สว.คำนูณ จับตา เจรจา OCA ไทย กัมพูชา จะเดินตาม MOU เก่า ทำเสียเปรียบหรือไม่

21 ม.ค. 2567 – นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา  ระบุว่า เจรจา OCA ไทยกัมพูชารอบใหม่จะเดินตาม MOU เก่าหรือไม่คิดให้รอบ-ตอบให้ครบ !

นายทำไมต้องถามว่าการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ไทย-กัมพูชารอบใหม่ เพื่อพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน ที่เข้าใจว่าจะเริ่มนับหนึ่ง 7 กุมภาพันธ์ 2567 ยังจะเดิมตามกรอบ MOU 2544 หรือชื่อเต็ม “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001“ ต่อไปหรือไม่ ?

ก็เพราะ MOU ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลังนายทักษิณ ชินวัตรขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามอย่างเป็นทางการ “รับรู้” และ “ยอมรับ(การมีอยู่)” ของเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2515 โดยไม่มีหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงใด ๆ รองรับ ทั้งยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยเสียด้วยซ้ำ 

เส้นที่เห็นกันชินตาในรอบ 20 ปีมานี้ว่าลากผ่าน “เกาะกูด” นั่นแหละ

ทั้งนี้ โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา

เป็นเส้นเขตไหล่ทวีปที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ บางคน และอดีตนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายคน เคยขนานนามไว้ต่าง ๆ นานาในรอบ 20 ปีมานี้

“เส้นนอกกฎหมาย” บ้าง “เส้นตามอำเภอใจ” บ้าง ”เส้นยะโสโอหัง” บ้าง ไปจนถึง ”เส้นอันธพาล” แม้แต่ผมเองยังเคยเขียนบทความเรียกว่า…

“เส้น(ไหล่ทวีป)วิปลาส 2515”

แต่วันนี้ หลังจากทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ในรอบ 12-15 ปีมานี้ถึงเบื้องหลังที่มาของเส้นเขตไหล่ทวีป 2515 ของกัมพูชา ผมอยากจะขนานนามตรงไปตรงมาว่า…

“เส้นฮุบปิโตรเลี่ยม“

ไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ในยุคที่ทััง 2 ประเทศยังมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเขตแดนทางทะเลไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงหลังจากสหประขาขาติจัดประขุมนานาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในปี ค.ศ. 1958 ได้ไม่นาน แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคี แต่กว่าจะดำเนินการแปลและทำความเข้าใจได้เรียบร้อยก็ใช้เวลาถึง 10 ปี ลุถึงปี 2511 จึงมีความรู้ความเข้าใจและดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทย เช่นเดียวกับทางกัมพูชาในยุคสมเด็จนโนดมสีหนุ  ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ก็พอดีเกิดการรัฐประหารในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจแทนสมเด็จนโรดมสีหนุ ขึ้นมาไม่นานก็ดำเนินการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน ทั้งเขียนเล่าและนำมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่าจอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่าเส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมา นายพลลอนนอลไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย และพร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้เห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้ 

เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยมาก 

เพราะเป็นห่วงเกาะกูด !

ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทย

คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล ที่สุดก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516

เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา

นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที

นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ไม่ใช่ว่า MOU 2544 จะไปยอมรับ “ความถูกต้อง“ ของเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา

มิบังอาจไปกล่าวหากันขนาดนั้น

แต่เพียงแค่ “รับรู้“ และ ”ยอมรับ(การมีอยู่)” โดยนำมาบรรจุอยู่ในแผนผังแนบท้าย MOU ก็เป็นผลให้เมื่อนำมาทาบทับกับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทย ก็ก่อให้เกิดพื้นที่ OCA ในอ่าวไทยมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร กว่าครึ่งค่อนของพื้นที่อ่าวไทยทั้งหมดกว่า 330,000 ตารางกิโลเมตร เป็นเรื่องผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะมีจริงโดยทั้งไทยและกัมพูชายึดถือกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้มากที่สุดแล้ว ก็ไม่น่าจะมากขนาดนั้น

จริงอยู่ รัฐบาลทุกรัฐบาลบอกว่าเราจะเจรจาเฉพาะเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยม ไม่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเขตแดน และ MOU 2544 มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้

ฟัง ”ดูดี“ แต่มัน “ใช่“ หรือ ”ดีจริง“ อย่างที่ว่ามาจริงหรือ ?

ก่อนจะตอบคำถามสำคัญนี้ เรามาเสียเวลากันสักเล็กน้อยเพื่อดูเนื้อหา MOU 2544 กัน

MOU ฉบับนี้มีเพียง 3 หน้าทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยหน้า 3 เป็นเอกสารแนบ หัวใจอยู่ที่ข้อ 2 ที่แบ่งเป็นข้อ ก กับข้อ ข

เนื้อหาในข้อ 2 สรุปว่าคู่สัญญาตกลงแบ่ง OCA ออกเป็น 2 ส่วนโดยใช้ละติจูดที่ 11 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง และแลเงาออกเป็นสีดำเหมือนทางม้าลายในส่วนบน ส่วนล่างเป็นสีขาว ดังปรากฎในแผนผังแนบท้าย โดยจะเร่งรัดเจรจาพร้อมกันไป 2 เรื่อง รายละเอียดอยู่ในข้อย่อย ก และข้อ ข ขอให้สังเกตคำว่าให้ทำไป “พร้อมกัน” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Indivisible Package คือจะแบ่งแยกไม่ได้ต้องทำคู่กันไป

ข้อ ก – จัดทำความตกลงกันสำหรับการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA (Joint Development Area) ในพื้นที่สีขาวส่วนล่างของแผนผังแนบท้าย 

ข้อ ข – ตกลงแบ่งเขตแดนทางทะเล (ทะเลอาณาเขต, ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ซึ่งอยู่ในพื้นที่แลเงาสีดำเป็นเสมือนทางม้าลายส่วนบนของแผนผังแนบท้าย เรียกว่าเขต Area to be Delimited 

ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนล่าง ข้อ ก มีขนาด 16,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่ส่วนบน ข้อ ข มีขนาด 10,000 ตารางกิโลเมตร

หลังจาก 2 ข้อย่อยนี้ มีข้อความย้ำอีกครั้งว่าเป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ ก และข้อ ข ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Indivisible Package คือจะแบ่งแยกไม่ได้ต้องทำคู่กันไป

ขัอ 3 – จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการต่อไป เรียกว่า JTD : Joint Technical Committee สำหรับการเจรจา 2 เรื่องในข้อ 2 ก และ 2 ข 

ข้อ 4 – เป็นข้อกำหนดว่าจะประชุมกันอย่างไร

ย้อนกลับไปข้อ 1 สักเล็กน้อย ระบุว่าทำเป็นข้อตกลงชั่วคราว (Provisional Agreement) แสดงว่ามีเจตนาจะทำเป็นข้อตกลงสุดท้าย (Final Agreement) ในอนาคต

มีข้อสังเกตสำคัญว่าแผนผังแนบท้าย MOU 2544 เขียนผิดครับ

คือหน่วยของละติจูดทั้ง 3 เส้นที่อยู่ตรงด้านขวาเขียนผิดทั้งหมด จากที่ต้องเป็น ๐ N กลับเขียนเป็น ๐ E ซะงั้น !!

(ต่อ)
สรุปสั้นที่สุดของ MOU 2544 เป็นคำสำคัญได้ว่า…

“แบ่งเขตแดนข้างบน แบ่งผลประโยชน์ข้างล่าง”

ซึ่งแน่นอนละว่าฟัง “ดูดี” !

จึงขอกลับมาตอบคำถามที่ถามตั้งแต่ต้นว่าตกลงแล้วมัน “ใช่“ คือ ”ดีจริง“ อย่างที่พยายามทำให้เข้าใจหรือ ?

ฟันธงเลยครับว่า…

ไม่ใช่ !

และไม่ดีจริง !

ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ

เป็น 2 ประการที่มาจากเนื้อหาใน MOU 2544 เอง

หนึ่ง – การเจรจาแบ่งผลประโยขน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมใน OCA ส่วนล่างใต้ละติจูด 11 องศาเหนือลงมาที่ถูกกำหนดให้เป็น JDA มีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะต้องทำไปพร้อมกับการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ทั้งนี้ ข้อความในขัอ 1 ระบุว่าจะต้องดำเนินการไป “พร้อมกัน” และ “ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้” การชี้แจงของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันที่บอกว่าจะเจรจากันเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ในปิโตรเลี่ยมไม่แตะเรื่องเขตแดนจึงเป็นไปไม่ได้

ย้อนไปอ่านข้างต้นหรือดูในภาพประกอบก็ได้นะครับว่า MOU 2544 กล่าวย้ำไว้ถึง 2 ครั้งในข้อ 2 ว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนทางละเลจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน แบ่งแยกจากกันไม่ได้

เป็น “Indivisible Package” !

