ศาลให้ประกันรุ้ง! ได้หายใจนอกคุกถึง 16 มิถุนายน

ศาลให้ประกันรุ้งแบบจำกัด ถึง 16 มิ.ย.ระบุพฤติการณ์ไม่ก่อภยันตราย 'ปนัสยา' ยังข้องใจเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติมละเมิดสิทธิเสรีภาพ ปั่นกระแสนักโทษการเมืองต้องได้ประกัน

13 ม.ค. 2564 - มีความคืบหน้า กรณีศาลนัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำ อ.287/2564 (คดีชุมนุมปักหมุดสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563) ให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 5 โดยช่วงเช้าวันนี้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์, น.ส.ปนัสยา และนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บิดาและมารดา จำเลยที่ 5 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมาฟังคำสั่งศาล

โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอย่างจำกัด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2564 โดยวางเงื่อนไขต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยไม่ปรากฏว่าได้ประพฤติผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 5 ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ต่อเนื่องไปก็เพื่อที่จะทำการเรียนและสอบให้สำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 ซึ่งต้องมีการทำการวิจัยส่วนบุคคลเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามและทำรายงาน จำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ออกนอกราชอาณาจักร ตลอดจนถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลจะกำหนด ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ รับจะกำกับดูแลให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด

เห็นว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างจำกัด ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่ประพฤติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามที่ศาลกำหนดไว้ กรณีจึงไม่ปรากฏพฤติการณ์ในอันที่จะทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่อภยันอันตรายอื่นในช่วงเวลานี้แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามคำรับรองของอาจารย์ผู้ดูแล จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ในระยะเวลาจำกัดต่อไป นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย.2564 โดยมีประกันในวงเงิน 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยที่ 5 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยที่ 5 เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยที่ 5 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ เป็นผู้กำกับดูแล จำเลยที่ 5 ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวและส่งตัวภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังฟังคำสั่งนายกฤษฎางค์ระบุว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ห้ามการไปชุมนุม เงื่อนไขที่ศาลกำหนดออกมา เป็นการห้ามในกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยศาลได้ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวังตัว เพราะในขณะนี้ก็มีหลายฝ่ายที่เขาอาจมีความประสงค์ให้ น.ส.ปนัสยา ไม่ได้รับการประกันตัว อาจจะใช้คำสั่งศาลมาเป็นข้ออ้าง

นายกฤษฎางค์ยังกล่าวถึง คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นห้ามออกนอกเคหะสถานเฉพาะเวลา 18.00-6.00 น. ว่าอาจต้องปรึกษาหารือกัน เพราะเป็นคนละคดีกัน

น.ส.ปนัสยาระบุว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชม. แต่เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาคือห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกับเงื่อนไขดังกล่าว และมองว่าเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องมีก็ได้ จะให้ประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาทุกท่านน่าจะทราบกันดีว่า เป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

“นักโทษทางการเมืองหรือใครก็ตาม ทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ อย่างเรา หรืออย่างเบนจา (อะปัญ) หรือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เอง ที่ต้องลงทะเบียนเรียน พวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนต่อ แต่ก็คาดหวังว่าเพื่อนเราจะได้ออกมากันในเร็ว ๆ นี้ ได้ออกกลับมาเรียนหนังสือ” น.ส.ปนัสยา ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะอ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา เช่นเดียวกัน ซึ่งนายกฤษฎางค์ระบุว่าจะถ่ายทอดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังศาลอาญา ในเวลา 13.00 น.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอวรงค์' ยื่นหมื่นรายชื่อขอแก้ไขมาตรา 112!

'หมอวรงค์' เข้าสภา ยื่น 'ชวน' แก้ไขมาตรา 112 คุ้มครองคำว่า 'สถาบันพระมหากษัตริย์' ลั่น หากได้ส.ส. จะเสนอ แก้ไขจริยธรรมผู้แทนฯ ไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา112

เหตุใด ‘พรรคไทยภักดี’ ต้องปกป้องสถาบันฯ ‘หมอวรงค์’ มีคำตอบ

หลายคนแปลกใจว่าทำไมไทยภักดีต้องออกหน้า ทั้งที่คนที่มีหน้าที่ต้องกระทำไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือแม้แต่ฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรค

'เอ็ดดี้' ถาม 'ธนาธร' เห็นด้วยหรือสนับสนุนแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐหรือไม่

อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ว่า “ความเห็นต่างทางการเมือง เกี่ยวข้องอะไรกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”