ส่วนหนึ่งของชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.บึงกาฬ ที่เข้าฟังคำชี้แจงจากศูนย์ดำรงธรรม จ.บึงกาฬและเจ้าหน้าที่ พอช. (ภาพจาก https://www.4forcenews.com/345734/)
พอช./ ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 109 ราย ตกเป็นหนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ รวมกว่า 6 ล้านบาท เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ลงนามค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ ‘กลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิต’ จ.บึงกาฬ โดยกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จำนวน 25 คนได้กู้เงินจาก พอช.มาผลิตปุ๋ยอัดเม็ดตั้งแต่ปี 2548 แล้วไม่ชำระหนี้ ทำให้ผู้ที่มีชื่อค้ำประกันเงินกู้ทั้ง 109 รายได้รับหนังสือทวงหนี้ และได้ส่งตัวแทนเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ นางสาวแกมแก้ว คงเชื้อนาค ผู้อำนวยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจกับกรรมการและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตที่มีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้โครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ
พอช.ชี้แจงทำตามหน้าที่
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ชี้แจงเรื่องการทวงหนี้สมาชิกและกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตว่า เนื่องจาก พอช.ได้ให้กลุ่มฯ กู้ยืมเงินมาลงทุนตั้งแต่ปี 2548 แต่กลุ่มฯ ยังชำระหนี้ไม่หมด จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นอายุความ ถ้าหาก พอช.ยังเพิกเฉยไม่ทวงถามติดตามหนี้ก็อาจจะมีความผิดไปด้วย ดังนั้นหากว่าผู้ใดมีหลักฐานในการชำระหนี้ก็ให้นำมาแสดงว่าตนเองได้จ่ายหรือชดใช้หนี้สินเป็นเงินเท่าไรแล้ว
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว
นายหนูเกณฑ์กล่าวด้วยว่า พอช.ไม่มีเจตนาที่จะทวงหนี้ชาวบ้านให้เกิดความเดือดร้อน แต่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็จะมีความผิด จึงต้องส่งหนังสือทวงหนี้เพื่อให้มีการเจรจาเกิดขึ้น ส่วนข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านทั้ง 109 รายได้ลงนามในเอกสารค้ำประกันเงินกู้หรือไม่นั้น จะต้องพิสูจน์ว่าเป็นลายเซ็นจริงหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไป
นายลือชัย คำหงษา อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านโนนสวนหม่อนและกำนัน ต.บ้านต้อง ซึ่งเป็น 1 ใน 25 กรรมการกู้ยืมเงินจาก พอช. กล่าวว่า ตนในฐานะผู้นำหมู่บ้านสมัยนั้นได้ชักชวนลูกบ้านมาร่วมประชุมรับฟังนโยบายการกู้ยืมเงินจาก พอช. โดยตนเป็นกรรมการและผู้กู้รายหนึ่งจำนวนเงิน 3 แสนบาท รวมทั้ง 3 กลุ่มกู้ไปประมาณ 2 ล้านบาท แรกๆ ก็ได้ส่งเงินต้นทั้งดอกเบี้ย แต่ส่งไปบางครั้งก็ได้ใบเสร็จ บางครั้งก็ไม่ได้ใบเสร็จ จึงได้หยุดส่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้รับใบแจ้งทวงหนี้จาก พอช. เป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท ก็ตกใจเหมือนกัน แต่หลังจากที่ศูนย์ดำรงธรรมและเจ้าหน้าที่ พอช. มาชี้แจงแล้ว ตนก็จะกลับไปคุยกับกรรมการทั้ง 25 คนเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะยอมจ่ายหนี้ไหม และให้เวลาคุยกันภายใน 1 เดือน ถ้าคุยกันไม่ได้ก็อาจจะถูกฟ้องร้อง
หนังสือขอให้ชำระหนี้
ย้อนเหตุการณ์และข้อเท็จจริง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา นางสำเนียง นันทา ตัวแทนชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.บึงกาฬ ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ โดยนำหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถึงเครือข่ายออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิต โครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ (ในปี 2548 ยังขึ้นอยู่กับจังหวัดหนองคาย)
นางสำเนียงบอกว่า พวกตนที่อยู่ในตำบลบ้านต้อง จำนวน 15 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 109 คนต่างได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งหนังสือทวงหนี้เป็นเงินจำนวน 6,354,294.37 บาท ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยก่อนหน้านั้นประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้รับหนังสือทวงหนี้มาเป็นระยะทุกปี จากจำนวนหนี้ 2.677 ล้านบาท ขยับมาเป็น 6.354 ล้านบาท ซึ่งทุกคนก็ตกใจมาก
ชาวบ้านเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬเมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมา (ภาพจาก https://www.samapan-thainews.com/20936)
นางสำเนียงเล่าว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายนปี 2548 นายลือชัย คำหงษา ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น ได้มาชักชวนชาวบ้านไปร่วมประชุมเพื่อฟังนโยบายโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดเพื่อประหยัดต้นทุนในการบำรุงพืชผลทางการเกษตรเช่น ปุ๋ยใส่นาข้าวหรือยางพารา โดยทุกคนที่ไปร่วมประชุมมีการลงชื่อในสมุดซึ่งเป็นสมุดธรรมดา หลังจากประชุมเสร็จทราบว่าผู้นำชุมชนได้มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาจำนวน 25 คน แต่ไม่ทราบว่ามีใครเป็นกรรมการบ้าง โดยจะมีกลุ่มผลิตปุ๋ยอัดเม็ดและผลิตต้นกล้ายางพารา
จนกระทั่งหลายปีผ่านไป จนถึงประมาณปี 2560 ชาวบ้านต่างได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จำนวนหนี้ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท จึงได้รวมตัวกันเข้าไปร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมในอำเภอเซกา แต่ก็ไม่มีการดำเนินการอะไร และต่อมาก็ได้รับหนังสือทวงหนี้เป็นประจำทุกปี
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับหนังสือทวงหนี้ จำนวน 6,354,294.37 บาท หนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สบายใจที่มีหนี้เกิดขึ้น โดยพวกตนไม่เคยได้ไปเซ็นกู้เงินหรือค้ำประกันใครเลย เพียงแต่วันที่ประชุมนั้นได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมเท่านั้น หลายคนเมื่อรู้ว่าเป็นหนี้ก็พากันตกใจ จึงพากันมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) ชี้แจงความเป็นมาว่า ในปี 2548 คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.หนองคาย (ขณะนั้นยังไม่ได้แยกเป็นจังหวัดบึงกาฬ) จำนวน 25 คน ได้ทำสัญญากู้เงินจาก พอช. จำนวน 3 สัญญาเพื่อทำธุรกิจปุ๋ยอัดเม็ด
สัญญาที่ 1 เลขที่ 02/017/2548 วันที่ 10 พฤภาคม 2548 จำนวนเงิน 865,500 บาท สัญญาที่ 2 02/018/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 543,800 บาท สัญญากู้เงินที่ 3 02/019/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 1,268,400 บาท และสัญญาค้ำประกัน เลขที่ ค 02/017/2548 วันที่ 10 พ.ค.2548 จำนวนเงิน 2,677,700 บาท
(ภาพจาก https://www.4forcenews.com/345734/)
******************
เรื่อง : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำแปซิฟิกเยือนชุมชนประชาร่วมใจ เรียนรู้โมเดลบ้านมั่นคงไทย สู่เวทีนานาชาติ
ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 7 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ร่วมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ พร้อมถอดบทเรียนจากโครงการบ้านมั่นคงของไทย เป็นต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยในระดับภูมิภาคแปซิฟิก
UN-Habitat เยือนพื้นที่บ้านมั่นคงรามคำแหง 39 ต้นแบบพัฒนา “ทั้งย่าน” สู่สิทธิการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน
กรุงเทพฯ-23 พฤษภาคม 2568 นางอนาคลาวเดีย โรสบาค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ
จากชุมชนถึงจังหวัด! พอช.เสริมพลังผู้นำภาคเหนือ สู่ 'จังหวัดจัดการตนเอง'" เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน 9 จังหวัด เน้นกระจายอำนาจ สร้างฐานพลังพลเมือง หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง
วันที่ 23 เมษายน 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่จังหวัดจัดการตนเอง” ครั้งที่ 1
"UN-Habitat" ชื่นชมไทย ขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยเพื่อทุกคน – ดันเป็นเจ้าภาพ Habitat IV ปี 2026
รมว.พม. ต้อนรับรองเลขาฯ UN-Habitat ร่วมถกความร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมเปิดทางสู่การประชุมนานาชาติด้านเมืองและที่อยู่อาศัยในอนาคต
"วราวุธ" ผนึก พม.-ทส. เดินหน้า “กระเสียวโมเดล” แก้ปัญหาน้ำขาดแคลน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนานิคมสร้างตนเอง
วันที่ 21 เมษายน 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดโครงการกระเสียวโมเดล :
“เร่งฟื้นฟูชุมชนโรงธูป! ราชบุรี พอช. ผนึกภาคีท้องถิ่นช่วยผู้ประสบภัยไฟไหม้ วางแผนฟื้นฟูที่อยู่อาศัยทั้งระยะสั้น-ระยะยาว”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ผนึกกำลังภาคีท้องถิ่น-ชุมชน ร่วมวางแนวทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือน 17