'อดีตรมว.คลัง' เตือนอย่าชักศึกเข้าบ้าน ถ้า 'บิ๊กตู่' ไปเหยียบหัวแม่เท้าจีน โอกาสการค้าขายในภูมิภาคจะมลายหายไป

'ธีระชัย-อดีตรมว.คลัง'ยันไม่ได้เสนอให้เลือกระหว่างการค้ากับจีนและสหรัฐ แต่เตือน'ประยุทธ์'ต้องเดินระหว่างเขาควาย ไม่เอียวไปด้านใดด้านหนึ่ง โอกาสการค้าขายในภูมิภาคจะมลายหายไปถ้าไทยไปเหยียบหัวแม่เท้าของจีน

11พ.ค.2565 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความ หัวข้อ อย่าชักศึกเข้าบ้าน มีเนื้อหาดังนี้

ผมไม่ได้นิยมจีนเป็นพิเศษ หรือนิยมสหรัฐเป็นพิเศษ แต่ผมเน้นผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับจีน จะยกหนีไปไหนไม่ได้ จะยกไปแอบอิงสหรัฐไม่ได้ และในด้านการค้าขายกับจีน ก็มีแต่จะโตขึ้นทุกวัน บางคนกังวลว่าไทยคบจีนเสียเปรียบเพราะค้าขายขาดดุล

สินค้ายอดนิยมจากจีนเป็น consumer products เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และมือถือ เครื่องไฟฟ้า สินค้าแม่และเด็ก และของใช้รถยนต์

ถ้าไทยนำเข้าจากสหรัฐ/ยุโรปแทน ก็คงแก้ปัญหาขาดดุลกับจีนได้ แต่ไม่นานกระเป๋าจะฉีกขาดโหว่ ไทยจึงต้องแก้ขาดดุลกับจีน ด้วยการพัฒนาสินค้ายอดนิยมแก่คนจีน หาประโยชน์จากกลุ่มผู้ซื้อขนาด 1,400 ล้านคนให้จงได้

ส่วนที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐนั้น ก็อย่าเพิ่งไปดีใจ เพราะไทยพลาดโอกาสด้าน services อีกมาก โดยเฉพาะรายได้โฆษณาในโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้เสนอให้เลือกระหว่างการค้ากับจีนและสหรัฐ แต่เตือนว่าพลเอกประยุทธ์ต้องเดินระหว่างเขาควาย ไม่เอียวไปด้านใดด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ของไทย ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาการค้าในภูมิภาคได้มากขึ้นอีกด้วยเพราะประเทศไทยตั้งอยู่ตรงสี่แยกสุวรรณภูมิ มีจีนอยู่ทิศเหนือ มีอินเดียอยู่ทิศตะวันตก ประชากรสองพันกว่าล้านคนนี้ นับวันจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น

สองพันกว่าล้านคนนี้ นับวันจะมีฐานะดีขึ้น จะมีกำลังซื้อสูงขึ้น จะต้องการสินค้าคุณภาพสูงขึ้น จะต้องมีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากขึ้น จะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายสิบปี

แต่นับเวลามาหลายพันปี สองประเทศนี้ไม่สามารถส่งสินค้าหากันข้ามเทือกเขาหิมาลัยที่สูงทุ่สุดในโลกได้เลย และก็จะไม่มีวันทำได้ด้วย และการที่มีแนวพรมแดนยามร่วมกัน ทำให้เกิดการระหองระแหงอยู่เนืองๆ

ดังนั้น ประเทศไทยที่มีคนทั้งสองเชื้อชาติ จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้ เชื่อมการค้าผ่านสี่แยกได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังต้องซื้อวัตถุดิบและน้ำมันจากอัฟริกาตะวันออกอีกมาก ซึ่งไทยสามารถเชื่อมการค้าผ่านสี่แยกได้อีกด้วยโดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ระนอง แล้วเชื่อมรถไฟความเร็วสูงไปที่จีน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาเพิ่มมูลค่าแก่วัตถุดิบในไทย

สรุปแล้ว ไม่มีประเทศใดที่สามารถทำตัวเป็นห้องแถวคุมสี่แยกสุวรรณภูมิได้ดีเท่ากับไทยและจุดศูนย์กลางการค้าขายระดับทองคำนี้ จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่คนไทยไปได้อีกนับร้อยๆ ปี เป็น competitive advantage ทางภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติให้มา เทียบได้กับจุดพักคาราวานอูฐ caravanserai ที่เฟื่องฟูตามเส้นทางสายไหมพันปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี โอกาสการค้าขายในภูมิภาค จะมลายหายไป ถ้าไทยไปเหยียบหัวแม่เท้าของจีน ไม่ว่าโดยตนเอง หรือโดยตกหลุมของสหรัฐ

รูป 1 กต.กล่าว 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศยึดสมดุลอยู่แล้ว
ผมจึงขอถามว่า การที่พลเอกประยุทธ์บุ่มบ่ามลดตัวลงไปลงนามร่วมกับ รมว.กลาโหมสหรัฐในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ในแถลงการณ์ด้านการทหารของสองประเทศ …
แต่กล่าวพาดพิงไปถึงอินโด-แปซิฟิก และการเชื้อเชิญประเทศอื่นที่มีจุดยืนคล้ายกัน ตลอดจนบทบาทของอาเซียนนั้น …

เกินเลยไปจากความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสองประเทศ ใช่หรือไม่?มีประเทศอาเซียนอื่นที่ทำแถลงการณ์ทำนองนี้ หรือไม่? ประเทศใด?

ประเด็นที่สอง กต.กล่าวว่า เรื่อง นาโต้-2 เป็นแค่จินตนาการ!!!
ผมขอแสดงข้อมูลว่า ถ้าเป็นจินตนาการ ก็เป็นจินตนาการที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งถ้า กต.ไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของจิตนาการนี้ ก็เป็นการทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

รูป 2 บุคคลที่แถลงข่าวระดับนานาชาติ ที่แสดงจินตนาการกังวลเรื่องนาโต้เอเซีย คือ รมว.กต.จีน นายหวังยี
คนนี้ไม่ใช่นักวิเคราะห์โซเชียลมีเดียทั่วไปนะครับ

รูป 3 เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 บอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษระบุว่า ถึงเวลาที่นาโต้จะขยายขอบเขตไปทั่วโลก
คนนี้ก็ไม่ใช่ผู้นำประเทศกระจอกทั่วไปนะครับ

รูป 4 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ลิซ ทรัส รมว.กต.อังกฤษ ก็ระบุว่า ถึงเวลาที่นาโต้จะขยายบทบาทไปปกป้องใต้หวัน
NATO ย่อมาจาก North Atlantic Treaty Organization ซึ่งหมายถึงพื้นที่เฉพาะมหาสมุทรอัตลันติกตอนเหนือ แต่กำลังจะขยายบทบาทไปทั่วโลก คนนี้ก็ไม่ใช่รมว.กต.ประเทศกระจอกทั่วไปนะครับ

รูป 5 เกาหลีใต้เป็นประเทศเอเซียประเทศแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมนาโต้อย่างเป็นทางการ โดยเข้าร่วมกลุ่มป้องกันด้านไซเบอร์

รูป 6 กลุ่มนี้เรียกว่า Nato Cooporative Cyber Defense Center of Excellence ตั้งอยู่ที่เอสโตเนียในยุโรป นอกจากสมาชิกนาโต้ 27 ประเทศแล้ว ขณะนี้มีประเทศนอกอีก 5 ประเทศ เป็นการแสดงการรุกคืบของนาโต้เข้าไปในเอเซีย ทีละคืบ ทีละคืบ

รูป 7 ในการประชุมระดับซัมมิตนาโต้ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย. 2565 ปรากฏว่านาโต้ได้เชิญผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้เข้าร่วม ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้คนนี้ ได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะกลับไปจับมือแน่นแฟ้นกับสหรัฐเหมือนในอดีตหลายสิบปีก่อน

อธิบายแบบชาวบ้าน คือกลับไปยุคสงครามเย็นนั่นเอง แต่เปลี่ยนตัวคู่ต่อสู้กับตะวันตก จากสหภาพโซเวียต ไปเป็นจีน
ถามว่า การเดินหมากเชื่อมโยงไปที่นาโต้ตานี้ของเกาหลี เป็นจินตนาการดังที่ กต.ไทยบรรยาย หรือไม่?
ต้องดูรูป 8 ทันทีที่สำนักข่าวยอนหับของเกาหลีใต้ทวิตข้อความ ข่าวเรื่องเกาหลีใต้ไปร่วมกิจกรรมกับนาโต้ด้านสงครามไซเบอร์ …

นายหู ซีจิน ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรข่าวที่เป็นแขนขาของรัฐบาลจีน ก็ทวิตตอบโต้ …
เขาเตือนว่า การที่เกาหลีเลือกเดินถนนสายที่เป็นปรปักษ์กับเพื่อนบ้านอย่างนี้ จุดหมายปลายทางของถนนสายนี้ อาจจะเป็นเหมือนยูเครน!!!

นี่ไม่ใช่จินตนาการของคนในโซเชียลมีเดียทั่วไปอย่างแน่นอน

รูป 9 รมช.กต.จีน นายลี ยูเชง ก็ออกมากล่าวสำทับเกาหลีใต้ เตือนเรื่องอนาคตจะเป็นเหมือนยูเครน และอ่านระหว่างบรรทัดได้ชัดแจ้งว่า จีนมองว่าต้นตอของปัญหาเกิดจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ
สรุปแล้ว พลเอกประยุทธ์ที่เดินทางไปร่วมประชุมกับไบเดน ควรพิจารณาหาทางวางภาพพจน์ท่าทีของไทยเตรียมเอาไว้

โดยควรจะแถลงข่าวของอาเซียน หรือ ของไทย ว่าพร้อมจะสนับสนุนแนวทางของสหรัฐ ถ้าหากไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่เป็นการกีดกันทางการค้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' แนะทางเลือกเหมือน ไทย- มาเลเซีย

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' ชี้ไม่มีการระบุว่าเป็นการกำหนดแนวเขตทางทะเล ถ้าไทยฟ้องศาลโลกก็ไม่แน่ว่าจะชนะ แนะทางเลือกเจรจายุติปัญหาข้อพิพาท เช่น กรณีไทย- มาเลเซีย

'ธีระชัย' นิยามวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมาตรา 53 ต้องพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์ 5 ข้อ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง เงื่อนไขมาตรา 53 มีเนื้อหาดังนี้

'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้ง 'องค์กรก๊าซแห่งชาติ-ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป' แก้ราคาไฟฟ้าแพง

'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ แก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพง เป็นผู้มีสิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียว พร้อมประกาศนโยบายให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปแบบnet metering