สอง – หมุดหมายสมมติที่ก่อให้เกิด OCA ส่วนล่างใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาเป็นเขต JDA กว้างขวางถึง 16,000 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณครึ่งหนึ่งของอ่าวไทยนั้นไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้าอย่างเป็นอิสระ หากแต่มาจากเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากตามความประสงค์ของกลุ่มทุนพลังงานออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตที่ 73 ลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา การที่เราบอกว่าไม่ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ แต่กลับยอมรับรูปพรรณสัณฐานและขนาดของ OCA ที่ปรากฎอยู่ใน MOU 2544 จะเท่ากับว่าเรายอมรับเส้นนี้อย่างน้อยที่สุดก็เฉพาะส่วนล่างใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาโดยปริยายมิใช่หรือ แม้วันนี้จะยังไม่ได้เจรจาเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ส่วนล่างนี้ แต่หากมีการเจรจากันในวันหน้า ไม่ว่าในรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน การกระทำของเราในวันนี้จะไม่เป็นการถูกมัดมือชกตามกฎหมายหรือ

ย้ำชัด ๆ ว่าจะต้องมีการเจรจาเขตแดนทางทะเลแน่นอน แต่จำกัดเฉพาะในส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป เพราะนี่เป็นบทบังคับใน MOU 2544

ทำไมต้องเจรจาเฉพาะส่วนบน

ทำไมไม่เจรจาให้รู้เรื่องกันไปทั้งเส้น คือทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เพื่อให้ชัดเจนกันไปว่ามึ OCA หรือไม่ และถ้ามี มีเท่าไร แล้วจะสร้าง JDA ก็ว่ากันไป

การเจรจาเขตแดนทางทะเลเฉพาะส่วนบนของเส้น ต่อให้คิดเชิงบวกและเข้าข้างตัวเองมาก ๆ ว่าผลการเจรจาจะเป็นคุณกับฝ่ายไทย คือจะไม่มีเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาลากผ่านเกาะกูดอีกต่อไป ก็อาจไม่เทียบเท่ากับโทษ

เพราะแม้พื้นที่ส่วนล่างจากละติจูด 11 องศาเหนือลงมาจะไม่ได้มีการเจรจาเขตแดนทางทะเลกัน มีแต่การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมก็ตาม แต่ก็เป็นการเจรจาบนพื้นฐานที่ใช้เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาส่วนล่างเป็นอาณาเขตกำหนดพื้นที่ OCA เท่ากับไทยเรายอมรับและใช้เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเป็นฐานเจรจาอย่างเป็นทางการเสียแล้ว ต่อเมื่อมีการเจรจาเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ส่วนนี้กันในอนาคตไม่ว่าจะรุ่นเราหรือรุ่นลูกรุ่นหลาน พฤติกรรมของเราในวันนี้ก็จะทำให้เราเสียเปรียบอย่างยิ่ง

กลายเป็นว่าพื้นที่ส่วนล่างใต้ละติจูด 11 องศาเหนือลงมา เราก็จะได้เฉพาะผลประโยชน์จากการแบ่งปันปิโตรเลี่ยมในวันนี้เท่านั้น แต่มีแนวโน้มจะไม่ได้เป็นเขตแดนทางทะเลในอนาคต

แล้วไอ้ที่ว่า “ได้” ใช้ทรัพยากรปิโตรเลี่ยมจากการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชาน่ะ – “ได้” จริงหรือ ?

ทำไมไม่มองในมุม “เสีย” บ้างล่ะ ?

“เสีย” ในแง่ที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของเราให้เขา ในกรณีที่ OCA ไม่กว้างขวางเท่านี้ !

