เยือนราชบุรี ตามรอยบ้าน'ท่านช่วง บุนนาค '

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

จังหวัดราชบุรี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาวเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว ที่จะไปพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ อย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวก ใกล้ชิดธรรมชาติที่อำเภอสวนผึ้ง แต่ในตัวเมืองราชบุรี ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย บางสถานที่ ไม่เคยรู้มาก่อนก็มี คราวนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พาไปรู้จักเมืองราชบุรี ที่ได้ชื่อว่าเมืองโอ่งให้ดียิ่งขึ้น

ในเส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ตามรอยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)  บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราช(พ.ศ.2411-2415 ) หลังจากที่ท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ พ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วท่านได้เข้ามาพำนักบ้านที่จังหวัดราชบุรี และพัฒนาราชบุรีให้รุ่งเรือง นอกจากนี้ เรายังได้ย้อนเวลากับไปสมัยทราวดี เมืองโบราณต้นกำเนิดศิลปะอันงดงามอีกด้วย

บ้านท่านช่วง บุนนาค ที่ราชบุรีที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ฯของจังหวัด


ล้อหมุนออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดมุ่งหน้าสู่ จ.ราชบุรี เริ่มจุดหมายแรกที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี อาคารสีชมพูเด่นตระหง่าน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นศาลากลางจังหวัด และมีการบูรณะในพ.ศ. 2534 ได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงที่มาของจ.ราชบุรี โดยด้านในแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี ห้องถัดมาคือ ก่อนประวัติศาสตร์และโบราณคดีราชบุรี ตั้งแต่สมัยทราวดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูกมนุษย์จริง เศียรพระพุทธรูปศิลา พระอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุ 5 องค์ ที่พบบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 ตำบลคูบัว ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  

ด้านหน้าพิพิธภัณฑฯจัดแสดงโอ่ง เอกลักษณ์ของชาวราชบุรี

ราชบุรียังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ซึ่งในห้องจัดแสดงมีหลักฐานแสดงให้เห็นคือ ซุ้มพระพุทธรูปบนกำแพงแลง วัดมหาธาตุ รูปปูนปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งพบเพียงร่างท่อนกลาง ในสมัยอยุธยามีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ส่วนองค์พระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย  ถัดมายังห้องเผ่าชนชาติพันธุ์วิทยา ที่มีเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม วิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภาคกลาง ไทยจีน ไทยยวน ไทยมอญ ไทยกะเหรี่ยง ไทยลาวโซง ไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม เรายังได้เห็นพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลราชบุรี ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ ส่วนห้องมรดกดีเด่น จะเล่าเรื่องประเพณีวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และบุคคลสำคัญ ห้องสุดท้ายเป็นการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรี

ป้ายสถิตดวงวิญญาณท่านช่วง บุนนาคในบ้านพัก

บริเวณพื้นที่นี้จะเห็นว่ามีบ้านสีเหลือง 2 ชั้นตั้งอยู่ ปัจจุบัน คือ ที่ทำการพิพิธภัณฑ์ แต่ในอดีตนั้นคือทำเนียบ หรือ บ้านพักในช่วงบั้นปลายชีวิต  ของท่านช่วง บุนนาค หลังท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  รูปแบบบ้านเป็นสถาปัตยกรรมในยุคโคโลเนียล เนื่่องจากในช่วงนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ศิลปะในการสร้างบ้านจึงมีความผสมผสานความเป็นยุโรปตะวันตกกับตะวัน ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง โดดเด่นด้วยสีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งไฮไลท์ของบ้านหลังนี้คือป้ายสถิตดวงวิญญาณของท่านช่วง และบรรพบุรุษเชื้อสายตระกูลของท่าน ส่วนอัฐิของท่าน ยังคงอยู่ที่วัดบุปผารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล

