ครป.ยกขบวนอัด 'บิ๊กตู่' สูบเงินคนจน เข้ากระเป๋านายทุนผูกขาด

ครป.ยกขบวน วิพากษ์รัฐบาลส่งท้ายปี ยก10 จุดบอด บิ๊กตู่ไปต่อไม่ได้ ทำยี่ห้อประเทศหมอง ยึดทุกอย่างเข้ามาที่ส่วนกลาง ดูดเงินคนจนเข้ากระเป๋าทุนผูกขาด

26 ธ.ค.2564 –  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดแถลงข่าวสาธารณะ “สรุปวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มองอนาคตการเมืองไทยไปอย่างไรต่อปีหน้า” ที่โรงแรมมณเทียรริเวอร์ไซด์ ถ.พระราม 3 นำแถลงโดย  นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ครป. นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ที่ปรึกษา ครป. นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง  รองประธาน ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล  รองประธาน ครป. ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  กรรมการ ครป. เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) นายสาวิทย์ แก้วหวาน  กรรมการ ครป. อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเมธา มาสขาว  เลขาธิการ ครป.

นายบุญแทน ระบุว่า 10 จุดบอด ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเหตุผลสำคัญว่าไม่สามารถบริหารประเทศได้คือ 1. ล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (2557 – รธน. 2560 – ปัจจุบัน) กรณีบอส กระทิง แดง ผกก.โจ้ เสี่ยโจ้ ร่างกฎหมายไปไม่ถึงไหน ฯลฯ 2. ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้างประชาชนทุกข์ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้เอ่ยอ้างไว้ 3. ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก กรณีนักการเมืองในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล) ทั้งยังขาดธรรมาภิบาล จริยธรรมทางการเมือง แม้ว่าจะอวดอ้างว่า รธน. 2560 นั้นเป็น “ฉบับปราบโกง”

นายบุญแทน กล่าวต่อว่า 4. ล้มเหลวในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแห่งชาติ ที่เคยประกาศ แต่ไม่มีผลในความคืบหน้าใดๆ ไม่ยึดหลัก Non Refoulement อันเป็นสาระสำคัญของหลักมนุษยธรรมสากล ด้วยการผลักดันกลับผู้อพยพ ลี้ภัยทางการเมือง อย่างไม่ใยดี 5. ล้มเหลวในกิจการต่างประเทศ ภารกิจในทางสากล ท่าทีคบคิดกับเผด็จการทหารของพม่า ท่าทีต่อการประชุม COP26 ท่าทีต่อการร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (HLPF@SDG 2030 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) และต่อที่ประชุม UPR คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council เมื่อเดือนตุลาคม 2564)

นายบุญแทน กล่าวว่า 6. ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สิทธิของผู้บริโภค เอื้ออำนวยให้บรรษัททุนขนาดใหญ่มีการควบรวมกิจการ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการอุปโภคบริโภค ฯลฯ และจะนำมาซึ่งการผูกขาด ถือเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง ท่าทีที่เพิกเฉยในกาจัดการปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็เออำนวยให้ทุนใหญ่ได้เติบโตมายิ่งขึ้น จึงเป็นการขัดกับหลัก “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” ที่รัฐพึงยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

7. ล้มเหลวในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม การผลักดัน ร่าง กฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ถือเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง” “จมดิ่งสู่ก้นเหว” ทั้งที่ในทางสากล ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติรับรองการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้ความเห็นชอบด้วย นอกเหนือจากนี้วาระการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ก็จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและแรงหนุน และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวถูกติติงจาประชาคมระหว่างแประเทศแล้วว่า เป็นการสวนทางกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้

นายบุญแทน กล่าวว่า 8. ล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ – รัฐบาลที่จริงใจ และชาญฉลาดย่อมไม่ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวรุนแรงในการจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐบาลเพิกเฉยในการสร้างความเข้าใจ แต่กลับใช้มาตรการที่รุนแรง และมาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องร้องคดี ปิดปากเยาวชนประชาชนผู้เห็นต่าง ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความอาญาต่างๆ จำนวนมาก

นายบุญแทน กล่าวว่า 9. ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ทั้งที่รัฐสามารถใช้มาตรการที่สร้างสรรค์ ถ้อยที ถ้อยอาศัย ปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การปรองดอง และความยุติธรรม – การปราบปราม การสลายการชุมนุมโดยไม่ยึดถือแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล จับกุมคุมขัง ใช้มาตรกาทางกฎหมาย กับเด็กเยาวชน ทั้งบางรายอายุยังไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ จนทำให้ถูกติเตียนโดยประชาคมระหว่างประเทศ เสียภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติอย่างรุนแรง น่าเป็นห่วงว่าหากความโกรธ เกลียดชังระหว่างกลุ่มชนขยายตัวไปเกิดความรุนแรงมากกว่านี้ อาจเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจเป็นไปได้ จึงขอเตือนไว้มา ณ ที่นี้