เหมือนกัมพูชาเอาเขตแดนทางทะเลส่วนข้างบนที่สร้าง “ความไม่สบายใจ” ให้คนไทยในเรื่องเกาะกูด มาแลกกับผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมส่วนข้างล่างที่กัมพูชาและไทยจะได้รับร่วมกันในปัจจุบัน ถึงขนาดข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศบางคนในช่วงปี 2544 ให้ความเห็นในลักษณะที่ว่ากัมพูชายอมสละสิทธิในเกาะกูดเพื่อให้มีการทำ MOU 2544

แต่เฉพาะประเด็นนี้ก็ขอย้ำอีกครั้งว่าก็แค่คิดเอาเองในเชิงบวกและคิดอย่างเข้าข้างตัวเองเท่านั้น

เพราะนับตัังแต่สมัยปี 2515 ที่ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปผ่านเกาะกูดออกมา กัมพูชาไม่เคยมีท่าทีว่าจะยอมทบทวนอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลย ตรงกันข้ามกลับมีท่าทีของคนกัมพูชาบางกลุ่มทำให้คนไทยเข้าใจว่ากัมพูชาอ้างว่าเกาะกูดเป็นของตน เมื่อมีการเจรจาในช่วงปี 2538 – 2539 พล.ร.อ,ถนอม เจริญลาภเล่าให้ฟังในเวทีสัมมนาสาธารณะที่สยามสมาคม ปี 2554 ว่าผู้แทนกัมพูชาอ้างว่าตนไม่อาจเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ โดยใช้คำว่า “Non negotiable” เพราะรัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 ห้ามไว้ จะขอเจรจาเฉพาะเรื่อง JDA เท่านั้น

ถ้าการเจรจารอบใหม่กับกัมพูชาเดินไปตามกรอบ MOU 2544 ท่านที่มองในเชิงบวกและเข้าข้างตัวเองดังกล่าว ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยนะครับ

สมมติฐานที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือเจรจาตามกรอบ MOU 2544 ทั้งข้อ 2 ก และ 2 ข ไปพร้อมกัน แต่สำเร็จเฉพาะข้อ 2 ก คือได้ข้อตกลงเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ข้อ 2 ข ยังตกลงกันไม่ได้ และทั้ง 2 ฝ่ายตกลงไม่พูดถึง โดยถือว่าได้ข้อสรุป 2 ก แล้วถือว่าสำเร็จ

พูดภาษาชาวบ้านว่าเรื่องเขตแดนทางทะเลจะเสียหายหนักเลยนะครับ

เสียหายหนักในอนาคต

เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาส่วนบนยังอยู่ ยังลากผ่านเกาะกูดอยู่ ขณะที่เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูดชาด้านล่าง ทั้ง 2 ประเทศตกลงยอมรับให้เป็นเขต JDA ด้านตะวันตกเสียแล้ว

รุ่นลูกรุ่นหลานเมื่อจะเจรจาเขตแดนกับกัมพูชาอีกจะถูกผูกมัดด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายจากการกระทำของบรรพบุรุษของเขาในวันนี้

มาถึงตรงนีั สมควรกล่าวไว้ให้สิ้นกระแสความด้วยว่าประเด็นเรื่องเกาะกูดเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยบางคนที่กล่าวว่า MOU 2544 มีประโยชน์ตรงที่กัมพูชายอมรับชัดเจนกว่าเกาะกูดเป็นของไทย เพราะเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นลากประชิดและอ้อมเกาะกูด ไม่ได้ผ่ากลาง

เป็นข้ออ้างที่เข้าใจผิด

และฟังไม่ขึ้นโดยสิ้นเชิง

เกาะกูดเป็นของไทยโดยสมบูรณ์มากว่า 100 ปีแล้ว

ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (ร.ศ. 125) มีข้อความชัดเจนในข้อ 2 ว่า…

“รัฐบาลฝรั่งเศสยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม…”

ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการที่ไทยเรายอมสูญเสียเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง เป็นข้อแลกเปลี่ยน

และตั้งแต่ค.ศ. 1907 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 วันที่รัฐไทยไปลงนาม MOU 2544 ไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาอื่นใดที่ลบล้างสิทธิของไทยเลย

เป็นพระอัจฉริยภาพสูงสุดของในหลวงรัชกาลที่ 5 และฝ่ายนำของรัฐสยามสมัยเมื่อกว่า 100 ปีก่อนที่ยอมแลกเมืองเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง ที่มีทั้งพื้นที่และประชากรรวมมากว่าเมืองตราดและเกาะแก่งในอ่าวไทย แถมยังมีแหล่งอารยธรรมประวัติศาสตร์โลกอย่างนครวัดอยู่ด้วย

พระอัจฉริยภาพเมื่อกว่า 100 ปีก่อนทำให้เราได้ฝั่งทะเลยาวเหยียดของจังหวัดตราด

ได้จุดหลักเขตแดนทางบกที่ 73 อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
.

รวมทั้งได้เกาะกูดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย

ข้อเสนอเบื้องต้นของผมมีสั้น ๆ

จะเจรจาไปพร้อมกันทั้ง 2 เรื่อง คือ แบ่งเขตแดนทางทะเล กับแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลี่ยม ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องได้ข้อสรุปเรื่องเขตแดนเป็นลำดับแรกเสียก่อน จึงจะตกลงกันเรื่องเขตพื้นที่ JDA และแบ่งปันผลประโยชน์เป็นลำดับถัดไป

เพราะต่อเมื่อยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศกันทั้งเส้นแล้วจึงจะรู้ว่ามีพื้นที่ JDA เท่าไร จะผ่อนปรนกันอย่างไร จึงจะเจรจาได้

ต้องไม่มีข้อตดลงกำหนดพื้นที่ JDA ล็อคสเป็กไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งที่ยังไม่ได้พูดคุยตกลงกันเรื่องเส้นไหล่ทวีปที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศเลย

เอาทุกปัญหาเอาทุกข้อขัดแย้งขึ้นมาบนโต๊ะเจรจา โดยไม่ต้องมี MOU ต่อเมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วจึงจะเขียน MOU ขึ้นมา

เป็นตัวแบบที่เกิดขึ้นมาแล้วในการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน 3 คู่ในภูมิภาคนี้

ไทย vs มาเลียเซีย
กัมพูชา vs เวียดนาม
ไทย vs เวียดนาม

ไทย vs กัมพูชา ช่วงก่อนปี 2544

3 คู่แรกสำเร็จไปนานแล้ว

นี่คือมุมมองของคนไทยคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ MOU 2544 โดยบริสุทธิ์ใจ จึงขอแสดงความเห็นเพื่อบันทึกไว้ ณ ที่นี้ และในเวทีที่ประชุมวุฒิสภาตามหน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาอันรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในโอกาสที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเริ่มเจรจากับกัมพูชาอีกครั้ง

รัฐบาลจะเห็นและตัดสินใจเป็นประการใดบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต ก็สุดแท้แต่จะพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ คิดให้รอบ(คอบ)และตอบ(โจทย์)ให้ครบ
ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสิน !

อนึ่ง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิก MOU 2544 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

แต่ไม่เคยมีการยกเลิกจริง และรัฐบาลต่อ ๆ มา รวมทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ยังคงเจรจาตามกรอบ MOU 2544 อยู่ โดยเป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ

คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
มกราคม 2567

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว! ไพบูลย์ยื่นคำร้องให้ตีความ MOU 2544 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

'ไพบูลย์' ยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย MOU 2544 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทยทางทะเล

'คำนูณ' จ่อซักฟอกปมเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา

'คำนูณ' เตรียมซักฟอกรัฐบาล ปมเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้าน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา ไม่ใช่เรื่องมุบมิบทำอะไรได้ ชี้ต้องเป็นข้อตกลง รธน. ม.187 รัฐสภาเห็นชอบ

ห่วงรีบร้อน 'MOU 44' เค้นคอนักการเมือง อย่าเห็นแก่ได้ทุรยศแผ่นดิน

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าทุรยศแผ่นดิน

'สุทิน' เข้าใจสังคมกังวลพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด ยันมีระบบตรวจสอบในสภา

'สุทิน' เข้าใจสังคมกังวลพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด ขออย่าห่วงยันมีระบบประชาธิปไตยตรวจสอบในสภา เชื่อมีทางออกที่ดีเลี่ยงขัดแย้งเพื่อรักษามิตรภาพที่ดี วอนให้แยกแยะ กังวลได้พองาม

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' แนะทางเลือกเหมือน ไทย- มาเลเซีย

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' ชี้ไม่มีการระบุว่าเป็นการกำหนดแนวเขตทางทะเล ถ้าไทยฟ้องศาลโลกก็ไม่แน่ว่าจะชนะ แนะทางเลือกเจรจายุติปัญหาข้อพิพาท เช่น กรณีไทย- มาเลเซีย