‘วราวุธ’ รมว.พม.ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ลงนาม MoU. 3 ฝ่ายฟื้นฟู ‘ชุมชน-คน-คลองแม่ข่า’ จ.เชียงใหม่

ผู้ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือที่สำนักบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แสดงสัญลักษณ์ ‘ที่อยู่อาศัย’

นายวราวุธ  รมว.พม. เยี่ยมชุมชนคลองแม่ข่า

เชียงใหม่ / ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เชียงใหม่  โดยมีการลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่ายเพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่า  ระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเชียงใหม่ โดยจะมีการนำร่องพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนคลองแม่ข่าในปี 2567 รวม 2 ชุมชน จำนวน 42 ครอบครัว  ขณะที่เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาคยื่นข้อเสนอการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตต่อ รมว.พม.

เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’ (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาคี  และเครือข่ายองค์กรชุมชน  ได้ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้  ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  และนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่คลองแม่ข่า

โดยระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้  มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566 ที่จังหวัดเชียงใหม่  มีการจัดกิจกรรมใน 2 พื้นที่สำคัญ  คือที่ตำบลท่าผา  อำเภอแม่แจ่ม  และที่ชุมชนริมคลองแม่ข่า  เทศบาลเมืองเชียงใหม่  ร่วมจัดงานโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  จังหวัดเชียงใหม่  เทศบาลเมืองเชียงใหม่  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่  อำเภอแม่แจ่ม  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)  เครือข่ายสลัม 4 ภาค สภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่  ใจบ้านสตูดิโอ  และเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่   โดยมีเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภูมิภาค  ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ  และผู้แทนภาคีเครือข่าย  เข้าร่วมงานทั้ง 2 วันประมาณ 1,500 คน

ทั้งนี้ ‘น้ำแม่ข่า’ หรือ ‘คลองแม่ข่า’ มีต้นกำเนิดจากดอยสุเทพ-ดอยปุย ไหลลงสู่ลำห้วยในอำเภอแม่ริม  ไหลรวมกับลำน้ำอีกหลายสายกลายเป็นคลองแม่ข่า  ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอหางดง  รวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร  แต่การขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  ทำให้แม่ข่ากลายเป็นคลองที่รับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน  ชุมชน  โรงแรม  ตลาด สถานประกอบการต่างๆ  บางช่วงมีความกว้างเพียง  5  เมตร  น้ำในคลองมีสีดำ  เน่าเหม็น   ตื้นเขิน  มีผักตบชวา  กอหญ้า  มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง  มีชุมชนต่างๆ  ตั้งอยู่ริมคลองแม่ข่าและคลองสาขา  รวมทั้งหมด 43 ชุมชน  บางชุมชนตั้งอยู่ในแนวโบราณสถาน  เช่น  กำแพงเมือง  ป้อม  คูเมือง  ฯลฯ

จังหวัดเชียงใหม่และเทศบาลนครเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดจึงมีแผนงานในการพัฒนาชุมชน  โดยการปรับปรุงคลองแม่ข่าให้กลับมาใสสะอาด  เช่น  การขุดลอกคลอง  ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลอง  ทำทางเดินเลียบคลอง รื้อย้ายหรือขยับบ้านเรือนบางส่วนที่รุกล้ำคลองและโบราณสถาน  ฯลฯ

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแม่ข่า  ตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’  โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชน นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU.) ระหว่างหน่วยงานดังกล่าว และใช้โอกาสเนื่องในช่วงการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ นำเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนและคลองแม่ข่า

ผู้ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลก

“จังหวัดยุทธศาสตร์  ที่ดินที่อยู่อาศัยมั่นคง  ความร่วมมือทุกภาคส่วน”

โดยในวันนี้ (9 ธันวาคม) มีการจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ภาคเหนือ  “จังหวัดยุทธศาสตร์  ที่ดินที่อยู่อาศัยมั่นคง  จากการยกระดับความร่วมมือทุกภาคส่วน” โดยช่วงเช้าจัดงานที่สำนักบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัย เชียงใหม่  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  มีผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมงาน  พร้อมทั้งผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภูมิภาค  ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ  เครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่  ชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า  และผู้แทนภาคีเครือข่าย  เข้าร่วมงานประมาณ 350 คน

นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกครั้งนี้ว่า  1. เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ให้สังคมได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 2. เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนเมือง ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ให้รับรู้และเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่ต้องสร้างความมั่นคง ตั้งแต่ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 3.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักร่วมกับทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

จากนั้นมีเวทีเสวนาเรื่อง “จังหวัดยุทธศาสตร์  ที่ดินที่อยู่อาศัยมั่นคง  จากการยกระดับความร่วมมือทุกภาคส่วน”  มีประเด็นสำคัญ  คือ  1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่า  2.การพัฒนาเมืองทุกมิติ   3.การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีวิชาการและภาคประชาสังคม  และ 4.การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่

เวทีเสวนา“จังหวัดยุทธศาสตร์  ที่ดินที่อยู่อาศัยมั่นคง” 

นางพรรณงาม  สมณา    ผู้แทนชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า (กรรมการเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่)   กล่าวว่า   คลองแม่ข่าเป็น 1 ใน 7 มงคลชัยประการที่พญามังรายทรงเลือกในการตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 ปีก่อน  เราจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการเรื่องคลองแม่ข่า  เพราะคลองแม่ข่าเป็นชีวิตจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่

“คนคลองแม่ข่ามาจากชนบท  เราเข้ามาเพื่อมาหางานทำ  หารายได้ ส่งเสียลูกหลานให้ได้เรียน ให้ลูกหลานได้กินดีอยู่ดีจึงเข้ามาอยู่ในเมือง พอมาอยู่ก็ไม่สามารถจะซื้อที่ดินได้ จึงต้องมาบุกเบิกหาที่รกร้างว่างเปล่าอยู่อาศัย  เป็นแรงงานของเมือง  ช่วยสร้างเมือง  พอวันหนึ่งหน่วยงานรัฐบอกว่าคนจนเหล่านี้เกะกะต้องออกจากเมือง ต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะจะทำให้เมืองไม่เป็นที่น่าอยู่ นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ทำให้เมืองไม่น่าชม” ผู้แทนชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  และว่า  เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนริมคลองแม่ข่าหลายสิบชุมชนจึงไปรวมกับเครือข่าวสลัม 4 ภาค และสมัชชาคนเพื่อลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตนเอง  และรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายคนแปงเมือง’ เพื่อสร้างบ้านแปงเมืองให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

นางสาวอุมาทิพย์  ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าว่า ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน มีการจัดทำคำสั่งภายในเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนราชการหลักคือสำนักช่าง และมีหน่วยงานอื่นๆ มาสนับสนุน  โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเริ่มจากขั้นตอนแรก คือ ต้องรู้สาเหตุของปัญหา มีการสอบถามว่าที่มาของปัญหานั้นมาจากอะไร มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีทั้งตัวแทนของภาคประชาชนและหน่วยงานราชการร่วมเป็นคณะกรรมการ

“ตอนนี้โครงการพัฒนาคลองแม่ข่ากำลังดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งวันนี้จะมีการทำบันทึกความร่วมมือในการใช้ที่ดินของรัฐมาแก้ไขปัญหา ถือเป็นมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหา เทศบาลเชียงใหม่ดำเนินการเชิงรุกตั้งแต่จุดเล็กๆ เพื่อขยายวงไปสู่วงกว้างมากขึ้น หากวันนี้จังหวะก้าวเริ่มต้นสำเร็จเราจะมีจังหวะก้าวต่อไป  โดยเทศบาลเชียงใหม่เป็นจุดรวมทุนที่พร้อมจะสนับสนุนงานของภาคประชาชนให้เกิดพลังต่อไป”  ผู้แทนจากเทศบาลเชียงใหม่กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองแม่ข่า

การปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองแม่ข่าของเทศบาลนครเชียงใหม่ช่วงแรกในปี 2564-2565 ทำให้คลองแม่ข่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเชียงใหม่

‘วราวุธ’  รมว.พม.ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลก

ส่วนช่วงบ่าย  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินทางมาร่วมงาน  โดยมีนายทศพล  เผื่อนอุดม  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวต้อนรับ  มีนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้แทนองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาคีร่วมงาน

