สร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม สุขภาพในสมการการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในวันนี้ที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นคำพูดสวยหรูที่แพร่หลายไปทั่วทุกแวดวงสังคม ตั้งแต่เป็นป้ายอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา ไปจนถึงหัวข้องานสัมมนาโดยบริษัทชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศ ชีวิตของรจและชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ได้ผ่านวันคืนที่เติบโตมากับเสียงหริ่งเรไรยามค่ำท่ามกลางป่าที่สมบูรณ์ สู่ยุคที่เสียงธรรมชาติและอากาศสะอาดถูกทดแทนด้วยเสียงระเบิดเหมืองและมลพิษ มาถึงจุดปัจจุบันที่ซากการพัฒนาทิ้งสารเคมีไว้ในดินและน้ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบภัยจากปัญหาการพัฒนาเหมืองแร่ที่ขาดมิติการฟื้นฟู และขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในสมการ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา 2022 Thai Equity Initiative Fellows (ในนามเครือข่าย Restorative Culture Coalition Thailand) และภาคี ได้จัดเสวนาสาธารณะเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ สังคม สุขภาพ ประเทศไทย โดยใช้กรณีศึกษาจากหกหมู่บ้านรอบเหมืองทองในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่รวมกันต่อสู้ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อถอดบทเรียนพัฒนาเป็นกรอบขับเคลื่อนการสร้าง Restorative Culture ในประเทศไทยซึ่งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาระดับสากลในช่วงสิบปีนี้ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นทศวรรษการฟื้นฟูระบบนิเวศ (the UN Decade on Ecosystem Restoration, 2021 – 2030) ที่เสนอหลักการฟื้นฟูระบบนิเวศให้ (1) Reduction ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (2) Remediation/Removal การขจัดสิ่งปนเปื้อน แก้ไข เยียวยา (3) Rehabilitation การฟื้นคืนการทำหน้าที่บริการทางนิเวศในพื้นที่เสียหาย และ (4) Restoration การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายให้สมบูรณ์ เอื้อต่อชีวิตผู้คนและธรรมชาติ

กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ชุมชนได้ต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม มีหลักฐานประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และจิตใจของคนในชุมชน จนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2561 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำชดใช้ค่าเสียหายกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดแก้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนร่วมทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย แต่บริษัทเหมืองประกาศล้มละลายปิดกิจการไปเพียงไม่กี่เดือนก่อนศาลตัดสิน ผู้ก่อมลพิษทิ้งให้รัฐ (ผ่านการใช้ภาษีที่เก็บจากประชาชน) รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่แทน และกระบวนการก็ลากยาวมาห้าปีก่อนที่จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยที่มีสัดส่วนภาคประชาชนและหน่วยงานราชการเท่ากันเพื่อเริ่มร่างแผนฟื้นฟูฯร่วมกันในเดือนตุลาคม ปี 2566 ที่จัดงานนี้พอดี

จากการเสวนาและกรณีศึกษานี้ที่มีตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองในจังหวัดปัตตานี หนองบัวลำภู เชียงใหม่ และนครราชสีมา นักวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย โดยมีความคิดเห็นเบื้องต้นว่าการสร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม และสุขภาพ (Restorative Culture) ต้องมีองค์ประกอบทั้งจากการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการพัฒนา การจัดการของรัฐที่ทำให้ผู้ก่อมลพิษต้องนำเรื่องการฟื้นฟูใส่เข้าไปในแผนโครงการพัฒนาแต่ต้น การพัฒนากฎหมายที่ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองและสร้างความมั่นคงในระบบยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลมาใช้และทำให้การเก็บข้อมูลเป็นไปได้ง่ายและไม่แพงสำหรับชุมชน การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และท้ายสุดแต่สำคัญมากคือการสร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงผลกระทบของการพัฒนา

นอกจากบทเรียนที่ต้องนำแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ เข้าไปในสมการแล้ว กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดยังมี Soft Power เล่าเรื่องการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมและสร้างรายได้เพื่อเป็นทุนสำหรับทำงานขับเคลื่อนต้านเหมือง ผ่าน “ตำหูก” หรือการทอผ้าในภาษาอีสานนั่นเอง

ปี พ.ศ. 2556 แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ส่วนใหญ่เป็นแม่หญิงสูงวัย เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจเพราะต้องเอาเวลาทำมาหากินมาต่อสู้กับนายทุนเหมือง และการทำเกษตรในพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษก็มีข้อจำกัด จึงมองหาช่องทางสร้างอาชีพใหม่จากทักษะดั้งเดิมในท้องที่ เอ็นจีโอที่ทำงานกับกลุ่มจึงนำเอาพันธุ์ฝ้ายเข้ามาให้แม่ๆปลูกที่เหนือเหมือง โดยเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ที่ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ฝ้ายไร้สารที่ตรวจแล้วว่าไม่มีเคมีเจือปนถูกนำไปทอเป็นผ้า ย้อมสีธรรมชาติ ออกแบบลายโดยแม่หญิงในชุมชน เช่น ลายรอยแร่ และลายหลุมเหมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านกับเหมืองทองที่ก่อสารพิษให้กับชุมชน โดยคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านช่วยขายออนไลน์ผ่านเพจ Facebook กลุ่มตำหูกบ้านนาหนองบง – สู้เหมือง และอาจารย์เบ็กกี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนศึกษาเรื่องผลกระทบจากเหมืองในชุมชน ได้ทำแบรนด์ Radical Grandma Collective (www.radicalgrandmacollective.com) แปรรูปผ้าทอเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งช่วยขยายวงการรับรู้ของปัญหาในท้องที่และนำรายได้มาเป็นทุนในการทำงานฟื้นฟูอีกด้วยภาพจาก Facebook Page: Radical Grandma Collective

อยากชวนผู้อ่านมาเป็นเครือข่าย Restorative Culture Coalition Thailand ร่วมส่งเสียงในฐานะพลเมืองเพื่อให้การฟื้นฟูระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพเป็น auto pilot ของการออกนโยบายสาธารณะในประเทศไทย และอุดหนุนแม่หญิงใจสู้เหมือง เพื่อฟื้นฟูหกหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้ทาง Facebook Page กลุ่มตำหูกบ้านนาหนองบง – สู้เหมือง และ Radical Grandma Collective ค่ะ

เอด้า จิรไพศาลกุล

กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนในการศึกษา

นานาประเทศต่างมุ่งหมายขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และการศึกษาคือเฟืองที่ส่งกำลังหมุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสนใจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีมาหลายทศวรรษ

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้น

'เศรษฐา' หารือ นายกฯแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อการเติบโตครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯ ปลื้มนานาชาติสนใจหุ้นกู้สีเขียวของไทยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์!

นายกฯ ภาคภูมิใจได้นำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนและอารยะเกษตร ในเวที UNGA ครั้งที่ 78 เผยต่างชาติสนใจการออกหุ้นกู้สีเขียว หวังจะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปลื้ม 'ยูเอ็น' ยกไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียน ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกฯยินดีองค์การสหประชาชาติจัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้นและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์กำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ

'สสว.' ผนึกกำลัง 'สอวช.' คิกออฟ โครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วย 'บีซีจี'

สสว. ผนึกกำลัง สอวช. คิกออฟโครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วยบีซีจี ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ สร้างโอกาสแข่งขัน เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกทุกพรรคการเมือง 'สอบตก' นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' จวกพรรคการเมืองไทยทุกพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 'สอบตก' เรื่องนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล จี้ทบทวน เรือปั่นไฟจับปลากะตัก เรืออวนลาก เตือนไทยหลีกมาตรการทางสากลต่างๆไม่ได้