ภาคีสื่อมวลชน ผู้หญิง เด็กและเยาวชนร่วมกับสื่อมวลชนเสวนาระดมความเห็นในโอกาสวันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล

แม้สื่อจะทำหน้าที่สร้างสรรค์มากขึ้นแต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังด้อยค่าผู้หญิงเช่นรายการทีวีตลกมักคุกคามทางเพศทั้งคำพูดและการแตะเนื้อต้องตัวผู้ร่วมรายการส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อยังมีผู้หญิงเป็นผู้นำและผู้บริหารน้อย  ที่ดีขึ้นคือสื่อออนไลน์ นักวิชาการชี้ สื่อต้องใช้ความเป็นธรรมนำความเป็นกลาง ส่วนข่าวดาราดัง แตงโม สื่อไม่ควรเน้นประเด็นส่วนตัวแต่ควรดูเรื่องคุ้มครองสิทธิ์และบทเรียนของปัญหาความปลอดภัย การคุกคามผู้หญิง การดื่มแอลกอฮอล์และสื่อไม่ควรแสดงบทบาทชี้นำและเน้นเรตติ้งมากเกินไป

ในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปีทั่วโลกมีการรณรงค์ประเด็นที่น่าสนใจของผู้หญิงสำหรับในประเทศไทยที่โรงแรมแมนดาริน เมื่อวันที่  7 มีนาคม 2565 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้ร่วมกันจัดเสวนาร่วมกับสื่อมวลชนระดมความคิดเห็นเรื่อง "มองสื่อไทย...สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี” ในสถานการณ์ที่ข่าวของดาราดัง แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำกำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

โดยนายจะเด็ด  เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวถึงความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ในสื่อต่างๆว่า จากการทำงานและสังเกตการณ์ของมูลนิธิที่ผ่านมาสื่อมีทั้งสร้างสรรค์และด้อยค่าผู้หญิง ที่สร้างสรรค์คือฉากไม่เหมาะสมในละครลดน้อยลงเพราะหน่วยงานอย่าง กสทช.กำกับดูแลมากขึ้น แต่ด้านการด้อยค่าไม่ใช่แค่เรื่องแตะเนื้อต้องตัวอย่างเดียวเพราะยังคงมีคำพูดของนักแสดงที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศมองผู้หญิงด้อยกว่าตัวเองยังคงมีอยู่ นอกจากนี้รายการวาไรตี้ รายการตลกยังมีประเด็นที่ชอบด้อยค่าภรรยาตัวเองนำมาล้อเลียน มีการพูดสองแง่สองง่ามกับผู้หญิงและมีหลายครั้งที่พิธีกรตลกมีการแตะเนื้อต้องตัวแขกรับเชิญที่เป็นผู้หญิง เมื่อไม่มีการโวยวายก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาซึ่งไม่ถูกต้อง  ขณะที่ถ้าเป็นการรายงานข่าวเรื่องผู้หญิงถูกคุมคามทางเพศมักจะรายงานแค่ปรากฏการณ์เรื่องนิสัยใจคอ พฤติกรรมของผู้หญิงแต่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำข่าวสืบสวนหาสาเหตุของปัญหาโดยเฉพาะความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่

นายวิเชษฐ์   พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น เอฟเอ็ม 96.5 อสมท.และอดีตกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยต่อการส่งเสริมความ เท่าเทียมว่าต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือประเด็นแรกการส่งเสริมความเท่าเทียมในองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อตั้งแต่ตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2489 ถึงปี 2542  มีนายกสมาคมฯที่เป็นผู้หญิงแค่ 3 คนจาก 22 คน เมื่อรวมกันเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีนายกสมาคมฯที่เป็นผู้หญิง 2 คนจาก 11 คน   ยิ่งไปดูลึกถึงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสื่อหลักๆส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ดังนั้นสื่อคงต้องคิดถึงการเพิ่มบทบาทผู้หญิงให้มากขึ้น   แต่น่าสนใจคือสื่อออนไลน์ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่เป็นบก.บห.นั้นครึ่งต่อครึ่ง เช่นสื่ออย่าง The reporter , The  Bangkok Insight ,The momentum ส่วนประเด็นที่สองเรื่องบทบาทสื่อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมของหญิงชายนั้นในอดีตต้องยอมรับความจริงว่าการเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงจะเน้นเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในเชิงของปรากฎการณ์เป็นหลักส่วนคอลัมน์หรือรายการในเชิงความคิด สร้างสรรค์อาจจะมีน้อยหรือไม่ก็เน้นไปที่ความสวยความงามหรือข่าวสังคมชั้นสูง แต่เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในสื่อหลายสื่อในปัจจุบันเช่นไทยรัฐออนไลน์  แนวหน้า มีคอลัมน์ผู้หญิง  มีคอลัมนิสต์ผู้หญิงอยู่หลายคน ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอก็ก้าวหน้าเช่น ภัยผู้หญิง, ดนตรีต้านการล่วงละเมิด, สอน 3 ท่ามวยไทยเบสิคที่ผู้หญิงควรฝึกไว้ป้องกันตัว

