'อ.ทองย้อย' แนะนำบทสวด 'มหากัสสปโพชฌังคสูตร'

อาจารย์ทองย้อยแนะนำบทสวดมหากัสสปโพชฌังคสูตร เผยเป็นโพชฌงค์ฉบับเต็มอยู่ในพระไตรปิฎก ชวนใช้สวดเสริมกับโพชฌงคปริตรก็ได้

21 ธ.ค.2565 - พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “มหากัสสปโพชฌังคสูตร” มีเนื้อหาว่า ช่วงเวลานี้ วัดต่าง ๆ มีการสวดบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “โพชฌงค์” หน่วยงานและประชาชนทั่วไปก็ชักชวนเชิญชวนกันสวดด้วย ตามที่คณะสงฆ์ขอความร่วมมือ นับเป็นกิจที่ควรแก่การอนุโมทนา

ทำไมจึงสวดโพชฌงค์ คงมีผู้อธิบายให้รับรู้กันทั่วไปแล้ว ขอผ่านประเด็นนี้ไป

ผมเข้าใจว่า “โพชฌงค์” ที่สวดกันนั้นคงเป็นบทที่เรียกว่า “โพชฌงคปริตร” อันเป็นพระปริตรบทหนึ่งที่พระสงฆ์ท่านสวดในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลซึ่งเราท่านย่อมได้สดับกันอยู่เนือง ๆ

“โพชฌงคปริตร” ดังกล่าวนี้อาจเรียกว่าเป็นโพชฌงค์ฉบับย่อ คือ เป็นบทที่โบราณาจารย์ท่านเก็บความในโพชฌงคสูตรในพระไตรปิฎกมาเรียบเรียงขึ้นและนิยมใช้สวดกันสืบมา

ยังมีโพชฌงค์สูตรซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโพชฌงค์ฉบับเต็มอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ชาวเรา-คือ ทั้งชาววัด และชาวบ้าน-ไม่ได้นำมาสวดกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นโพชฌงค์ต้นฉบับ นับว่าชอบกลอยู่

ผมพิจารณาเห็นว่า โพชฌงค์ฉบับเต็มน่าศึกษาและน่าสวด จึงขออัญเชิญจากพระไตรปิฎกมาเสนอไว้ในที่นี้
โพชฌงคสูตรในพระไตรปิฎกเท่าที่เห็นมี 3 สูตร คือ มหากัสสปโพชฌังคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร และมหาจุนทโพชฌังคสูตร ในที่นี้ขอนำเฉพาะมหากัสสปโพชฌังคสูตรมาเสนอเพียงสูตรเดียวก่อน อีก 2 สูตรนั้นสาระสำคัญตรงกัน ต่างกันที่มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตรว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ทรงแสดงโพชฌงค์โปรด และมหาจุนทโพชฌังคสูตรว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงอาพาธ รับสั่งให้พระมหาจุนทะสาธยายโพชฌงค์ให้ทรงสดับ

ผู้สนใจรายละเอียดสามารถตามไปศึกษาได้จากที่มาเดียวกันกับมหากัสสปโพชฌังคสูตร

ท่านที่มีศรัทธาจะสวด ถ้าจะใช้มหากัสสปโพชฌังคสูตรนี้สวดเสริมเพิ่มขึ้นจากโพชฌงคปริตรที่สวดกันทั่วไปแล้ว ก็น่าจะดี

เวลานี้เราสวดมนต์โดยวิธีกางหนังสืออ่านกันทั่วไป เพราะฉะนั้น หากจะกางมหากัสสปโพชฌังคสูตรเพิ่มขึ้นอีกสักบทหนึ่งก็คงไม่ลำบากอะไร

คำเสนอแนะของผมก็คือ ควรจะอ่าน-เหมือนอ่านหนังสือ-ไปสักหลาย ๆ เที่ยวก่อน โดยเฉพาะควรทำความเข้าใจหรือหาความรู้จากคำแปลด้วย จะได้รู้ความหมายที่สวด แต่เวลาสวดออกเสียงสวดเฉพาะคำบาลี โดยไม่ต้องพะวงกับคำแปล อยากรู้ความหมายก็มาอ่านเอาทีหลังได้

โพชฌงคสูตรจะศักดิ์สิทธิ์หรือจะรักษาโรคได้จริงหรือไม่-นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตเสนอแนะว่า-อย่าไปคำนึงถึง ประเด็น คือ สวดแล้วจิตของเราเป็นสมาธิ เป็นกุศล ทั้งได้ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมไปด้วย-เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ประเด็น

ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านครับ
................................................
มหากัสสปโพชฌังคสูตร
................................................
เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา ราชะคะเห วิหะระติ เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป ฯ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์

เตนะ โข ปะนะ สะมะเยนะ อายัส๎มา มะหากัสสะโป ปิปผะลิคุหายัง วิหะระติ อาพาธิโก ทุกขิโต พาฬหะคิลาโน ฯ
ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนักอยู่ที่ปิปผลิคูหา

อะถะ โข ภะคะวา สายัณหะสะมะยัง ปฏิสัลลานา วุฏฐิโต เยนายัส๎มา มะหากัสสะโป เตนุปะสังกะมิ อุปะสังกะมิต๎วา ปัญฺญัตเต อาสะเน นิสีทิ ฯ นิสัชฺชะ โข ภะคะวา อายัส๎มันฺตัง มะหากัสสะปัง เอตะทะโวจะ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสปะว่า

กัจจิ เต กัสสะปะ ขะมะนียัง กัจจิ ยาปะนียัง กัจจิ ทุกขา เวทะนา ปะฏิกกะมันติ โน อะภิกกะมันติ ปะฏิกกะโมสานัง ปัญญายะติ โน อะภิกกะโมติ ฯ
ดูก่อนกัสสปะ เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กําเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกําเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ

นะ เม ภันเต ขะมะนียัง นะ ยาปะนียัง พาฬหา เม ทุกขา เวทะนา อะภิกกะมันติ โน ปะฏิกกะมันติ อะภิกกะโมสานัง ปัญญายะติ โน ปะฏิกกะโมติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม้ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กําเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกําเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ

สัตติเม กัสสะปะ โพชฌังคา มะยา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตันติ ฯ
ดูก่อนกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

กะตะเม สัตตะ ฯ
โพชฌงค์ 7 เป็นไฉน?

สะติสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
วิริยะสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ปีติสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ปัสสัทธิสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
สะมาธิสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
อุเปกฺขาสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ

ดูก่อนกัสสปะ สติสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความระลึกได้) เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความสอดส่องสืบค้นธรรม) ...
วิริยสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความเพียร) ...
ปีติสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ...
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ) ...
สมาธิสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความมีใจตั้งมั่น) ...
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง) เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

อิเม โข กัสสะปะ สัตตะ โพชฌังคา มะยา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตันตีติ ฯ
ดูก่อนกัสสปะ โพชฌงค์ 7 เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

ตัคฆะ ภะคะวา โพชฌังคา ตัคฆะ สุคะตะ โพชฌังคาติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์เป็นจริงดังพระดำรัส ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ถูกต้องดังพระดำรัส

อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ อัตตะมะโน อายัส๎มา มหากัสสะโป ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทิ ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปะปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

วุฏฐาหิ จายัส๎มา มะหากัสสะโป ตัมหา อาพาธา ตะถา ปะหีโน จายัส๎มะโต มะหากัสสะปัสสะ โส อาพาโธ อะโหสีติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่านพระมหากัสสปะละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
................................................
ที่มา: สังยุตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 415-419

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้องอ่าน! อ.ทองย้อยชำแหละสันดานนักการเมือง

อ.ทองย้อยเขียนบทความเรื่องอนาคตบ้านเมืองเรา ตีแผ่สันดานนักการเมืองตอกย้ำผู้ทำงานสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ชี้คนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองต้องบำเพ็ญตนแบบเดียวกับพระโพธิสัตว์

‘อ.ทองย้อย’ เขียน’ถวายข้อคิดเพื่อโปรดพิจารณา’ สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์

กรณีพระราชทานสมณศักดิ์เป็นอำนาจโดยตรงของพระราชา ฉันใด กรณีศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสอนธรรม ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์

'พล.ร.ต.ทองย้อย' เล่าประวัติศาสตร์เรือรบไทยมีอาถรรพณ์!

'พล.ร.ต.ทองย้อย' ไล่เรียงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ 4 เรือหลวง มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจทั้งในเรื่องลำดับการเกิดเรื่องรวมทั้งความเกี่ยวข้องกับยุคสมัย

'อ.ทองย้อย' หวังให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันฉลาดเรื่องพระ!

พล.ร.ต.ทองย้อยออกบทความเรื่องช่วยกันฉลาดเรื่องพระ ชี้จะเป็นการช่วยพระรักษาพระธรรมวินัย เพราะทุกวันนี้ทั้งพระและฆราวาสต่างไม่รู้เรื่องที่พระห้ามทำและเรื่องที่ต้องทำ บอกคนรุ่นใหม่ที่ทะนงตัวว่าฉลาดช่วยฉลาดเรื่องพระอีกเรื่อง

'ปราชญ์ชาวพุทธ' เผยเรื่องของ อ.เสฐียรพงษ์ ที่น้อยคนจะรู้ เป็นเครื่องเตือนสติ รักษาพระศาสนา

พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ปราชญ์ชาวพุทธ อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ดีกรีเปรียญธรรม 9 ประโยค และเป็นผู้ได้ชื่อว่า "กวีสองแผ่นดิน" โพสต์เฟซบุ๊กว่า "เรื่องของอาจารย์เสฐียรพงษ์ที่ผมรู้"

รอยไทยที่ถูกทิ้ง! 'อ.ทองย้อย' ขอยืนไว้อาลัย 'พุทธศักราช 2565' คนไทยแห่ต้อนรับปี 2022

พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ปราชญ์ชาวพุทธ อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ดีกรีเปรียญธรรม 9 ประโยค