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงบทบาทการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองทุกมิติที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม  มีใจความสำคัญว่า  ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐบาลทุกยุคมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด

“สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยมาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรวมตัวของพี่น้องประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน  ทั้งราชการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  นักวิชาการ สถาบันทางศาสนา ภาคธุรกิจ เพื่อดำเนินโครงการบ้านมั่นคงภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ มากว่า 23 ปี  ปัจจุบันมี 5 โครงการที่สำคัญ  คือ  1.โครงการบ้านมั่นคงเมือง 2.โครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  เช่น คลองแม่ข่า  จังหวัดเชียงใหม่  3.โครงการบ้านพอเพียง ซ่อมบ้านผู้ยากไร้  4.บ้านผู้ประสบภัย  ไฟไหม้  ไล่รื้อ  5.บ้านคนไร้บ้าน ภายใต้แผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี  พ.ศ.2560-2579 และล่าสุดโครงการบ้านเช่าราคาถูกตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  เพื่อเป็นบ้านและห้องเช่าราคาถูกสำหรับผู้ตั้งต้นชีวิตใหม่”  นายกฤษดา  ผอ.พอช.กล่าว

ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้ายว่า พอช. เป็นหน่วยงานหนึ่งในการสนับสนุนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในการรณรงค์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเนื่องในวาระวันที่อยู่อาศัยโลกที่ภาคเหนือ  โดยปีนี้ใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ  ทั้งบ้านมั่นคงชนบท เช่น  แม่แจ่มโมเดล อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  การพัฒนาพื้นที่ให้คนกับป่าได้อยู่ร่วมกัน  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บ้านมั่นคงเมือง  การพัฒนาคุณภาพชีวิตคลองแม่ข่า เป็นต้น

รมว.พม. พร้อมล่ามภาษามือเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าใจความหมาย

รมว.พม.มอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

นายวราวุธ  กล่าวมอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน  มีใจความว่า  คลองแม่ข่าเป็นคลองที่มีสีดำตั้งแต่ต้นคลองยันท้ายคลอง กรมชลประทานได้เปิดน้ำดันเอาน้ำดีเข้ามานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคลองแม่ข่ามีขนาดเล็ก คดเคี้ยวและแคบ การดันน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร

พอช. โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มาร่วมดูเรื่องที่อยู่อาศัย  การที่ พอช.มาช่วยดูเรื่องที่อยู่อาศัย ได้ดูลักษณะบ้านเป็นอย่างไร บันไดสูงชันขนาดไหน ห้องน้ำ หลังคาบ้าน เป็นเพียงแค่ให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย แต่ไม่ได้แปลว่าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การที่จะให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ไม่ใช่แค่เอาปูนทรายมารวมกันแล้วดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าสังคมที่ดี สังคมที่ดีจะเกิดขึ้น คือ ทุกฝ่าย  ทุกส่วนมาร่วมมือกัน ให้ทุกคนในชุมชนมีระเบียบ มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ไม่ได้ง่าย เช่น คลองแม่ข่า ก่อนหน้านี้สกปรก รุกล้ำลำน้ำ วันนี้เราหาวิธีการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนในหลายๆ พื้นที่ แต่ความสกปรกในคลองแม่ข่านั้น คลองอยู่เฉยๆ สกปรกไม่ได้ แต่เกิดจากมนุษย์เรา

รมว.พม.กล่าวต่อไปว่า  การจะมีสังคมที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตที่ดี พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือรักษาความสะอาด วันนี้กระทรวง พม. โดย พอช. รวมถึงหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่น ทำได้เพียงแค่หาที่พักอาศัยให้พี่น้องประชาชนอยู่อาศัย ทำมาหากิน มีสังคมอบอุ่น คุณภาพชีวิตที่ดี แต่เราไม่สามารถทำให้สังคมมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากเราไม่ช่วยกันทำ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม  เราต้องคำนึงถึงสังคมสูงวัย ตลอดจนการมองถึงที่อยู่อาศัยในอนาคต ที่รองรับทุกคน ทุกช่วงวัย

“สังคมไทยเราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระทรวง พม. ทำงานเดินไปด้วยกัน การพัฒนาต้องพัฒนาทุกมิติ เพราะการทำเช่นนี้ทำให้สังคมที่พวกเราอยู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่น่าอยู่เป็นอย่างยิ่ง  เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่น่าอิจฉา มีพื้นที่น่าท่องเที่ยว รอยยิ้มคนเชียงใหม่ไม่เคยเลือนหายไป วันนี้มาเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกๆ คน คำว่าบ้านสำคัญ และคำว่าสังคมและสิ่งแวดล้อมสำคัญมากกว่าการมีบ้าน วันนี้มาช่วยกัน ทำให้วันที่อยู่อาศัยโลก ทำให้คุณภาพชีวิต  ให้สังคมเราน่าอยู่ เพื่อลูก เพื่อหลานของพวกเรา ให้สังคมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน” นายวราวุธ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.กล่าวในตอนท้าย

                ทั้งนี้นายวราวุธได้มอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ  ประกอบด้วย 1.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน 12.9 ล้านบาท ผู้รับผลประโยชน์  311 ครัวเรือน  2.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน  12.9 ล้านบาท  ผู้รับผลประโยชน์ 215 ครัวเรือน 

 3.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 12.9 ล้านบาท  ผู้รับผลประโยชน์ 219 ครัวเรือน   4.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย  จำนวน  12.9 ล้านบาท  ผู้รับผลประโยชน์  325 ครัวเรือน   และ 5.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน  จำนวน 12.6  ล้านบาท  ผู้รับผลประโยชน์  242 ครัวเรือน 

รมว.พม.มอบงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง

ลงนาม 3 ฝ่ายใช้ที่ดินรัฐแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-คุณภาพน้ำแม่ข่า

การจัดงานครั้งนี้พิธีลงนาม MOU. 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองเชียงใหม่ ในการใช้ที่ดินของรัฐแก้ปัญหาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่   โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.เป็นประธานสักขีพยาน

โดยมีเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อ 1.ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนในพื้นที่คลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้มีความมั่นคงและมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดีตามแผนแม่บทการพัฒนาคลองแม่ข่าของจังหวัดเชียงใหม่ 2.การพัฒนาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์  รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนภูมิทัศน์ริมสองฝั่งคลอง 

เป้าหมายสำคัญ  คือ 1.เพื่อพัฒนาและจัดการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาตามแผนแม่บทการพัฒนาคลองแม่ข่าของจังหวัดเชียงใหม่ จนบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 2.เพื่อจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ  ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ในการฟื้นฟูและพัฒนาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ทั้งในมิติการพัฒนาคุณภาพน้ำ การรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ รวมทั้งภูมิทัศน์ริมสองฝั่งคลอง

เนื้อหางานที่จะดำเนินการ 1.การพัฒนาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคง โดยเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหากับกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 2 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มคนที่ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดินที่อยู่อาศัยในชุมชนศรัทธาวัดหัวฝาย ชุมชนกำแพงงาม และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะบริเวณลำน้ำสาขาของคลองแม่ข่า ให้บรรลุตามเจตนารมณ์และเป้าหมายสำคัญที่วางไว้ โดยแต่ละฝ่ายจะดำเนินการดังต่อไปนี้

บทบาทของเทศบาลนครเชียงใหม่ : สนับสนุนที่ดินว่างเปล่าที่ยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เช่าที่ดิน เพื่อนำมาดำเนินการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ให้คนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาเกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัย ในอัตราค่าเช่าราคาถูก

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) : สนับสนุนการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง ในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยริมคลองแม่ข่า โดยให้มีกลไกชุมชนเป็นหลักในการดำเนินการขับเคลื่อนงานในพื้นที่

เครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่ : สนับสนุนการจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของผู้คนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา

นอกจากนี้จะมีการพัฒนาคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศน์และการรักษาสิ่งแวดล้อมของคลองแม่ข่าและคลองสาขา เพื่อทำให้น้ำในคลองแม่ข่าสามารถไหลได้สะดวก คุณภาพน้ำดี มีการรักษาระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม   เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งคลองสามารถอยู่อาศัยได้อย่างเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้มาเยือนมีความสุขได้รับความสะดวกและสบาย