นายณัฐกร  เวียงอินทร์ Content Editor The People  กล่าวว่า ถึงบทบาทของสื่อออนไลน์จุดประกายท้าทายบทบาทผู้หญิงได้อย่างไร ว่าในหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการให้ความสำคัญกับเรื่องบทบาทผู้หญิงแล้วปัจจุบันสื่อไทยมีความสนใจพูดถึงเรื่องราวความหลากหลายทางเพศสภาพมากขึ้นมีความตื่นตัว ในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เราเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม กลุ่ม LGBTQ+ และอีกหลายกลุ่มความเคลื่อนไหวมากมายทำให้เราตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมคนผู้คนในแต่ละเพศ การเคลื่อนไหวเช่นนี้ ในส่วนหนึ่งจึงเหมือนกับทางฝั่งประชาชนออนไลน์ผู้ใช้สื่อก็มีบทบาทในการให้ข้อมูลให้ความรู้กับสื่อเพื่อให้การทำงานของสื่อมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสาร ไปจนถึงทัศนคติที่มีต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารนั้น ๆ ในทางที่เหมาะสมเช่นกัน

ด้าน ดร.ชเนตตี  ทินนาม  อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   กล่าวถึงส่อไทยจะส่งเสริมบทบาทผู้หญิงอย่างไรว่า  ทางออกของสื่อไทยในการนำเสนอประเด็นผู้หญิง สื่อต้องทำงานกับโลกภายในของตัวเอง ใช้หัวใจในการทำงานสื่อมองให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้หญิงซึ่งแตกต่างจากปัญหาอื่นของสังคม เพราะความทุกข์ของผู้หญิงถูกระบบโครงสร้างสังคมทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ สื่อต้องใช้ความเป็นธรรมนำความเป็นกลาง ความเป็นธรรมจะทำให้เรามองเห็นผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ไม่ลดคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือแค่ร่างกาย หากยึดหลักความเป็นธรรมแล้วการรายงานเรื่องของผู้หญิงจะไม่จบเพียงแค่เหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมบนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ต้องขุดให้ลึกไปจนถึงฐานรากของปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงต่อผู้หญิง

 ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้พูดถึงบทบาทของสื่อมวลชนกับการเสนอข่าวการเสียชีวิตของดารานักแสดงหญิงชื่อดังแตงโมภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ด้วย โดยดร.ชเนตตีกล่าวว่า สื่อต้องยกระดับข่าวนี้ให้เป็นมากกว่าข่าวอาชญากรรม ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว โดยเพิ่มเติมมุมมองการคุ้มครองสิทธิของผู้สูญเสียชีวิตและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ต้องแก้ไขในระดับโครงสร้างสังคม เพื่อให้บทเรียนเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่กลับมาเกิดซ้ำสอง  เช่นเดียวกับนายจะเด็จที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าสื่อควรจะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายและคนที่เกี่ยวข้อง ลดความเป็นดราม่าที่เน้นเรตติ้งคนดูลงเน้นเจาะลึกไปยังต้นตอปัญหาและตั้งคำถามกับสังคมเรื่องของความปลอดภัยของการเดินทาง ภัยของผู้หญิงทำอย่างไรไม่ให้ถูกคุกคาม การดื่มแอลกอฮอล์บนเรือผิดหรือไม่ ขณะที่นายวิเชษฐ์กล่าวว่า สื่อต้องให้เกียรติคนที่เสียชีวิตเพราะคนตายพูดไม่ได้และต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้มากกว่าความรู้สึก ที่สำคัญจะต้องไม่ตั้งตนเป็นผู้ชี้นำทิศทางหรือกระแสสังคมเรื่องนี้ควรขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการหรือกฎหมายจะต้องหาทางป้องกันปัญหาที่กล่าวมาในทุกมิติด้วย

ขณะที่สื่อมวลชนที่เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้าง อาทิ

คุณชุติมา เสวิกุล ประธานชมรมวรรณศิลป์ประภัสสร เสวิกุล ได้สะท้อนว่า ในอดีตที่ผ่านมาครอบครัวจะอบรมให้ลูกชายให้เกียรติผู้หญิงมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันมากจึงละเลยการให้เกียรติผู้หญิง  อยากให้สังคมกลับไปเหมือนอดีต 

