ศิลปินแห่งชาติ แพร่บทความเรื่องการใช้เงินให้เป็น กรณีสกายวอล์กแยกปทุมวัน

30 พ.ค.2567 - จากกรณีกรุงเทพมหานครได้ติดสติกเกอร์บนคานรางรถไฟฟ้า จุดบริเวณทางเชื่อมเหนือสกายวอล์กแยกปทุมวัน ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาถ่ายรูป โดยทาง กทม.ได้มีการแก้ไขเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สติกเกอร์ดีไซน์ใหม่สะท้อนอัตลักษณ์ กทม.ที่ได้ออกแบบไว้

ทั้งนี้จากการเปลี่ยนป้ายใหม่ของ กทม. นั้น ก็มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ ตามมาอีกว่า ทำใหม่ก็สวยดีแต่ของเดิมสวยกว่า ซึ่งมองดูแล้วของใหม่มีลักษณะที่โบราณไม่ทันสมัยโดยเฉพาะฟอนต์ตัวหนังสืออยากให้ทางกทม. แก้ไขเฉพาะฟอนต์ตัวหนังสือเพราะมันดูไม่โดดเด่น ซึ่งมีการเปรียบเทียบป้าย “Bangkok” แบบใหม่กับแบบเก่า นักท่องเที่ยวน่าจะนิยมถ่ายกับแบบเก่ามากกว่า

ล่าสุด นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สองวันนี้มีหลายคนถามผมว่าคิดอย่างไรกับงานออกแบบอัตลักษณ์เมือง (พวกเขาใช้คำฝรั่งว่า City Branding) ของกทม. ผมจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการออกแบบ เพราะมันเป็นเรื่อง subjective บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา

ผมอยากพูดเรื่องที่กว้างกว่านั้น คือเรื่องการใช้เงินให้เป็น

นี่เป็นเรื่องเก่า สมัยผมเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ อาจารย์เดชา บุญค้ำ ผู้สอนวิชา Landscape Architecture (ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) ตั้งข้อสังเกตว่า กทม. (ในเวลานั้น) มีโครงการปลูกต้นไม้ทั่วเมือง วิธีการคือซื้อต้นไม้ต้นเล็กๆ ราคา 50 บาทมาปลูกตามทางเท้า แล้วสร้างกรงเหล็กราคา 750 บาทครอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มันถูกเหยียบตาย

อาจารย์ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ซื้อต้นไม้ราคา 800 เท่าเงินที่จ่าย ไม่ต้องซื้อกรงครอบ เพราะต้นไม้ราคา 800 สูงและใหญ่พอรอดชีวิตกว่าต้นเล็กๆ

นี่คือการใช้เงินเป็น

สาระของโครงการนี้คือปลูกต้นไม้ใหญ่ กรงครอบคือเปลือก

ดังนั้นเวลาเห็นทางการใช้เงินที่เน้นเปลือกมากกว่าสาระ ผมก็มักคิดถึงเรื่องที่อาจารย์สอนเสมอ

ก็มาถึงเรื่องอัตลักษณ์เมือง

ผมเคยเล่าว่า สิ่งแรกๆ ที่ลีกวนยูทำเมื่อเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์ คือปลูกต้นไม้ใหญ่ทั่วเกาะ ปลูกอย่างจริงจัง มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ

บางคนมองไม่เห็นว่าทำไปทำไม ต้องเสียเวลารดน้ำ กวาดใบไม้ ฯลฯ

ผ่านไปหลายสิบปี ลีกวนยูบอกว่ามันเป็นโครงการที่เขาตัดสินใจถูกต้อง เพราะเขาได้สร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า 'A first world oasis in a third world region'

อาจารย์เดชา บุญค้ำ วิเคราะห์ว่า ผลของการปลูกต้นไม้ใหญ่ทั้งเกาะคือ อุณหภูมิทั้งเกาะจะลดลง 1-2 องศา ฝนจะตกมากขึ้น การใช้เครื่องปรับอากาศก็ลดลง

เมืองจีนก็ทำตามสิงคโปร์เช่นกัน จะเห็นว่าถนนหนทางในหลายเมืองในประเทศจีนตอนนี้ปกคลุมด้วยต้นไม้

หากใครไปสิงคโปร์ คงเห็นภาพสะพาน ทางข้ามคอนกรีต ปกคลุมด้วยต้นตีนตุ๊กแกและไม้เลื้อย มองไม่เห็นเสาและคานสะพาน

พวกเขาไม่เสียเงินเสียเวลาออกแบบป้ายไปปิดเสาและคานสะพาน ใช้ต้นไม้ดีกว่า บรรยากาศดีกว่า อากาศสะอาดกว่า

และมันก็กลายเป็นอัตลักษณ์เมืองไปโดยปริยาย
พูดง่ายๆ คือใช้เงินเป็น

วินทร์ เลียววาริณ
30-5-24

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระราชทานเพลิงศพ 'ชรินทร์ นันทนาคร'

งานพระราชทานเพลิงศพ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ที่จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 91 ปี เมื่อช่วงวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา จัดขึ้น ณ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง เขตวัฒนา กรุงเทพ

ผลงาน'ตรี อภิรุม' ราชานิยายลึกลับสยองขวัญ

21 พ.ย.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2562  นามปากกา “ตรี อภิรุม” หรือ “นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของผลงาน “นาคี” 

อาลัย! สิ้น 'เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา' ศิลปินแห่งชาติ ราชานวนิยายลึกลับสยองขวัญของไทย

แฟนเพจ "ตรี อภิรุม" แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ "อ.เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2562