นายบุญแทน กล่าวว่า 10. ล้มเหลวในการสร้างธรรมาภิบาล และยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ ด้วยการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พรบ.คุ้มครองคนหายและต่อการกาซ้อมทรมาน ร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ร่าง พรบ.องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่รัฐมีอคติ จึงต้องการตรวจสอบกลุ่มองค์กรเหล่านี้ที่อาจมีความเห็นต่างจากรัฐบาล ในข้อหาฟอกเงิน กระทบต่อความมั่นคง ฯลฯ ถือเป็นการต่อต้านการมีส่วนร่วมของสังคม ขาดจริยธรรมทางการเมืองและสังคม โดยแจ้งชัด

“10 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า นายประยุทธ์ จันทร์ โอชา ขาดคุณสมบัติ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดจริยธรรม ขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดความสามารถ และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป” นายบุญแทนกล่าว

นายปรีดา กล่าวว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รวบอำนาจเข้ามาส่วนกลางสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยจนชื่อเสียงของเราถอยหลังลงในฐานะประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยล่าสุดไม่ได้รับการเชิญไปร่วมประชุมประเทศประชาธิปไตยโลก แสดงว่าเกรดของไทยตกต่ำลง

“ผมในฐานะนักธุรกิจของไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ในฐานะธุรกิจที่ต้องค้าขายกับโลก แต่ต่างชาติเขาก็มองที่ประเทศต้นทาง วันนี้มีคำกล่าวว่า ทุกเรื่องรัฐบาลประยุทธ์ยึดอำนาจมาที่ส่วนกลางหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องขยะที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำ” นายปรีดา ระบุ

นายปรีดา กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องโลกร้อนที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกนั้น เกี่ยวพันกับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ที่แก้ปัญหาได้โดยการกระจายอำนาจออกไปให้แต่ละพื้นที่ ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของตนเองในท้องถิ่น สิ่งที่รัฐบาลทำมาหลายปีกลับค้านกระแสการพัฒนาของโลกที่ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาโลกร้อนร่วมกัน

“พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ยี่ห้อของประเทศไทยมัวหมอง ทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนและความเป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่สำคัญการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ได้ส่งเสริมให้มีเกิดเศรษฐกิจผูกขาดด้วย โดยทำร้ายประเทศให้มีการผูกขาดของกลุ่มทุนในตลาด และปิดโอกาสของรายเล็กรายน้อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย ไม่ได้รับโอกาสเข้าสู่ตลาดเพราะถูกผูกขาดหมดแล้ว  7 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลย ประชาชนถูกดูดเงินจนลงเรื่อยๆ และรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศถูกดูดเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนถูกขาด” นายปรีดา ระบุ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ระบุว่า  ปีหน้าจะเกิดวิกฤตการณ์ในหลายด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และมีระเบิดเวลาอีกหลายลูกที่ถูกจุดโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่กลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดเวลาที่รัฐสภาจะร่วมหาทางออกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือกฎหมายงบประมาณต่างๆ รวมถึงระเบิดเวลาโดยรัฐธรรมนูญ และการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนเพื่อบอกว่าพอกันที และ ครป.ขอสวัสดีปีใหม่ประชาชนไทยและเป็นกำลังใจให้คนไทยต่อสู้ต่อไป แม้เราไม่อาจคาดหวังอะไรจากรัฐบาลได้แล้ว แต่เราคาดหวังว่าประชาชนจะไม่เสื่อมศรัทธาในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ซูเปอร์โพล' ชี้ประชาชนพอใจให้โอกาส 'เศรษฐา' บริหารประเทศให้อยู่ครบวาระ

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป

'โบว์' ตั้งคำถามจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสถาบัน หาก 'ตะวัน' เสียชีวิตระหว่างฝากขัง

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตะวันและแฟรงค์ ถูกฝากขังในชั้นสอบสวน ทั้งที่อิสรภาพของผู้ต้องหาทั้งสองคนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

'จตุพร' ฟันเปรี้ยง! 'เศรษฐา' พ้นนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์' ได้กลับบ้าน 'ก้าวไกล' กวาด สว.

'จตุพร' ย้ำถึงเวลา 'เศรษฐา' พ้นนายกฯ หลีกทาง 'ยิ่งลักษณ์' กลับบ้าน ชี้ 'ทักษิณ' ไม่นอนคุก จุดเปราะบาง ยิ่งทำก้าวไกลคะแนนนิยมพุ่ง โอกาสกวาด สว. สีส้มเต็มสภา

รองเลขาฯกสม. ชี้ปมป่วนขบวนเสด็จ การแสดงออกต้องเคารพกฎหมายและสิทธิผู้อื่น

นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาเรื่อง "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศ และประชาชนอย่างไร"

แอมเนสตี้ ชี้ออกหมายจับนักข่าวและช่างภาพสั่นคลอนเสรีภาพสื่อ

จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระถูกจับกุม วันที่ 12 ก.พ. 2567 เนื่องจากการรายงานข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566

'ชาดา' ทุบ แอมเนสตี้ฯ

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีแอมเนสตี้ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำพา นักกิจกรรมและทนายความ ถือว่า