คุณประไพ ยั่งยืน นักจัดรายการวิทยุ “ภัยผู้หญิง” บอกว่าประเทศไทยเรามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมี 33 ล้านคน ผู้ชาย 31 ล้านคน อยากชวนให้ผู้หญิงทุกคนให้คุณค่ากับตัวเองมากขึ้น ร่วมกันด้อยค่าผู้ชายที่ทำผิดศีลธรรม ปัจจุบันคนมักจะใช้คำด่าผู้ชายว่า “ไอ้หน้าตัวเมีย หรือ ให้ไปใส่กระโปรงซะ” ถือว่าเป็นการด้วยค่าผู้หญิง สื่อเองก็ต้องพัฒนา ผู้บริโภคต้องร่วมกันแอนตี้สื่อที่ด้อยค่าผู้หญิง เพื่อบีบให้เค้ายกระดับตัวเอง

คุณณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมภ์นีส นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ไทย กล่าว่า ตัวเองโชคดีที่ทำงานร่วมกับผู้หญิง เก่ง ๆ มีความสามารถมาโดยตลอด การด้อยค่าผู้หญิง มีมาก่อนในอดีตที่มองว่าสังคมชายเป็นใหญ่ ปัจจุบันมีผู้หญิงเก่งที่มีความสามารถมาก เชื่อว่าสื่อมวลชนไทยในอนาคตจะไปสู่จุดที่ผู้หญิงขึ้นมามีความเสมอภาค สังคมโดยรวมเองก็ต้องเลิกด้อยค่าผู้หญิง ขณะที่ปัจจุบันสื่อยังคงนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่เน้นเรื่องดราม่า มีเรื่องการใบ้หวยมอมเมา น่าเป็นห่วง เชื่อว่าถ้าวงการสื่อน้ำดี ประชาชนทั่วไปช่วยกันตำหนิสื่อเหล่านั้น ในอนาคตก็จะเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น

คุณศักดา  แซ่เอียว หรือเซีย ไทยรัฐ การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง มองว่าองค์กรสื่อเอง หลาย ๆ องค์กรที่แม้จะนำเสนอข่าว เน้นบทบาทสตรี แต่กลายเป็นว่าตัวองค์กรสื่อเอง กลับมีเรื่องการด้อยค่าของคนในองค์กรเดียวกัน กดขี่ คุกคามทางเพศกันเอง มองว่าสังคมเป็นอย่างไร สะท้อนคนในสังคมด้วย ถ้าต้องการให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน จะต้องร่วมมือกันทั้งขบวนการ ทั้งผู้ผลิตสื่อ สปอร์นเซอร์ และประชาชนผู้บริโภคสื่อ อย่างกรณีข่าวน้องแตงโม ที่ผ่านมา สื่อออกนอกลู่นอกทางไปเยอะ น้องจมน้ำไปหลายรอบแล้ว ตามมาด้วยหมอผี ใบ้หวย เป็นสูตรสำเร็จ เพราะ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของสังคมต้องช่วยกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8มี.ค.วัน'สตรีสากล' OCAยกย่อง'คุณหญิงปัทมา' นำกีฬา-วัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก

สภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย หรือ"โอซีเอ" ร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล 8 มีนาคม ยก 8 นักบริหารหญิงของโอซีเอ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ทั้งในและนอกสนาม ซึ่งหนึ่งในนั้นมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ ในฐานะกรรมการบริหารโอซีเอ ของไทยรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน คุณหญิงปัทมา ยังได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 อีกด้วย

'ยิ่งลักษณ์' เคลื่อนไหวแล้ว ปลุกพลังหญิง 'วันสตรีสากล' กล้าลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตัวเอง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra และใน X เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี มีเนื้อหาดังนี้

ผบ.ตร. ชื่นชม '4 ตำรวจหญิง' คว้ารางวัลสตรีดีเด่น ปี67

'บิ๊กต่อ' ชื่นชม 4 ตำรวจหญิง 'พนักงานสอบสวนหญิง – ครู ตชด.' รับรางวัลสตรีดีเด่น วันสตรีสากล ผลงานยอดเยี่ยม ขอบคุณตำรวจหญิงทุกสายงาน กำลังสำคัญ ตร.

แรงงานสตรี เตรียม เฮ! “พิพัฒน์” รมว.แรงงาน จัดหนักฉลองวันสตรีสากล ดันสวัสดิการแรงงานสตรีร่วม 30 ล้านคน

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวงานมอบรางวัลสตรีดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 โดยมี นายอารี ไกรนรา

ภัยออนไลน์รุกหนัก นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมร่วมหาทางปกป้องเด็กและเยาวชน

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)