ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี การสร้างความตระหนักรู้ในองค์กรเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและไม่ควรมองข้าม

ล่าสุด กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดการประชุมสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ”  (Future of Work on Wellbeing) ครั้งที่  1ปี 2567 ที่อาคารมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมแนวคิดองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ป้องกันการเกิดโรค NCDs โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพสูงสุด สามารถเสริมสร้างศักยภาพองค์กรแห่งความสุข ที่ตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรกว่า 10,000 แห่ง

ในโอกาสนี้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. มีข้อแนะนำในการป้องกันโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs ได้ด้วยตัวเอง โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อดื่มกาแฟเย็นก็ต้องออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมัน มิฉะนั้นก็เป็นการสะสมไขมัน การออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง อายุยืนยาว 7 ชั่วโมง ออกกำลังกาย 1 ปี มีอายุยืนยาว 3 เดือน ออกกำลังกาย 10 ปี อายุยืนยาวได้ 3 ปี ออกกำลังกาย 20 ปี อายุยืนยาวได้ 6 ปี

ดังนั้น อายุเฉลี่ยคนไทย 73 ปี ต้องออกกำลังกาย 20-30 ปี จะมีอายุยืน 83 ปี การออกกำลังกายที่ถูกต้องจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เป็นโรคหัวใจ  อัมพาต การเดินเฉยๆ ไม่เพียงพอ ต้องเดินให้ได้หมื่นก้าวเพื่อเผาผลาญแคลอรี หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น จะไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีไขมัน ไม่มีเบาหวาน ความดันสูงเป็นศัตรูกับโรคไต ทำให้ไตวายได้

“คุณพ่อผมเมื่ออายุ 48 ปีป่วยเป็นทุกโรค ผมอายุ 54 ปียังไม่มีไขมัน ผมออกกำลังกายตั้งแต่หนุ่มๆ ใครเริ่มออกกำลังกายช้าก็ได้ประโยชน์ช้า ใครอยากอายุยืนยาวต้องทำด้วยตัวเอง มนุษย์เดี่ยวๆ จะแพ้สงครามโรคที่เราต้องเจอ เป็นสงครามใจของเรา ถ้าคนในกลุ่มสถานประกอบการมีพฤติกรรมที่ดีเรื่องการดูแลสุขภาพ เมื่อเราชนะ เพื่อนเห็นเราทำได้สำเร็จ ช่วยกันทำ คนทำงานในองค์กรจะเข้มแข็งด้วย” คุณหมอพงศ์เทพกล่าว และเปิดเผยด้วยว่า

“การประชุมครั้งนี้ สสส.ได้ออกแบบกระบวนการเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs ในวัยทำงาน เพื่อส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมมิติทางสุขภาพ 7 ประเด็นสำคัญ โดยพัฒนานวัตกรรมชุดความรู้ Healthy Lifestyle Package 3 ชุด คือ 1.Package1 ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และความปลอดภัยทางถนน 2.Package2 ประเด็นกิจกรรมทางกาย อาหารสุขภาวะ และการจัดการขยะ 3.Package3 ประเด็นสุขภาพจิต มีหน่วยงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  80 แห่ง มุ่งเป้าให้เกิดเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะที่มีการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs นำไปสู่การขยายผล เป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะภายในปี 2567”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสสส. เปิดเผยว่า การสร้างสุขภาวะในองค์กรให้มีความสุขเป็น Happy Work Place สถานที่ทำงานไม่สร้างความเครียดจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย การทำงานกับสสส.ให้เป็นองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นปีที่ 2 ขยายความร่วมมือให้กว้างขวางในระบบราชการ 200 องค์กร โดยส่งตัวแทนเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบ สร้างพฤติกรรมต้นแบบ การทำงานในอนาคต ด้วยการฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีในการสร้าง future of job พื้นฐานสำคัญด้านสุขภาพ

“ชีวิตวิถีใหม่ การเจ็บป่วยในปัจจุบัน คนไทยไม่ได้เสียชีวิตจากโรคอหิวาต์ วัณโรค โรคเหล่านี้เมื่อป่วยรักษาได้  คนไทย 75% ป่วยด้วยโรค NCDs เพราะพฤติกรรมการบริโภค ไม่มีกิจกรรมทางกาย ส่งผลสะสมให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคปอด หัวใจ เสียชีวิตจากโรค NCDs”

โรค NCDs ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้เวลา 10-20 ปีจึงจะปรากฏอาการ แต่ในกลุ่มวัยแรงงานมีสาเหตุหลักๆ จากการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักตามโภชนาการ มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่า แนวโน้มอัตราป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่ม 5% ต่อประชากรแสนคนทุกปี การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ ที่ใช้สร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ รวมถึงแนวทางการออกแบบกิจกรรมที่องค์กรสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของบุคลากร

“การปรับพฤติกรรมการกินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สมัยก่อนคนส่วนหนึ่งขาดสารอาหารมีปัญหาร่างกายแคระแกร็น บางคนตุ้ยนุ้ย จ้ำม่ำถึงบวมฉึ่ง บ้านเรามีหลาย level ถ้าเข้าไปในโรงเรียนจะเห็นเด็กอ้วนกันเยอะขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ตุ้ยนุ้ยนำไปสู่โรค NCDs ต้องควบคุมอาหารกินเท่าที่จำเป็น กินอาหารเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เลือกเมนูหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล Healthier Choice อย่ากินเกินเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ เลือกบะหมี่สำเร็จรูปที่ลดโซเดียม การบริโภคผักวันละ 4 ขีด หรือ 400 กรัมเพื่อสุขภาพที่ดี  ผักบ้านเรามีสารเคมีก็ต้องล้างผักด้วยน้ำส้มสายชู ผงฟู เพื่อสุขภาพที่ดี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ที่เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ รวมทั้งงดการดื่มแอลกอฮอล์”

ดร.นพ.ไพโรจน์ให้ข้อมูลว่า คนไทยนั่งนานก็เหมือนคนทั่วโลกนั่งนานๆ วันละ 13 ชั่วโมง เป็นผลจากงานวิจัยเทียบเท่ากับระยะทางกรุงเทพฯ-อ.รามัน จ.ยะลา ทุกวัน  เรากินข้าวก็นั่ง ขับรถก็นั่ง ไม่มีใครยืนขับรถ ยิ่งในช่วงโควิดเรานั่งนานเพิ่มขึ้นเป็น 14 ชั่วโมง การนั่งนานๆ ก็เสมือนหนึ่งเป็นการสูบบุหรี่ทุกๆ วัน ความเหงาก็เสมือนการสุบบุหรี่ จากงานวิจัยคนตายเป็นความเหงา ในสหรัฐสูบบุหรี่วันละ 10 กว่ามวน ถ้าเราเจอคนเยอะๆ ก็เกิดความรำคาญ ความเหงาก็เป็นเส้นบางๆ อย่านั่งนานๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพ Killing Chair เก้าอี้ฆ่าเราได้เป็นอย่างดี เราจะทำอย่างไรใช้เก้าอี้เพื่อการผ่อนคลายได้  นั่งทำงานแล้วลุกขึ้นทุกๆ 10 นาที ให้เดินทอดน่องสบายๆ เปิดคลิปการออกกำลังกายที่ สสส.ได้ทำไว้

“กระบวนการสำคัญที่สร้างความยั่งยืนคือการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาออกแบบกิจกรรม และกระบวนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส.ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร มุ่งเน้นออกแบบกิจกรรมตามบริบทของแต่ละองค์กร เช่น จัดประชุม Healthy Meeting กิจกรรมเพิ่มก้าวเดิน โรงอาหารสุขภาพ งดเหล้า เลิกบุหรี่  นอกจากช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ในระยะยาว ยังถือเป็นการลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์เปิดเผย.


อัครวินท์ อัครภูบดินทร์ ผจก.ส่วนบุคคลและธุรการ บ. เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด

การจัดการ Happy Work Place ทำมาแล้ว 5 ปี เป็นเรื่องจำเป็นมาก ผู้บริหารให้ความสำคัญ เน้นเรื่องสุขภาพเป็นอันดับแรก ผลักดันมาแล้ว 3Season  ส่งผลให้ลดน้ำหนักได้ การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “ผมเป็นคนหนึ่งที่มีน้ำหนัก 83 กก. ภายในเดือนครึ่งลดน้ำหนักลงได้ 20 กก. ควบคุมอาหารจากเดิมกินหวานมัน ดื่มชานมเลี่ยงมาดื่ม black coffee กินอาหาร 3 มื้อไม่ปรุงเพิ่ม ไม่กินจุกจิก มื้อเย็นดื่มนมสด  กล้วยหอม และออกกำลังกายวิ่งวันละ 6 ก.ม.แต่เดิมเป็นภูมิแพ้ต้องใช้ยา ตอนนี้ไม่ต้องใช้ยามา 2 ปีแล้วหลังจากดูแลสุขภาพ ส่วนผู้บริหารที่เคยมีน้ำหนัก 70 กว่า กก. ลดลงได้ 4 กก. เมื่อพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ 100 คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงน้ำหนักเกิน จากจำนวนพนักงาน 360 คน เมื่อลดน้ำหนัก สุขภาพดี ผลงานก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นขอเชิญชวนทุกองค์กรสนใจเข้าร่วมกิจกรรม Happy Work Place ในทุกมิติครบ 8 มิติ องค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และบริษัทยังได้จัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพ โดยจะเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพกับ สสส.ด้วย”

โดยส่วนตัวแล้วไม่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า แต่มีพฤติกรรมเน้นกินอาหารปิ้งย่างชาบูหมูกระทะเป็นประจำ เมื่อตรวจสุขภาพประจำปีเป็นกลุ่มเสี่ยงตลอด แต่เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว 3 ปีทุกอย่างดีขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