โดยเทศบาลนครเชียงใหม่และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะสนับสนุนการไหลของน้ำในคลองแม่ข่าและการดูแลคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศน์ ภูมิทัศน์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ร่วมกับเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่และชุมชน

ส่วนเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่จะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนริมสองฝั่งคลองแม่ข่าและคลองสาขาในการดูแลรักษาคุณภาพน้ำ ไม่ทิ้งน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลหรืออื่นๆ ในการที่จะทำให้คุณภาพน้ำเสีย ดูแลความสะอาดคลองแม่ข่าและคลองสาขา รวมทั้งพื้นที่ริมสองฝั่งคลอง เพื่อให้มีระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดี มีภูมิทัศน์สวยงาม  ฯลฯ  โดยบันทึกความร่วมมือฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ได้ลงนามเป็นต้นไป (9 ธันวาคม 2566)

 ทั้งนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองแม่ข่าของเทศบาลนครเชียงใหม่ จะทำให้ชุมชนบางชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในแนวโบราณสถาน  เช่น  ชุมชนกำแพงงามและชุมชนหัวฝายที่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในแนวกำแพงเมืองเก่า  ต้องย้ายบ้านออกจากแนวกำแพงเมือง  ไม่สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้  รวม 42 ครอบครัว โดยทางเทศบาลนครเชียงใหม่มีแผนงานจัดหาที่ดินรองรับ  เป็นที่ดินที่เทศบาลดูแล  อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ  ส่วน พอช. จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง  ตามแผนงานจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2567  ส่วนชุมชนที่เหลือจะดำเนินการในระยะต่อไป

การลงนามความร่วมมือพัฒนาคลองแม่ข่า

เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาคยื่นข้อเสนอวันที่อยู่อาศัยโลก

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกครั้งนี้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคได้ยื่นข้อเสนอการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตประชาชนต่อนายวราวุธ  รมว.พม.  มีสาระสำคัญ  เช่น

1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  รัฐบาลควรบรรจุประเด็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง  สิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชน

2.ให้รัฐบาลกำหนดประเด็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเป็นวาระสำคัญของชาติ  โดยมีนโยบายหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนปฏิบัติการและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

3.ให้สนับสนุนการขับเคลื่อนปฏิบัติการนโยบาย การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินสำหรับผู้มีรายได้น้อยในทุกระดับและกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจในการดำเนินการไปยังกลไกระดับท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง

4.ให้มีกลไกร่วม ทั้งระดับชาติ  ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่มีหน่วยงานภาครัฐ และขบวนองค์กรชุมชนเป็นองค์ประกอบ และให้กลไกดังกล่าวมีอำนาจในการขออนุญาตใช้ที่ดินรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  เช่น คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติระดับจังหวัด คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย และการกำหนดผังเมืองตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

5.ให้ทบทวน แก้ไขการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ในทุกประเภทที่ดินที่ไม่เอื้อต่อสิทธิการอยู่อาศัย ทำกินของชุมชน การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.และร่างอนุบัญญัติอุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562

6.ให้รัฐบาลผ่อนผันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราคงที่ขั้นต่ำ สำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านมั่นคง

7.ให้รัฐสนับสนุนให้องค์กรชุมชนจัดทำแผนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต       โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการสร้างพื้นที่นำร่อง    แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ในระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด พร้อมสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งยกระดับกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงเป็นสถาบันการเงินชุมชนหรือกลุ่มองค์กรชุมชนโดยตรง  โดยเฉพาะงบประมาณการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที  ฯลฯ

นายวราวุธ  รมว.พม.รับมอบข้อเสนอจากผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค

****************     

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

'วราวุธ' ชี้ปมน้องไนซ์เชื่อมจิต ส่งทีมประเมินสภาพจิตใจ ยึดพรบ.คุ้มครองเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้า กระทรวง พม. กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ. ) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องน้องไนซ์เชื่อมจิ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้