'วิรังรอง' บอกใครเข้าใจผิด โปรดอ่านคำชี้แจง ศาลปกครองไม่เคยมีคำสั่งบังคับคดีอุเทนถวาย

7 มี.ค.2567 - นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ศาลปกครองชี้แจงไม่ได้พิพากษาบังคับคดีอุเทนถวาย คำชี้แจงของศาลปกครองชัดเจนนะคะ ท่านที่มีความเข้าใจผิดคิดว่าศาลปกครองมีคำตัดสินให้อุเทนถวายย้ายออกจากที่ดิน แล้วท่านยังได้แสดงความเห็นไว้ในสื่อออนไลน์หลายแห่งหลายแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีผู้อ่านเข้าใจผิด เชื่อและแชร์ตามๆ กันไป เป็นการนำข้อมูลที่ไม่จริงสู่ระบบออนไลน์ จึงขอความกรุณาอ่านคำชี้แจงจากศาลปกครองด้วยค่ะ "จุฬาฯจะมาร้องขอให้ศาลบังคับคดีจึงทำไม่ได้ เพราะตามกฎหมายศาลทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทุกอย่างต้องเดินหน้าตามนี้ แต่ขึ้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล และการตกลงกันของทั้งจุฬาลงกรณ์ และอุเทนถวาย ดังนั้น คำถามที่ว่าศาลบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่มี และสั่งไม่ได้"

เรื่องการที่จะย้ายออกจากพื้นที่นั้นต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดสรร หาพื้นที่ และงบประมาณในการก่อสร้างให้กับอุเทนถวาย เพราะอุเทนถวายเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ มิใช่ของเอกชน แต่เนื่องจาก หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้มีการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม จะให้อุเทนถวายย้ายไปอยู่ที่ไหน เด็กนักเรียนกำลังเรียนหนังสืออยู่ จะให้ย้ายออกไปเรียนอยู่กับบ้าน เช่น เรียนงานช่างโดยฝึกทางออนไลน์กันไปโดยไม่มีกำหนดหรือ จึงขอความกรุณาทำความเข้าใจประเด็นที่สำคัญนี้ด้วยค่ะ

อันที่จริงเรื่องอุเทนถวายเป็นเรื่องที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินควรจะต้องเข้ามาจัดการอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน เนื่องจากจุฬาฯ ได้ทำการขับไล่ไม่ให้อยู่หลายรอบแล้ว ขอให้ท่านเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าหากอุเทนถวายจะย้ายไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งก็ตาม ก็ควรจะมีพื้นที่ขนาดพอสมควรที่จะสร้างมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนงานช่าง สถาปัตย์ วิศวะ ทั้งปริญญาตรี โท และเอกตลอดจนภาคสมทบอย่างที่เปิดสอนอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไม่แออัด พร้อมหลักประกันให้สถาบันมีความมั่นใจว่า อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้าจะไม่มีใครมาไล่ที่ให้อุเทนถวายต้องนับ ๑ ใหม่อีก เหมือนอย่างที่โดนจุฬาฯ ไล่ที่อย่างทุกวันนี้

ส่วนการเรียกร้องของนักศึกษาอุเทนถวายทั้งนักศึกษาปัจจุบันและนักศึกษาเก่าที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงเจตจำนงที่จะขออยู่ในพื้นที่เดิม ก็เป็นเรื่องที่เขามีสิทธิ์ที่จะร้องขอความกรุณาจากจุฬาฯ ได้ ประเด็นที่ดิฉันเห็นคือ นักศึกษาเหล่านั้น เคลื่อนไหวผ่านกระบวนการและช่องทางเท่าที่พวกเขาคิดว่าจะช่วยพวกเขาได้โดยสงบสันติ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นคืออีกเรื่องหนึ่ง

เนื่องจากจุฬาฯ ไม่ได้ยกเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ว่าเป็นสาเหตุที่ต้องการให้อุเทนถวายย้ายออกไป ก็ควรเคารพเหตุผลของจุฬาฯ โดยไม่คิดคาดเดาแทนจุฬาฯ เพราะแม้แต่จุฬาฯ ก็ยังไม่ได้กล่าวออกมาสักคำในเรื่องดังกล่าว ดูจากศาลปกครอง ที่ได้ออกมาชี้แจงวันนี้ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเพื่อให้สังคมเข้าใจคำพิพากษาอย่างถูกต้อง ไม่เข้าใจผิดกันไปจนถกเถียงบานปลาย เนื่องจากมีการแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์กันมากถึงคำตัดสินของศาลว่าถึงที่สุดแล้วและอุเทนถวายไม่เคารพคำสั่งศาล ไม่เคารพกฎหมายสังคมจะอยู่ไม่ได้ จุฬาฯ ก็เช่นกันสามารถออกมาชี้แจงต่อสังคมได้

ซึ่งจุฬาฯ ได้แสดงเหตุผลของการขอพื้นที่นี้คืนอย่างชัดเจนว่า เพื่อการพัฒนาพื้นที่ด้านการศึกษาของจุฬาฯ จึงทำให้ดิฉันเคยตั้งข้อ สังเกตไว้ว่า พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว จุฬาฯ สามารถใช้พื้นที่อื่น ของจุฬา ที่เป็นพื้นที่การศึกษา หรือพื้นที่ที่ใช้เชิงพาณิชย์ที่เหลืออยู่ มาปรับใช้เป็นพื้นที่ขยายเพื่อการศึกษาก็น่าจะย่อมได้ มีหลายท่านแสดงความเห็นว่า ที่ดินนั้นเป็นของจุฬาฯ จุฬาฯ จะทำอะไรก็ได้ อย่าลืมว่าเนื่องจาก ผู้บริหารจุฬา อยู่ในตำแหน่งอย่างมากคือ ๘ ปีแล้วก็จากไป ส่วนที่ตรงนั้นไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่งแม้แต่ผู้บริหารของจุฬาฯ ก็มิใช่เจ้าของ ทรงพระราชทานมาใช้เพื่อเป็นพื้นที่การศึกษาเล่าเรียน จึงหวังว่า จุฬาฯ จะทบทวนการใช้พื้นที่ที่ได้เคยขอพระราชทานมา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการศึกษาของเยาวชนอย่างจริงจังตามพระปณิธานของล้นเกล้าฯ ดิฉันเห็นว่าหากดูที่รากเหง้าและพื้นฐานของการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยโรงเรียนสําหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน ถ้าล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ท่านคงไม่ทรงปลื้มปีติกับการที่จุฬาฯ จะไล่ที่อุเทนถวายทั้งที่ยังไม่มีสถานที่เรียนรองรับแต่กลับมีพื้นที่ที่พระราชทาน ซึ่งจุฬาฯ พัฒนาเชิงพาณิชย์เกือบจะล้อมรอบพื้นที่ที่ใช้สำหรับการศึกษา

การที่ดิฉันออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงมิใช่เป็นการสนับสนุนให้อุเทนถวายทำผิดกฎหมายดังที่มีผู้ต่อว่าดิฉันต่าง ๆ นานา เพราะถ้าว่ากันตามกฎหมาย จุฬาฯ ชนะตลอดมาในเชิงนิติศาสตร์ซึ่งเป็นเพียงประเด็นเดียวที่ทำให้อุเทนถวายหมดหนทางสู้ที่จะอยู่บนผืนดินนั้นต่อไปก็คือการที่จุฬาฯ ขอพระราชทานที่ดินและได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นก่อน

ส่วนการที่ดิฉันสนใจรวบรวมข้อมูล หลักฐานและข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้น่าจะครบถ้วนตามที่ต้องการแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล ก็เพราะมีเวลาว่างมาก ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ และเพื่อจะได้เ้ข้าใจในประเด็นที่เคยสงสัยมานาน เมื่อยิ่งค้นคว้าไปก็ยิ่งเจอข้อสงสัยที่จะขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นข้อเท็จจริง จึงจะเป็นการบันทึกและวิพากษ์เชิงปกิณกะประวัติศาสตร์และวิชาการ และหวังว่าอาจเป็นประโยชน์ เป็นความรู้สำหรับผู้สนใจตลอดจนผู้ที่ยังไม่เคยทราบ

"กฎหมายคือมาตรฐานต่ำสุดของสังคม ผู้ใดจะทำผิดกฎหมายไม่ได้ แต่ถ้าสังคมใดที่คนมีคุณธรรมต่อกัน สังคมนั้นไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย หลักคุณธรรมหลักนิติธรรมจึงเป็นความสูงส่งของจิตใจมนุษย์"

สำหรับมติ กยพ. (กยพ. ไม่ใช่ศาลนะคะ) และคำพิพากษาศาลปกครอง จะนำมาแสดงและอธิบายชี้แจงเป็นกรณีศึกษาต่อไป ถ้าเอามาแปะไว้เฉย ๆ ก็ไม่ใช่วิรังรองนิ ชอบทำเรื่องให้ยาก ๆ ไปงั้นแหละค่ะ 5555

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอโอ๋' มองดราม่าอัญเชิญพระเกี้ยว อย่าเห็นคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู ขอให้รู้ผู้ใหญ่จะตายก่อน

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าด้วยเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว

เปิดเบื้องหลัง สว.ตีตก สกัด”วิษณุ”นั่งเก้าอี้ ประมุขศาลปกครอง

มติการออกเสียงของที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 158 เสียง ต่อ 45 คะแนน

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องเพิกถอนควบรวม ทรู-ดีแทค

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบ