เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

5 ก.ค.2567- นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) แจ้งข้อกล่าวหาผู้ร้องว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือพ้นจากการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 วรรคหนึ่ง และสอบปากคำผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นอกจากนี้ ยังพบว่าสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้สารไซยาไนด์ (Cyanide) ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ร้องกระทำความผิด และสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวของผู้ร้องออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โดยใช้ระยะเวลานานเกินสมควร อีกทั้งยังพบสื่อมวลชนบางสำนักคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องและครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทนายความ อันสอดคล้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว โดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลอื่น การกระทำใดอันเป็นการละเมิดสิทธิหรือกระทบต่อสิทธินั้น หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2564 และแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน

จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่แจ้งต่อผู้ร้องว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร้องตามประมวลกฎหมายอาญา และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาทราบ แต่จากการพิจารณาข้อความในรายงานประจำวันปรากฏเพียงว่า “ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบซึ่งผู้ต้องหาทราบ และเข้าใจดีโดยตลอดแล้ว” โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการมีทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่มีสิทธิได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ในชั้นนี้จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เห็นว่า การที่สถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวคดีของผู้ร้องโดยเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่ายใบหน้าหรือรูปพรรณสันฐาน ชื่อ นามสกุลที่อยู่อาศัย ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติทางการเงิน ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ แม้ว่าสื่อมวลชนบางรายพยายามปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ร้องโดยการเบลอภาพไว้ก็ตาม แต่มีการบรรยายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องที่สามารถระบุตัวตนได้ และพบว่าสื่อมวลชนได้บันทึกภาพผู้ร้องขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ทำให้ผู้ชมโดยทั่วไปสามารถทราบได้ว่าผู้ร้องเป็นใคร การกระทำลักษณะนี้ จึงเป็นการใช้เสรีภาพของสื่อที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลเกินสัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำ ตีตรา และด้อยค่าผู้ตกเป็นข่าวโดยใช้ภาพผู้ร้องเป็นภาพประกอบ บางรายการมีรูปแบบรายการข่าวเชิงสืบสวนโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำนำเสนอข่าวเชิงตัดสินและตีตราผู้ร้องว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีการตั้งฉายาบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยใช้ชื่อบุคคลต่อด้วยสารไซยาไนด์ที่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อมีการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สาธารณชนเชื่อว่าผู้ร้องกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ กรณีสื่อมวลชนคุกคามสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของครอบครัวผู้ร้อง เช่น ดักรอบริเวณเคหสถานของบิดามารดา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แสวงหาข้อมูลและเก็บบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งติดต่อสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จักผู้ร้องเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ร้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลไปเสนอต่อสาธารณชนอันเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน อับอาย หรือได้รับความทุกข์ทรมานใจ ตามที่รัฐธรรมนูญ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กำชับพนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิในชั้นสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบด้วยวาจาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด และกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และให้สื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และให้สถานีโทรทัศน์จัดให้มีการอบรมหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อมวลชนในสังกัด รวมทั้ง ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกหนังสือเวียนเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมหรือความรุนแรง มาตรฐานในการไม่เปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลผู้ตกเป็นข่าว รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาของการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่เหมาะสม และพิจารณาให้การเยียวยาแก่ผู้ร้องตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.

กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี

กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ

กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567

กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ

ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ

แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง