‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

นายวราวุธ  รมว.พม. (เสื้อชมพู) และผู้บริหารกระทรวง พม.เยี่ยมโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรย่านเขตจตุจักร  กรุงเทพฯ

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ  ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร  โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง  เขตบางซื่อ  ผ่านชุมชนต่างๆ เพื่อพบปะประชาชน  ด้าน พอช.เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ แล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน จากทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร  หลักสี่   ดอนเมือง และในจังหวัดปทุมธานี  ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างดำเนินการ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ ทั้งระบบ

วันนี้ (15 มีนาคม) เวลา 9.00 น.  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร  โดยคณะได้ลงเรือที่บริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง  เขตบางซื่อ  ผ่านชุมชนต่างๆ  เช่น  ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ชุมชนประชาร่วมใจ 1

จากนั้นนายวราวุธและคณะได้ขึ้นเรือที่บริเวณท่าเรือวัดเสมียนนารี  และเดินไปยังชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร  เพื่อเยี่ยมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ‘โครงการบ้านมั่นคงชุมชนประชาร่วมใจ 1’ และพบปะประชาชน  โดยมีนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร  หลังจากนั้นคณะได้เดินทางโดยรถยนต์เพื่อตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ที่ชุมชนวัดรังสิต  อ.เมือง  จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้คลองเปรมประชากรในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  มีสภาพเสื่อมโทรม  น้ำในคลองเน่าเหม็น  มีบ้านเรือนปลูกสร้างทั้งบนตลิ่งและจำนวนมากปลูกสร้างลงในน้ำ  ทำให้กีดขวางทางเดินน้ำ  คลองไม่สามารถช่วยระบายน้ำได้เต็มที่ 

ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) ก่อนการพัฒนา

ชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังการพัฒนา (2564-2565) จำนวน 283 หลัง/ครัวเรือน  มีสันเขื่อนระบายน้ำใช้เป็นทางเดินเลียบคลอง ขี่จักรยาน

แผนพัฒนาคลองเปรมประชากร

คลองเปรมประชากร  เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันมีอายุกว่า 150 ปี  มีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร มีความกว้าง 12 เมตร เชื่อมเส้นทางคมนาคมทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯ-บางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม  มีชุมชน  บ้านเรือน  ปลูกสร้างรุกล้ำตลอดแนวคลอง ตั้งแต่พื้นที่ริมคลองในเขตจตุจักร  หลักสี่   ดอนเมือง ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี  รวมทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน  ทำให้ลำคลองคับแคบ  สกปรก  ตื้นเขิน  ไม่สามารถช่วยรับน้ำและระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ได้  โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554

คณะรัฐบาลในปี 2562  จึงจัดทำ ‘แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร’  ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  ความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร  โดยมีแผนงานหลักระยะเร่งด่วน  ปี 2562-2565  จำนวน 4 โครงการหลัก  วงเงิน  4,448 ล้านบาท   เช่น  การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมฯ  ตลอดสาย  การทำอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำจากคลองเปรมฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ฯลฯ

ภาพกราฟฟิก  แสดงระบบบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ และระบายลอดท่อใต้ดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำคลองเปรมฯ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุนั้น  จากการสำรวจพบว่า  มีทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน  ในพื้นที่เขตจตุจักร  หลักสี่   ดอนเมือง และในจังหวัดปทุมธานี  ส่วนใหญ่สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ชาวบ้านมีรายได้น้อย รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ หน่วยงานในสังกัด พม. รับผิดชอบดำเนินงานเช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว

ทั้งนี้ชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชน  จำนวน 6,386 ครัวเรือน  สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด   แต่จะต้องรื้อย้ายขึ้นมาสร้างบ้านใหม่บนฝั่ง  เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน  และจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ดินราชพัสดุ  เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”

เริ่มดำเนินโครงการแรกตั้งแต่ปี 2562 ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2  เขตจตุจักร  ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน  รวม 1,699 ครัวเรือน (26.61%) ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน (18.74 %)  ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ  

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำโดยกรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการ  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง  โดย กทม.ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความคืบหน้าของโครงการรวม 26%

นายวราวุธ  รมว.พม. พบปะประชาชนที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1

‘บ้านมั่นคง’ ของคนริมคลองเปรมฯ

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าว (เริ่มในปี 2559)  โดยมีหลักการสำคัญ คือ “ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา”  โดย พอช. จะสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวบ้าน

เช่น  ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน   จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  ร่วมกันออกแบบบ้าน-ผังชุมชน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน  ทำเรื่องขอใช้สินเชื่อจากสถาบันฯ   และร่วมกันบริหารโครงการ  ฯลฯ   โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน  เช่น  กรุงเทพมหานคร  สำนักงานเขต  กรมธนารักษ์  กรมส่งเสริมสหกรณ์  การประปา  การไฟฟ้า  หน่วยงานความมั่นคง  ตำรวจ  ฯลฯ

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช. (เสื้อเหลือง) รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ รมว.พม.ทราบ

ขณะที่ พอช. นอกจากจะสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน  ส่งสถาปนิกเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชนแล้ว  ยังสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ครัวเรือนละไม่เกิน 147,000 บาท  เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท  ผ่อนระยะยาว 20 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี

ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน  รวม 1,699 ครัวเรือน (26.61%) ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน (18.74 %)  ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ  

นอกจากนี้ตามแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวง พม. หน่วยงานเอกชน  และภาคราชการ  จะสนับสนุนการปรับปรุงทัศนียภาพชุมชนริมคลอง   ปลูกต้นไม้ให้มีความร่มรื่น  เพื่อให้คลองเปรมประชากรมีความสวยงาม   มีสภาพแวดล้อมที่ดี   บ้านเรือนสวยงาม  เปลี่ยนจากชุมชนแออัด  เป็น  “ชุมชนสุขภาวะดี”  ส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน  ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ-ท่องเที่ยวชุมชน  เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า) และเรือต่อไป

ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) สร้างบ้านเสร็จแล้ว  รวม 283 ครอบครัว

****************

เรื่องและภาพ :  พิชยาภรณ์  หาญวณิช  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วราวุธ' ชี้ปมน้องไนซ์เชื่อมจิต ส่งทีมประเมินสภาพจิตใจ ยึดพรบ.คุ้มครองเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้า กระทรวง พม. กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ. ) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องน้องไนซ์เชื่อมจิ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

'ผู้สูงวัย' นัดรวมตัวบุก พม. ทวงถามเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า

ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อทวงถามถึงมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567