ตู้ไม้เก็บป้ายวิญญาณบรรพบุรุษตระกูลบุนนาค ที่สร้างด้วยความปราณีต

เดินเท้าไปทางด้านซ้ายของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ที่คนไทยเชื้อสายจีนที่นี่ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก โดยท่านช่วง ได้มอบที่ดินให้กว่า 2 ไร่ ในการสร้างศาลเจ้า ซึ่งในอดีตเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ โดยเทพเจ้าที่เป็นประธานในศาลคือ เทพเจ้ากวนอู ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น มือขวาอยู่ท่าลักษณะจับเครา มือซ้ายถือคำภีร์ เป็นงานแกะสลักจากไม้ มีอายุเก่าแก่ราวๆ 140 ปี ความวิจิตรงดงามที่ถูกซ่อนไว้หลังศาลเจ้าพ่อกวนอู คือ ตู้ไม้เก็บป้ายวิญญาณขนาดใหญ่  ที่สร้างด้วยความปราณีต มีการแกะสลักลวดลาย ภาพจิตรกรรมบนฝาตู้ไม้มีการลงพื้นสีดำเขียนลายด้วยทอง ประกอบด้วยสัญลักษณ์มงคล  วิวทิวทัศน์ วรรณกรรมจีน หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อกวนอู นอกจากจะเป็นป้ายดวงวิญญาณของชาวจีนแล้ว ตรงกลางด้านบนสุดยังเป็นป้ายดวงวิญญาณของท่านช่วง บุนนาค ที่ได้สร้างขึ้นอีกอันหนึ่งไว้ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย

เจ้าพ่อกวนอู เทพพระเจ้าประธานที่มีอายุกว่า 140 ปี

ส่วนวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร เป็นวัดที่ท่านช่วง ได้เป็นผู้สร้างขึ้นในแบบเรียบง่าย สมัยรัชกาลที่ 5  นับเป็นวัดใหม่ในแถบนี้ พระอุโบสถจึงเป็นหลังเล็กๆ เพราะยังไม่มีพระมาจำพรรษา สถาปัตยกรรมในการสร้างเป็นแบบยุโรป ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ได้รับอิทธิพลในการสร้างตามคติรัชกาลที่ 4-5 คือ พระมีความเป็นสามัญมนุษย์ จึงไม่มีเนื้อนูนตรงกระหม่อม ผนังโบสถ์มีการนำหินมาเขียนลายหินอ่อน ตัดกับกระเบื้องลายคราม ลวดลายสุริยมณฑล คล้ายกับดวงอาทิตย์ที่ล่อมรอบด้วยดอกไม้ด้านล่าง บนเพดานประดับด้วยโคมไฟแชงกาเรียระย้าสวยงาม

พระอุโบสถสไตล์ยุโรป วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร

ในช่วงค่ำ พวกเราเดินทางข้ามอำเภอไปดูกรรมวิธีการผลิตเต้าหู้ที่ โรงงานเต้าหู้วัดไทร อ.โพธาราม โดยมีพี่หนึ่ง ลูกเขย รุ่นที่ 3 มาบอกเล่าขั้นตอนการทำเต้าหู้ที่สืบทอดมากว่า 70 ปี ซึ่งมีส่วนผสมเหมือนเดิมทุกอย่าง มีการปรับเพียงการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนในบางส่วน ที่นี่จะทำเต้าหู้ 3 ประเภท คือเต้าหู้ขาว  เต้าหู้เหลือง และเต้าหู้กระดาน โดยขั้นตอนแรกต้องทำให้ได้น้ำเต้าหู้เพื่อแยกไปทำเต้าหู้ทั้ง 3 ประเภท

ภายในพระอุโบสถที่เรียบง่าย ตกแต่งด้วยหินเขียนลายหินอ่อนและโคมไฟแชงกาเรีย

เต้าหู้ขาว มีส่วนผสมหลักคือ ดีเกลือ ส่วนเต้าหู้เหลือง ใช้ส่วนผสมหลักคือเจี๊ยะกอ และต้องนำไปต้มด้วยขมิ้นเพื่อให้เกิดสีเหลือง ส่วนเต้าหู้กระดาน ใช้สวนผสมคือ เจี๊ยะกอเช่นกัน แต่จะแตกต่างกันที่อุณหภูมิและปริมาณน้ำ และไม่ใช้ขมิ้น โดยทุกขั้นตอนมีความสะอาด ใส่ใจ และเบามือ เพื่อให้เต้าหู้ออกมาสวยและเนื้อสัมผัสที่ดี เราได้ลองลิ้มรสน้ำเต้าหู้ ยอมรับเลยเป็นรสชาติแตกต่างจากที่เคยดื่มมา เป็นรสถั่วเหลืองที่กลมกล่อมไม่ผ่านการแต่งกลิ่นใดๆ อีกทั้งตัวเนื้อเต้าหู้ ก็นุ่มนิ่มแถมรสสัมผัสยังละมุนละลายในปากเลย ใครอยากมาลองชิมได้ที่ตลาดเช้าโพธาราม ต้องรีบมาตั้งแต่ตี 3 เลย เพราะของเขาขายหมดไวมาก หรือโทรจองล่วงหน้า 1 วันได้ที่เบอร์ 082 455 4509

