กสทช.งานเข้ารัวๆ 'ดร.ศุภณัฐ' ร้องผู้ตรวจฯ สอบประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเอื้อบริษัทเอกชน

17 ม.ค.2566 - ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก suphanat Aphinyan ว่า ขณะนี้ผมได้ดำเนินการร้องเรียน กสทช. ต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อเป็นหลักฐานและเปิดโอกาสให้ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศได้ทำการติดตามร่วมกันไปจนถึงที่สุดครับ #ทวงคืนดาวเทียม
__________
เรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข้าพเจ้านายศุภณัฐ อภิญญาณ ขอร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องด้วย กสทช. กระทำการขัดต่อมาตรา 60 ตามที่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย กสทช. ได้ทำการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้เป็นการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

1. การกระทำของ กสทช. ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

1.1 การเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานดาวเทียมมาสู่ระบบใบอนุญาตสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในกิจการดาวเทียมจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนทั้งหมด รวมถึงยังส่งผลให้บริษัทเอกชนผูกขาดการเป็นเจ้าของในสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เป็นสมบัติของชาติ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระเสรี โดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใด

1.2 เมื่อประเมินรายได้ขั้นต่ำของดาวเทียมดวงใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะมาแทนที่ดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR-1) ในวงโคจร 119.5E จากข้อมูลรายได้ของดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเคยปรากฏในสื่อต่างชาติจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ผนวกกับอายุการใช้งานของดาวเทียมดวงใหม่ 15 ปี จะเป็นรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 33 บาท) ก็จะเป็นเงินไทยราว 4.95 หมื่นล้านบาท จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าดาวเทียมเพียงแค่ดวงเดียวในวงโคจรที่สำคัญอย่าง 119.5E ยังสามารถสร้างรายได้ในขั้นต่ำๆ ถึงหลายหมื่นล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้ประเมินวงโคจร 120E ร่วมด้วย แต่วงโคจรสำคัญสองวงนี้ กลับถูกจับมาประมูลเป็นชุดเดียวกัน ในราคาประมูลเพียงแค่ 417 ล้านบาทเท่านั้น

1.3 หาก กสทช. มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง กสทช. ต้องปฏิบัติตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

- แนวทางแรก ให้รัฐดำเนินการกิจการดาวเทียมเองทั้งหมด แต่ทว่า กสทช. ไม่ได้มีความจริงใจในการให้บริษัทเอกชนทำการถ่ายโอนเทคโนโลยีตลอดจนองค์ความรู้ที่สำคัญทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้เอง เช่นนี้ รายได้สูงสุดก็จะเป็นของประชาชน

- แนวทางที่สอง ให้รัฐรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและลงทุนดาวเทียมเอง โดยที่รัฐยังทำการว่าจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการควบคุมดาวเทียมต่อไป เช่นนี้ รายได้จำนวนมหาศาลเกือบทั้งหมดก็ยังคงเป็นของประชาชน

- แนวทางที่สาม จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจให้รัฐดำเนินการร่วมกับบริษัทเอกชน โดยที่รัฐถือครองสัดส่วนความเป็นเจ้าของไว้เกินกึ่งหนึ่ง เช่นนี้ รายได้จำนวนมหาศาลมากกว่ากึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นของประชาชน

2. การกระทำของ กสทช. จงใจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน

ทั้งการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบใบอนุญาต ตลอดจนการเร่งรัดให้เกิดการประมูลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน ล้วนแต่บ่งชี้ถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน เป็นไปเพื่อรองรับดาวเทียมไทยคม 9 ที่บริษัทเอกชนได้ตระเตรียมไว้แล้ว ซึ่งพบการเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นสู่วงโคจรภายใต้ชื่อ TCSTAR-1 โดยได้ระบุไว้คร่าวๆ ว่าจะมีการยิงขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ข้อมูลอีกทางหนึ่งยังยืนยันด้วยว่าดาวเทียมไทยคม 9 เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะมาแทนที่ดาวเทียมไทยคม 4 สุดท้าย ดูเหมือนว่า กสทช. ก็แค่แอบอ้างการประมูลเพียงเพื่อประเคนวงโคจรสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดที่ 3 (119.5E กับ 120E) ที่รองรับดาวเทียมไทยคม 9 ให้กับบริษัทเอกชนในราคาถูกเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม

ข้าพเจ้านายศุภณัฐ อภิญญาณ จึงเรียนมาเพื่อให้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระงับผลการประมูลของ กสทช. ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อรัฐและรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนทำการยกเลิกระบบใบอนุญาตที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพื่อนำไปสู่ทางออกแนวทางใดแนวทางหนึ่งตามที่ได้นำเสนอในข้างต้น ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ศุภณัฐ อภิญญาณ
17 มกราคม พ.ศ. 2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิสภา' ชงสอบแต่งตั้ง 'เลขาฯ กสทช.' ล่าช้าเกือบ 4 ปี ชี้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย

“กมธ. ไอซีที วุฒิสภา” ชงสำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ หลังพบความผิดปกติ กระบวนการตั้งเลขา กสทช. เกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว จนรักษาการจะครบวาระ ยันไม่ได้ก้าวก่าย แต่ส่งกระทบผลประโยชน์ชาติเสียหาย

ศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง 'พิรงรอง รามสูต' กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศาสตร

'ดร.นิว' ถามอธิการบดี จะเลือกรักษาเกียรติภูมิของจุฬาฯ หรือ วิทยานิพนธ์ชี้นำความคิดล้มล้างฯ

จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี"