ปชป.ยึดมั่นประชาธิปไตย ใครรวมเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล พรรคชนะอาจเป็นฝ่ายค้าน

25 มี.ค. 2566 - ที่โรงแรมบลิซ โฮเทล ลาดกระบัง พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมสมาชิกพรรค เพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม โดยบรรยากาศการทำไพรมารีโหวตของผู้สมัคร ส.ส. กทม. ในวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก มีสมาชิกพรรค และประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในการจัดทำไพรมารีแล้ว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเสร็จสิ้นการทำไพรมารี่ในวันที่ 27 มี.ค. ก็จะทราบว่า ทั้ง 400 คน 400 เขต เป็นใคร และบัญชีรายชื่อทั้ง 100 รายชื่อนั้นเป็นใครบ้าง เมื่อทางพรรคได้นำมาจัดทำไพรมารีแล้ว ก็จะทราบผล

สำหรับการที่ กกต. มีการประกาศเขตเลือกตั้งออกมานั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวผู้สมัครใน กทม. 4 เขต ประกอบด้วย น.ส.สุภัสสรา ธงไชย เขตห้วยขวาง วังทองหลาง นายสัตว์แพทย์อนันต์ ฤกษ์ดี เขตหนองจอก ลาดกระบัง และมีนบุรี น.ส.ศิริภา อินทรวิเชียร เขตธนบุรี คลองสาน ราษฏร์บูรณะ นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ เขตบางขุนเทียน จอมทอง เนื่องจาก กกต. มีการปรับเขตเลือกตั้ง ทำให้พรรคจำเป็นต้องปรับตาม ส่วนใน 29 เขต ก็คงเดิมตามที่ได้ประกาศเปิดตัวไปแล้ว

สำหรับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรามีครบทั้ง 100 ชื่อ เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะไม่เกิน 100 ชื่อ ที่จะต้องนำไปทำไพรมารี และประชาธิปัตย์ได้ส่งทั้ง 100 ชื่อ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาของพรรคในเบื้องต้น โดยจะรอผลจากการทำไพรมารีในวันที่ 27 มี.ค.นี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่สามารถตอบในตอนนี้ได้ ส่วนเรื่องการจัดลำดับบัญชีรายชื่อนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่กรรมการสรรหาจะต้องเป็นผู้พิจารณาและส่งให้กรรมการบริหารพิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการจับขั้วเพื่อรวมเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายจุรินทร์ ตอบว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักที่ได้ประกาศไปแล้วว่า เรายึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ใครรวมเสียงข้างมากได้คนนั้นก็เป็นรัฐบาล ที่เหลือก็เป็นฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเสียงประชาชนหลังการเลือกตั้งว่า พรรคไหนจะได้เท่าไหร่ แล้วใครจะไปรวมกับใคร กลายเป็นเสียงข้างมากเสียก่อน เพราะฉะนั้นต้องนับหนึ่งที่การเลือกตั้ง

ส่วนการจับขั้วนั้นสามารถทำได้ แต่จะเกิดจริงได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมือประชาชน ใครจะไปจับกับใครอย่างไรก็จับได้ แต่สุดท้ายประชาชนเป็นผู้ให้คำตอบ ประชาธิปัตย์จึงบอกว่า เมื่อเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เราก็เคารพประชาชน เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนเป็นคนแรกที่ให้คำตอบก่อน ว่าเขาจะให้พรรคไหนเท่าไหร่ และเมื่อถึงเวลานั้น พรรคก็จะพิจารณาว่าจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร โดยอาศัยที่ประชุมพรรค และต้องเป็นมติด้วย

“ประชาธิปัตย์นั้นเป็นประชาธิปไตยตัวจริง ตัวจริงทั้งประชาธิปไตยในพรรค และประชาธิปไตยนอกพรรคในระบบประชาธิปไตยสากล นี่คือสิ่งที่เรายึด ใครจะไปจับกับใครก็เป็นเรื่องของพรรคนั้น แต่ประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ไปจับกับใคร จึงตั้งหลักไว้ชัดเจนแล้วว่า ก็ต้องรอผลการเลือกตั้ง และเมื่อประชาชนให้คำตอบแล้ว เราก็จะตัดสินใจ เพราะต้องนับหนึ่งด้วยการเคารพเสียงประชาชนก่อน” นายจุรินทร์ กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ในการรวมเสียงข้างมากนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่เท่าไหร่รวมกับที่เท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อรวมเสียงประชาชนทั้งหมดแล้วใครมากกว่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ที่เท่าไหร่ก็สามารถตั้งขั้วหรือจับขั้วรวมกันเป็นรัฐบาลได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ได้รับเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ที่ 2 จะเป็นรัฐบาล ที่ 3 ที่ 4 เป็นฝ่ายค้าน เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับ 1 ก็เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งก็เกิดขึ้นได้เพราะการรวมเสียง ดังนั้นประชาธิปัตย์ก็มีโอกาสที่จะได้รับเสียงที่อยู่ในระดับที่สามารถรวมเสียงกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุวัจน์' หวนคืนชื่อเดิม 'พรรคชาติพัฒนา' แต่งตั้ง สส.แจ้ เป็นรองหัวหน้าพรรค

พรรคชาติพัฒนากล้า เปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า , นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ,

'ชัยเกษม' ออกตัวไม่เกี่ยวปรับครม. ผู้บริหารพรรคจะใช้ให้ทำอะไรก็ได้ สบายๆ

นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลตา ศาลยาย โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า การเดินทางมาไหว้วันนี้เกี่ยวอะไรกับการปรับ ครม.หรือไม่

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'เผ่าภูมิ' ปัดนายกฯ ส่งสัญญาณนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวได้เดินทางมารับเอกสารกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ว่า ตนไม่ให้คอมเมนท์ ยืนยันว่าขณะ

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