หลวงพ่อแก่นจันทร์(องค์กลาง) วัดช่องลม

อีกหนึ่งวันในราชบุรี คงไม่พลาดที่จะไปวัดช่องลม ที่ประดิษฐานหลวงพ่อแก่นจันทร์ ปางอุ้มบาตร สันนิษฐานว่าอายุ 1,000 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่าพบหลวงพ่อลอยน้ำมา ตั้งแต่เศียรถึงพระอุระทำด้วยเนื้อทองสำริด สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปในยุคอู่ทอง เพราะมีรัศมีเปลวเพลิง แต่ส่วนโครงหน้าได้อิทธิพลมาจากศิลปะแบบทราวดี ส่วนองค์พระแกะสลักจากไม้แก่นจันทร์ สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นพระ 2 ยุค เดินไปด้านหน้าท่าน้ำของวัด จะพบกับประตูท่าเรือจีน ที่วิจิตรและประณีตมากๆ ยังคงอยู่ในข้อสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 200 ปี ลวดลายยอดหลังคาที่เป็นปูนปั้นรูปมังกรพ่นน้ำ มีดอกโบตั๋นตรงกลาง รอบๆประกอบด้วยสัตว์มงคล สีครามที่ใช้ทายังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่จางๆ  จิตรกรรมยังหลงเหลือรอยปลายพู่กันที่บรรจงวาดเขียน รวมไปถึงฝีมือในการปั้นปูนให้พริ้วไหวดั้งของจริง ซึ่งนับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุด

พระปรางค์ วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.ราชบุรี

ก่อนโบอกมือลา เราไปสักการะอีกวัดที่เก่าแก่ คือ วัดมหาธาตุวรวิหาร  สร้างตั้งแต่สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเขมร วัดจึงมีสถาปัตยกรรมแบบขอมช่วงยุคบายน ที่มีการเปลี่ยนจากศาสนาฮินดูเป็นพุทธมหายาน โดยมีสัญลักษณ์คือ พระชัยพุทธมหานาค ศิลปะแบบบายนที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนพระปรางค์ และด้านหลังมีหลวงพ่อพันปีปางรำพึง ด้านหลังเป็นจิตรกรรมอดีตพระพุทธเจ้า สมัยอยุธยาที่หาชมได้ยาก ส่วนพระวิหารด้านหน้าประดิษฐานพระมงคลบุรี หันหน้าไปทางทางตะวันออก เพื่อดูแลเมืองริมน้ำแม่กลอง และพระศรีนัคร์ หันหน้าตะวันตก ดูแลเมืองเก่า  ประทับนั่งพระปฤษฎางค์ชนกัน ซึ่งมีองค์ใหญ่ บริเวณรอบๆเรายังเดินชมซากปรักหักพังของหินศิลาแลง และศิลปะปูนปั้นรอบประปรางค์ที่ช่างได้สร้างไว้อย่างวิจิตรงดงาม

ซุ้มประตูท่าเรือ งดงามด้วยปูนปั้นศิลปะจีน


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทศกาลสร้างสรรค์'3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน'

งานเฟสติวัลในย่านเก่าเป็นอีกกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างแรงกระเพื่อมให้มหานครมีมิติร่วมสมัยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม สีสันความสนุกที่เคลือบด้วยสาระและคุณค่าของย่านกะดีจีนจะเกิดขึ้นในงานเทศกาล ” 3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน”

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

รมว.ท่องเที่ยวนำเอกชนไทยบุกตลาดอินเดียหวังโกยรายได้ 80,000 ล้านในปี 67

รมว.ท่องเที่ยวนำผู้ประกอบการเอกชนไทยร่วมงาน SATTE 2024 เร่งบูสต์ตลาดอินเดีย พร้อมตั้งเป้ารายได้ตลาดอินเดียกว่า 80,000 ล้านบาทในปี 2567

'ตรุษจีนเยาวราช'เฉลิมฉลองปีมังกรทอง

เทศกาลตรุษจีนถือเป็นงานปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยด้วย ซึ่งได้มีการสืบสานประเพณีของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนจัดงานตรุษจีนเป็นประจำทุกปี ย่านเยาวราชถือเป็นพื้นที่สำคัญจัดงานตรุษจีน มาอย่างต่อเนื่อง เทศกาลตรุษจีนเยาวราชประจำปี 2567

เที่ยววัดมหาธาตุฯ จัดสมโภชใหญ่ข้ามปี

เริ่มแล้วสำหรับงานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตามรอยประวัติศาสตร์พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่ง 3 ยุค ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567