กสม.เล่นบทอินเตอร์ขีดเส้น 60 วันให้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนแก้เรื่องละเมิดสิทธิฯ

กสม.ชี้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการ จี้เยียวยาใน 60 วัน

11 ส.ค.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 อันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ กรณีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับทุนรัฐบาลสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทำงานกับสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เป็นสมาชิก และผู้ร้องได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับเข้าทำงานแล้ว โดยองค์กรผู้ถูกร้องได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แจ้งให้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ร้องเข้ารับตำแหน่ง แต่ต่อมาภายหลังผู้บริหารองค์กรดังกล่าวได้นัดหมายให้ผู้ร้องเข้าพบเพื่อยืนยันความพร้อมในการปฏิบัติงานและเมื่อเห็นสภาพร่างกายของผู้ร้อง ก็ได้แจ้งยกเลิกการจ้างงานในตำแหน่งที่ผู้ร้องผ่านการคัดเลือก

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม บัญญัติห้ามมิให้กระทำการเช่นว่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ยอมรับได้ จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ผู้ถูกร้องไม่แต่งตั้งผู้ร้องให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเนื่องจากพบว่าผู้ร้องมีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว โดยผู้ถูกร้องอ้างว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติทางกายภาพตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติของตำแหน่งงาน ทั้งที่ไม่ได้ระบุคุณสมบัติไว้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครว่าไม่ประสงค์ให้ผู้พิการเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้เหตุแห่งความพิการของผู้ร้องในการไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ถูกร้องจะแจ้งเหตุผลว่าตำแหน่งดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องประสานกับภาคีเครือข่าย และต้องเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา จึงตัดสินใจไม่แต่งตั้งให้ผู้ร้องดำรงตำแหน่งที่คัดเลือกไว้ พร้อมกับได้เสนองานในตำแหน่งอื่นเป็นการทดแทน แต่ กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องย่อมสามารถใช้วิธีการอื่นในการพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งงานของผู้ร้องก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและสภาพการจ้างงานผู้ร้อง เช่น การให้ทดลองปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนดและประเมินผล เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะในการทำงานตำแหน่งนั้น ๆ แต่เมื่อผู้ถูกร้องไม่ได้กระทำการดังกล่าว และกลับใช้ดุลยพินิจตัดสินจากสภาพทางกายของผู้ร้องว่าไม่อาจปฏิบัติงานในตำแหน่งที่คัดเลือกเข้ามาได้ จนนำไปสู่การถอนข้อเสนองานในเวลาต่อมา การกระทำของผู้ถูกร้องเช่นนี้ จึงเป็นการตอกย้ำในเหตุแห่งความไม่เท่าเทียม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคลและไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง) กระทรวงศึกษาธิการ และสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปได้ ดังนี้

1.ให้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องตามสมควร โดยอย่างน้อยจะต้องมีการขอโทษผู้ร้องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้กฎระเบียบของผู้ถูกร้อง รวมถึงการชดเชยเป็นค่าเสียหายจากการที่ผู้ร้องไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ผ่านการคัดเลือก

2.ให้สภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของผู้ถูกร้อง นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ไปใช้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้อีก

3.ให้กระทรวงศึกษาธิการแจ้งองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในกรณีจะต้องมีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรนั้น ๆ โดยจะต้องมิให้กำหนดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังเช่นกรณีตามคำร้องนี้อีก

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ

หนุ่มพิการ ร้องสภาทนายฯ วอนช่วยเหลือถูกจนท.รัฐไล่รื้อบ้าน ออกหมายจับพ่อ

หนุ่มพิการ สุดทน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ไล่ที่รื้อบ้าน และออกหมายจับบิดา วอนสภาทนายฯช่วยให้ความยุติธรรม ‘นายกวิเชียร’ เตรียมส่งทนายลงพื้นที่ ไม่ทิ้งคนพิการไว้ข้างหลัง

'อนุทิน' จ่อถอดเทป 'เศรษฐา' จ้อสื่อนอก ลั่น 'กัญชาเสรี' อยู่ในนโยบายรัฐบาล

'อนุทิน' ยัน 'กัญชา' มีประโยชน์ทางการแพทย์-เศรษฐกิจ บรรจุในนโยบายรัฐบาลแล้ว หลังนายกฯ ระบุจะนำกลับบัญชียาเสพติด ชี้หากเปลี่ยนแปลงต้องแก้กฎหมายหลายตัว เยียวยาผู้ทำถูกต้อง

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง