 คือชุมชนรุ่งมณีพัฒนาสร้างเสร็จแล้ว รวมทั้งหมด 271 หลัง

‘วราวุธ’ ย้ำเป้าหมาย “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวแสดงเจตนารมณ์การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและคุณภาพชีวิตสู่ความมั่นคงของมนุษย์  มีใจความสำคัญว่า ตามแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปีของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ภายในปี  2579  พี่น้องประชาชนทุกคนกว่า 1,300,000 ครัวเรือนทั่วประเทศจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  การที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น  พอช.ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแต่เอาอิฐหินปูนทรายมาก่อสร้างขึ้นมาเป็นอาคารที่พักอาศัยเท่านั้น แต่หน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   คือการที่จะต้องสร้างสังคม  สร้างให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในชุมชนมีชุมชนที่อบอุ่น  มีความน่าอยู่ และทำให้ส่วนที่เล็กที่สุดของสังคม  คือสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่เข้มแข็งเพื่อจะป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา  รมว.พม.

อิฐหินปูนทรายทั้งหลายที่หน่วยงานราชการได้นำมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสำนักทรัพย์สินฯ ได้มาร่วมมือทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น  แต่ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ  วันนี้เราได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน  พี่น้องประชาชนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง นี่คือการที่จะมีสังคม  มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  

“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการที่จะให้พี่น้องประชาชนทุกครอบครัวนอกจากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ยังต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เด็กที่เกิดใหม่จะต้องได้รับการดูแล ครอบครัวจะต้องปราศจากความรุนแรง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มเปราะบางจะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ให้สามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน และสังคมไทยนั้นจะต้องพัฒนาไปข้างหน้าโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อเป็นพลังสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไป”  นายวราวุธ รมว.พม.กล่าว

พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์  รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์  รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  กล่าวแสดงความยินดีกับประชาชน  มีใจความสำคัญว่า  บ้านและที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและเป็นปัจจัยที่มีสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีพื้นฐานครอบครัวที่ดี อีกทั้งการมีที่พักอาศัยนั้นจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มุ่งมั่นสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง  และราษฎรมีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการดำเนินนโยบายส่งเสริม  พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์   โดยเฉพาะความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ตลอดจนหน่วยงานภาคีต่างๆ ในการร่วมมือพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2547 และยังคงร่วมมือผลักดันความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความยินดีกับชาวชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ที่ทุกท่านได้มีบ้านใหม่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดี ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความามุ่งมั่นตั้งใจ ความสมัครสมานสามัคคี  ช่วยเหลือเกื้อกูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด  ตัดสินใจ วางแผน เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยของท่านเอง  สะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นต่อไป นอกจากนี้ผมขอแสดงความยินดีกับชาวชุมชนทรัพย์สินเก่า  ชุมชนน้อมเกล้า   พื้นที่เพิ่มทรัพย์พัฒนาที่ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนการพัฒนา จนนำมาสู่พิธียกเสาเอกในวันนี้ของทั้งสามชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของการจะมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน”  พลเอกอภิรัชต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในซอยรามคำแหง 39 แล้ว  ปัจจุบันมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในกรุงเทพฯ  รวมทั้งหมด 40 ชุมชน  จำนวน 4,844 ครัวเรือน  โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  เพื่อให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

พลอากาศโทภักดี แสง-ชูโต กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ที่ 5 จากซ้าย)  นายวราวุธ  รมว.พม. (ที่ 7 จากซ้าย) ร่วมกับผู้แทนชุมชนยกเสาเอก

บ้านมั่นคงจาก ‘พลังของชุมชน’

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งมีพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ 3 ชุมชน  รวม 420 ครอบครัว  มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวชุมชนได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  โดยการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในอัตราผ่อนปรน ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี  เพื่อให้มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  โดยสร้างบ้านใหม่  เนื่องจากสภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ก่อสร้างมานาน  มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  สาธารณูปโภค  ถนน  สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม

ขณะที่ชาวชุมชนได้เตรียมความพร้อม  โดยการร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้านมานานหลายปี  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการ  เช่น  ชุมชนทรัพย์สินเก่า จำนวน 237 ครอบครัว  มีเงินออมที่อยู่อาศัยรวม 17,732,146 บาท  (เฉลี่ยครอบครัวละ 74,819 บาท)    โดย พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภครวม  20,891,550 บาท (เฉลี่ยครอบครัวละ 88,150 บาท)  และให้สินเชื่อระยะเวลา 20 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านรวม 84,130,000 บาท (เฉลี่ยครอบครัวละ 354,978 บาท)

ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา  สร้างบ้านใหม่จำนวน 53 ครัวเรือน (ก่อนหน้านี้สร้างบ้านในนาม ชุมชนทรัพย์สินเก่า เสร็จแล้ว 39 ครัวเรือน) มีเงินออมที่อยู่อาศัยรวม 4,144,982 บาท   พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภครวม 4,671,950 บาท  และสินเชื่อปลูกสร้างบ้านรวม 19,080,000 บาท

ชุมชนน้อมเกล้า  สร้างบ้านใหม่จำนวน  130 ครัวเรือน (ก่อนหน้านี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว 90 ครัวเรือน) มีเงินออมที่อยู่อาศัยรวม 7,960,800 บาท  พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภครวม  11,354,500 บาท  สินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน  41,610,000 บาท

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้ง 3 โครงการ  ส่วนใหญ่จะสร้างเป็นบ้านแถวแบบ 2 ชั้น  ขนาดบ้านประมาณ 4X6 และ 4X8 ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 500,000 บาท  ผ่อนชำระคืน พอช.ประมาณเดือนละ 3,000 บาท  ระยะเวลา 20 ปี  เริ่มก่อสร้างหลังพิธียกเสาเอกในวันนี้ (23 พ.ย.) ตามแผนงานจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปี 2567

บ้านมั่นคงบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ชุมชนรุ่งมณี  สร้างเสร็จทั้ง 3 เฟส  รวม 271 ครัวเรือน  ราคาก่อสร้างประมาณ 5 แสนบาทเศษ  ผ่อนชำระ 20 ปี   ประมาณเดือน 3 พันบาท

นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวแล้ว  ชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลางรวม 20 ชุมชนยังได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลาง’ ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555  มีสมาชิกรวม 3,796 คน เงินกองทุนปัจจุบัน  8,654,682 บาท จัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก 12 ประเภท  เช่น  สวัสดิการเด็กแรกเกิดคลอดบุตร สวัสดิการกรณีเสียชีวิต การเจ็บป่วยค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการคนด้อยโอกาสคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการเพื่อการศึกษา สวัสดิการเพื่อการพัฒนาอาชีพ สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้หลายชุมชนยังร่วมกันพัฒนาในด้านต่างๆ  เช่น  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเป็นทุนในการก็ยืมประกอบอาชีพ  ใช้จ่ายในยามจำเป็น  ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน  เช่น  ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาจัดตั้ง ‘สถาบันกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา’ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 375 ราย  มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 11 ล้านบาทเศษ  โดยสมาชิกจะต้องถือหุ้นคนละ 1 หุ้นๆ 100 บาท  และฝากเงินเข้าสถาบันเป็นรายเดือน  ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100 บาท  เมื่อเดือดร้อนจำเป็นสามารถกู้ยืมได้สูงสุด 75,000 บาท  ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน  ชำระคืนตามความสามารถ  แต่ไม่เกิน 2 ปี

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน  แม่บ้านที่มีเวลาว่าง  โดยรวมกลุ่มกันนำผ้าขาวม้าที่มีลวดลายสวยงามสีสันเจิดจ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้น  แขนยาว  กระเป๋าถือ  ถุงผ้า  ผ้าพันคอ  พวงมาลัยผ้าขาวม้า  ฯลฯ เริ่มผลิตขายในปี 2560 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต’ จาก พอช. จำนวน 7 หมื่นบาท  มีสมาชิกร่วมกันผลิตและขายประมาณ 20 คน  ออกจำหน่ายตามงานต่างๆ งานออกบูธ  งานของสำนักงานเขตวังทองหลาง  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกมีรายได้ประมาณคนละ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชุมชนรุ่งมณี

**********

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล