'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกทุกพรรคการเมือง 'สอบตก' นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกพรรคการเมืองไทยทุกพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 'สอบตก' เรื่องนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล จี้ทบทวน เรือปั่นไฟจับปลากะตัก เรืออวนลาก เตือนไทยหลีกมาตรการทางสากลต่างๆไม่ได้

11ม.ค.66 - นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง นโยบายพรรคการเมืองต่อบทบาทในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย มีเนื้อหาดังนี้

ช่วงนี้ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ พรรคการเมืองกำลังเสนอนโยบายของพรรคเพื่อให้ตอบโจทย์ของปัญหาในแต่ละด้าน ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคให้เกียรติบุกมาถึงสนง.มีหลายคำถามที่น่าสนใจ ผมขอประมวลสรุปไว้เผื่อที่พรรคการเมืองต่างๆสนใจจะนำไปไตร่ตรองดู ว่าท่านควรจะมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับปัญหา/และทางออกของทรัพยากรทะเล

1.ผมบอกไปว่าพรรคการเมืองไทยทุกพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “สอบตก” ในเรื่องของนโยบายในบริหารจัดการทรัพยากรทะเล ผมวิเคราะห์แบบไวๆให้เขาฟังว่า เพราะทุกพรรคการเมืองไม่ได้เป็นพรรคมวลชนที่แท้จริงแม้แต่พรรคเดียว แต่ส่วนมากเป็นพรรคของกลุ่มทุนทั้งในระดับชาติและทุนท้องถิ่น ในเรื่องทะเลตัวแทนพรรคการเมืองคือเจ้าของธุรกิจทางการประมงตั้งแต่เจ้าของเรือใหญ่/แพปลา/โรงงานน้ำแข็ง/โรงงานปลาป่นฯลฯ ถ้ามาดูกันในแง่ของฐานมวลชนที่แท้จริงชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศใน22จังหวัด มีจำนวนถึง85%ของประชากรที่ทำอาชีพประมง แต่ประมงพานิชย์มีเพียง15%แต่พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนผูกอยู่กับกลุ่มประมงพานิชย์ที่มีจำนวนเพียง15% อะไรที่เป็นเช่นนั้นสังคมไทยรู้ดี

2.พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ทำการบ้านในเรื่องทรัพยากรในทะเลอย่างจริงจัง มองแต่ภาพเฉพาะหน้า ขาดวิสัยทัศน์ในการจัดการทรัพยากรทะเลที่ยั่งยืน และปล่อยให้อำนาจในการต่อรองทั้งในระดับนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบทุนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในเรื่องปัญหาทรัพยากรทางทะเลผมยังไม่ได้ยินพรรคไหนพูดถึงการพัฒนาทรัพยากรในทะเลอย่างยั่งยืนแม้พรรคเดียว แต่มักพูดถึงจะทำอย่างไรให้พี่น้องทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านอยู่ร่วมกันให้ได้ เสมือนพยายามคิดค้นนโยบายที่จะเอา “ฝูงลูกเขียดกับงูจงอางมาขังไว้ร่วมกันในโอ่งเดียวกัน”ให้ได้ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ทำการบ้านทั้งในเรื่องต้นทุนทางทรัพยากร การประกอบอาชีพที่หลากหลายและแตกต่างของอาชีพประมงหรือวิทยาศาสตร์ทางทะเลแม้แต่นิดเดียว

3.พรรคการเมืองพยายามคิดรูปแบบที่ทำให้ดูเสมือนการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เช่นเสนอ “สภาชาวประมงแห่งชาติ” ซึ่งก็ดูดีทีเดียว แต่ในทางปฏิบัติอยากให้แต่ละพรรคลองไปศึกษา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร คณะกรรมการชุดต่างๆที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา(เวลาถูกเกษตรกรสาขาอาชีพต่างๆเดือนร้อนแล้วทนไม่ไหวลุกกันขึ้นมาเดินขบวน)ฯลฯ ว่ากลไกเหล่านั้นสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน???และติดขัดตรงไหน??? การเสนออะไรใหม่ๆให้ดูดีๆมันไม่พอ เพราะประชาชนเองก็มีประสบการณ์มาแล้วมากมาย

3.รูปธรรมของความล้มเหลวในอดีตในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่พรรคการเมืองจะต้องทบทวนเช่น

3.1 กรณีเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้างที่เรียกว่า “เรือปั่นไฟจับปลากะตัก” ในปี2526ประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเดือดร้อนกันมาก มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรฯโดยนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รมช.เกษตรในสมัยนั้น ปัญหาก็ทุเลาเบาบางลง แต่พอถึงปี2539มีรัฐมนตรีท่านนึง(นายมณฑล ไกรวัศนุสรณ์ ซึ่งก็มาจากธุรกิจประมงพานิชย์)ออกประกาศยกเลิกให้กลับไปทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟได้อีก ไม่มีพรรคการเมืองไหนแม้แต่พรรคเดียวที่ลุกขึ้นมาทัดทาน เป็นที่มาของลูกปลาทูตัวเล็กยังถูกทำลายอย่างมหาศาลและต้มตากขายกันเกลื่อนตลาดในปัจจุบัน

3.2 กรณี เรืออวนลาก นักวิชาการกรมประมงได้พยายามทำหน้าที่บอกว่าภาวะทรัพยากรทางทะเลไทยกำลังวิกฤติ อยู่ในภาวการณ์ทำการประมงที่เกินศักยของทะเล(Over Fishing) จากงานวิจัยทุกสำนักสรุปว่า “อวนลาก” คือเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลายชนิดที่รุนแรงที่สุด จะต้องหาทางยุติ วิธีการในยุคนั้นคือการหาทางยุติโดยวิธีการนิ่มนวลค่อยเป็นค่อยไปโดยออกมาตรการไม่ให้มีการต่ออาญาบัตรและไม่ออกทะเบียนเรือเพิ่ม มีจำนวนเท่าไหร่ก็หยุดแค่นั้น เมื่อเรือเก่าหมดอายุใช้งาน อวนลากก็จะหมดไปจากท้องทะเลไทย แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลเพราะทุกพรรคการเมือง ปล่อยให้มีการ “นิรโทษกรรมเรืออวนลาก”หนแล้วหนเล่า ประเทศนี้มีการนิรโทษเรืออวนลากมาแล้ว4ครั้ง ปัญหาทรัพยากรในทะเลไทยจึงวิกฤติสุดๆ เมื่อโดนมาตรการสากลอย่างกรณี IUU FISHING /C.188 ทั้งประมงพาณิชย์ขาใหญ่และกรมประมงตลอดจนกลไกลวกๆที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงดิ้นกันเป็นไส้เดือนโดนขี้เถ้าอยู่ในปัจจุบัน

4.ประเทศเราหลีกมาตรการทางสากลต่างๆไม่ได้หรอก ไม่ว่าข้อตกลงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเรื่องSDG( Sustainable Development Goal)เรื่องทะเลอยู่ในข้อที่14/IUU FISHING/มาตรการคุ้มครองแรงงานประมงC.188ฯลฯ เพราะหากเราไม่รับ/ไม่ปฏิบัติก็จะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆอีกมากมาย พรรคการเมืองไม่ควรหาเสียงเพียงเพื่อเอาชัยชนะการเลือกตั้งเฉพาะหน้า ไม่บอกความจริงกับประชาน แต่เลือกพูด/บอกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ลงไปหาเสียง

5.พรรคการเมืองทุกพรรคจะมีคณะกรรมการนโยบายพรรค ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ไม่ค่อยสนใจข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลายๆกรณีไม่สามารถเอาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน/สมาชิกมาเป็นที่ตั้งได้ ต้องมีข้อมูลที่เป็นวิชาการ/เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรื่องบริหารจัดการทรัพยากรเป็นหนึ่งในเรื่องเหล่านั้น......

เรียนมาด้วยความรักในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทน/และเอาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้งครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ปลื้มนานาชาติสนใจหุ้นกู้สีเขียวของไทยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์!

นายกฯ ภาคภูมิใจได้นำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนและอารยะเกษตร ในเวที UNGA ครั้งที่ 78 เผยต่างชาติสนใจการออกหุ้นกู้สีเขียว หวังจะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปลื้ม 'ยูเอ็น' ยกไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียน ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯยินดีองค์การสหประชาชาติจัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้นและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์กำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ

'เอ็นจีโอใต้' ร่อนจม.เปิดผนึก ฟ้อง นายกฯ ลงมาสงขลา ให้เห็นปัญหาบุกรุกเมืองเก่า-สุสานเรือเวียดนาม

'บรรจง นะแส' ร่อนจม.เปิดผนึกถึงผู้ว่าฯสงขลา ให้เรียนนายกฯ ที่ลงมาสงขลา เห็นปัญหาการบุกรุกทำลายแหล่งโบราณสถานเมืองเก่าที่อัยการยังไม่สั่งฟ้อง และกรณีสุสานเรือเวียดนามจอดระเกะระกะอยู่ตรงปากร่องน้ำร้อยกว่าลำ

สมาคมรักษ์ทะเลไทย ชำแหละนโยบายประมงพรรคก้าวไกล บอกตรงๆผิดหวังมาก

นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ตื่นเช้ามานั่งอ่านนโยบายประมงของพรรคก้าวไกล บอกตรงๆรู้สึกผิดหวัง

'สสว.' ผนึกกำลัง 'สอวช.' คิกออฟ โครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วย 'บีซีจี'

สสว. ผนึกกำลัง สอวช. คิกออฟโครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วยบีซีจี ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ สร้างโอกาสแข่งขัน เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน

โฆษกรัฐบาล ยัน 'รัฐบาลประยุทธ์' มีผลงานแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง พร้อมเดินหน้าต่อเนื่อง

โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ มีผลงานแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านน้ำต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สิน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชน