'อดีตรมว.คลัง' แฉเอกสาร 'ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ' วางเป้าจับมือพันธมิตร เผชิญหน้ากับจีน

'ธีระชัย-อดีตรมว.คลัง' แฉเอกสารทำเนียบขาว ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ’ วางเป้าหมายจับมือกับพันธมิตรเพื่อเผชิญความท้าทายจากประเทศจีน หวังจัดระเบียบใหม่ ตีกรอบจำกัดอิทธิพลของจีนต่อโลก

16 มี.ค.2565 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ ไทยกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ บทความที่ 2 มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำเนียบขาวได้เผยแพร่เอกสาร ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ’
ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกสาร ดังต่อไปนี้

ข้อสังเกตที่สอง เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์คือการตั้งป้อมเผชิญหน้ากับจีน

เอกสารดังกล่าว ระบุว่า วิธีที่จะทำให้ผลประโยชน์ของสหรัฐมั่นคง ก็คือสหรัฐจะต้องวางตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโด-แปซิฟิก โดยจะต้องจับมือกับพันธมิตรเพื่อเผชิญความท้าทายจากประเทศจีน

สหรัฐเชื่อว่า จีนจะใช้พลังอำนาจทุกด้าน เศรษฐกิจ การฑูต และเทคโนโลยี ในการแผ่อิทธิพลให้ครอบคลุมอินโด-แปซิฟิก รวมไปถึงการใช้พลังทางการค้าเพื่อบีบออสเตรเลีย ความขัดแย้งกับอินเดีย การกดดันใต้หวัน และการรังควาญประเทศเอเซียในเรื่องเกี่ยวกับทะเลจีน

สหรัฐเห็นว่าพฤติกรรมของจีนฝ่าฝืนกฎมนุษยธรรม หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงสิทธิในการใช้เส้นทางเดินเรือ ดังนั้น สหรัฐจึงเรียกร้องให้ทุกประเทศพันธมิตรช่วยกันต่อต้านพฤติกรรมของจีน

ในเอกสารดังกล่าว สหรัฐอ้างว่า ไม่ต้องการจะเปลี่ยนรัฐบาลจีน แต่ต้องการจะจัดระเบียบเสียใหม่ ต้องการตีกรอบจำกัดอิทธิพลของจีนต่อโลก

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เคยเห็นเอกสารเผยแพร่ต่อชาวโลกของประเทศใด ที่ตั้งป้อมต่อประเทศคู่แข่งแบบชัดเจนแจ่มแจ้งแดงแจ๋เช่นนี้

ในแง่หนึ่งก็ต้องชมเชยสหรัฐ ที่วางจุดยืนอย่างเปิดเผย แต่ในอีกแง่หนึ่ง เอกสารที่วิจารณ์ประเทศคู่แข่ง โดยมิได้เปรียบเทียบกับผลงานและประวัติในการแทรกแซงการเมืองทั่วโลกของสหรัฐเองในอดีต นอกจากเป็นการสื่อภาพพจน์ด้านเดียวแล้ว ยังทำให้ประเทศเอเซียแต่ละประเทศ มีแต่จะระมัดระวัง ไม่อยากจะเอาตัวเข้าไปร่วมในยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ที่อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ ประเทศเอเซียรู้จักมักคุ้นกับประเทศจีนมาหลายพันปีแล้ว โดยประวัติศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิกมีทั้งสีขาวและสีดำ ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในโลก และหลายประเทศเอเซียก็อยู่ระหว่างหาทางเจรจากับจีนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้

แต่ส่วนใหญ่ต้องการจะหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหากันเองภายในเอเซียด้วยกันเสียมากกว่าที่จะไปเชื้อเชิญมหาอำนาจนอกพื้นที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนพร้อมเป็นผู้พิพากษาในเวลาเดียวกัน

ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารของทำเนียบขาวฉบับนี้ มิได้เน้นจุดยืนของสหรัฐในการสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อจรรโลงโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างกัน

แต่มีลักษณะเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดดาวรุ่งพุ่งแรงคือประเทศจีนเสียมากกว่า จึงไม่สามารถเรียกเอกสารแบบนี้ได้ว่า มีจุดยืนแบบ positive attitude

วันที่ 16 มีนาคม 2565
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
https://th.usembassy.gov/.../fact-sheet-indo-pacific.../...
เอกสารข้อเท็จจริง: ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' แนะทางเลือกเหมือน ไทย- มาเลเซีย

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' ชี้ไม่มีการระบุว่าเป็นการกำหนดแนวเขตทางทะเล ถ้าไทยฟ้องศาลโลกก็ไม่แน่ว่าจะชนะ แนะทางเลือกเจรจายุติปัญหาข้อพิพาท เช่น กรณีไทย- มาเลเซีย

'ธีระชัย' นิยามวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมาตรา 53 ต้องพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์ 5 ข้อ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง เงื่อนไขมาตรา 53 มีเนื้อหาดังนี้

'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้ง 'องค์กรก๊าซแห่งชาติ-ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป' แก้ราคาไฟฟ้าแพง

'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ แก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพง เป็นผู้มีสิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียว พร้อมประกาศนโยบายให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปแบบnet metering

ทำไมท่องเที่ยวไทยฟื้นน้อย? ‘ปธ.ด้านวิชาการ พปชร.’ มีคำตอบ

ถ้ารัฐบาลเน้นใช้นโยบายการคลังแบบกระตุ้นไปเรื่อยๆ ก็จะนำไปสู่เงินเฟ้อธปท.ก็จะหนีไม่พ้น ต้องใช้ดอกเบี้ยสูง เพื่อถ่วงดุล ทำให้เงินบาทแข็ง