ประธาน ครป.แถลง 13 ข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาลแพทองธาร จี้นิรโทษกรรมและผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
8 ก.ย.2567 – ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นำแถลงข้อเสนอคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ต่อคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทอง ธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา
ในการแก้ไขปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ-และสังคมไทย ดังนี้
นางสาวแพทอง ธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายน 2567 ครป. มีความเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสานต่อและจัดทำนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริง ตามพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับรัฐสภา และแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเลยข้อเรียกร้องที่มาจากภาคประชาสังคม โดย ครป. มีข้อเสนอ ดังนี้
ด้านการเมืองและความยุติธรรม
1) เร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างอิสระเสรี โดยที่มติคณะรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติ ด้วยคำถามที่จะขอประชามติเป็นคำถามที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนสับสนซ่อนเงื่อน อาทิว่า “เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบันหรือไม่” ทั้งนี้ ให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้น คือ ก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
2) ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ให้แยกเป็นอิสระจากกันชัดเจน มีความสมดุลกันอย่างเหมาะสม ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ทั้งจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ มีความโปร่งใส และยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน
3) ให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่องการวางแผน จัดทำโครงการ การตั้งคำของบประมาณโดยตรง และพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โอนภารภิจ การงาน บุคลากร และงบประมาณส่วนภูมิภาคให้ท้องถิ่น เช่น งานตำรวจ งานสาธารณสุข งานการศึกษา งานเกษตรกรรม งานสาธารณูปโภคพื้นฐาน งานจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
4) ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง นักโทษที่ถูกกล่าวหาจากคำสั่งของคสช. ตลอดจนนักโทษทางความคิด ความเชื่อ หรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีเพราะเหตุผลทางการเมือง โดยอาจตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลให้มีนโยบายปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้มีการประกันตัวสำหรับคดีการเมืองโดยทันที
5) เร่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ รวมตลอดถึงกระบวนการพิจารณาคดีความในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นระบบในศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหารและระบบการจัดการดูแลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์
ด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
6) เร่งรัดให้ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้า และสร้างการแข่งขันทางการค้าที่เสรีเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนแก้ไขปัญหาค่าแรงทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับค่าแรงที่เท่าเทียม ได้รับสวัสดิการที่ดี รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง โดยยุติการผลักภาระด้านต้นทุนแก่ประชาชนผู้บริโภค
7) เร่งทบทวนสัญญาและสัมปทานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการผูกขาด เอื้อประโยชน์ และไม่เป็นธรรม อันทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์แล้ว ขอให้รัฐบาลได้ยุติสัญญาหรือสัมปทานนั้น ๆ ทันที ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาด
8) ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการถือครองที่ดินอย่างผูกขาดและเกินความจำเป็นไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน โดยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยเร่งปรับปรุงแผนที่ One Map ให้เสร็จโดยชัดเจนโดยมีส่วนร่วมจากประชาชนชุมชนเพื่อลดข้อพิพาทต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งกลไกให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาไร้ที่ทำกินของประชาชน
9) ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการจัดระบบโครงสร้างการจัดการภาวะอุทกภัยและภัยแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกและยั่งยืน
10) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับภาวะเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโลกร้อนและพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ผลิตที่กระบวนการผลิตส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ของโลกอยู่ในขณะนี้
ด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม
11) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ได้อย่างอิสระ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคม เท่าทันกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศในสากลโลก ด้วยการวางสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา มีระบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียนนักศึกษา ให้มีความสามารถในการคิดเอง ทำเอง พัฒนาตนเอง จากความรู้ในระบบสารสนเทศที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง โดยการลงทุนอย่างจริงจังในระบบการศึกษา การพัฒนาครูผู้สอน การกระจายทรัพยากรทางการศึกษา และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกมิติ อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
12) ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและเคารพในวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายและยุติการสร้างความเกลียดชังต่อผู้มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ เพศสภาวะ และเพศวิถี
ด้านต่างประเทศ
13) ร่วมมือกับอาเซียน ในการพัฒนา สิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ยุติบทบาทที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน โดยร่วมมือกับอาเซียนผลักดันให้ปฏิบัติตามฉันทมติอาเซียน 5 ข้อ
นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่า ข้อเสนอของ ครป.วันนี้เพื่อต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงและแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศให้ได้ผล จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะแถลงต่อรัฐสภา ทั้ง 13 ข้อดังกล่าว แต่ตนมีข้อห่วงใยเพิ่มเติมดังนี้
ครม.แพทองธาร 1 ต้องการปรับปรุงเรื่องจริยธรรม เอา รัฐมนตรีเก่าออกหลายคนที่มีข้อครหา แต่ยังคงมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ยังมีมลทินในอดีตให้เข้ามาคุมกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิมนั้น ไม่น่าจะเป็นครม.หน้าตาใหม่ไร้มลทิน เพราะเคยเป็นเจ้ากระทรวงเดิมที่เคยเกิดคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ฉาว และคดีซื้อแอร์บัสการบินไทย
ส่วนโยบายของรัฐบาลหลายข้อตรงกับวิสัยทัศน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มองไกล แต่หลายเรื่องเป็นโอกาสทางธุรกิจไม่ใช่โอกาสของประเทศ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งตนมีความเห็นต่อวิสัยทัศน์ดังนี้
1. การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนนั้น ต้องลดรายจ่ายประชาชนเพื่อลดหนี้สินครัวเรือน โดยลดภาษีบ้านและรถยนต์ ลดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย ลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน โดยการปรับโครงสร้าง และแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลต้องทำเศรษฐกิจให้เติบโตแต่ไม่ปรับโครงสร้างไม่ได้ เพราะโครงสร้างกระจายรายได้ไทยเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก นโยบายเงินหมุนเวียนจากล่างขึ้นบนหรือดิจิตัล ว็อลเล็ต จะทำให้กระเป๋าตังเจ้าสัวก้าวกระโดด ควรยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบเติมเม็ดเงินหมุนเวียนที่กระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ แต่คนไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สิน
2.การนำเศรษฐกิจใต้ดินมาบนดิน ต้องระวังการนำสิ่งผิดกฎหมายขึ้นมาถูกกฎหมาย เพราะสังคมไทยจะล้มละลายและเต็มไปด้วยอาชญากรรม ที่ผ่านมากฎหมายสมัยรมต.ปุระชัย ทำให้เกิดการเก็บส่วยกับร้านอาหารและไนท์คลับผับบาร์ ควรยกเลิกและแก้ไขปัญหาส่วยตำรวจ
3.การหวังเงินลงทุนจาก boi และทุนจากต่างประเทศ ควรให้ boi กลับมาช่วย SME มากกว่า เพราะกลุ่มทุนใหญ่ได้อภิสิทธิ์พิเศษมากพอแล้วในอดีตที่ผ่านมา ควรจ่ายคืนสังคมในรูปแบบภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้ามากกว่า สำหรับนโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีนั้น 50 ปีในปัจจุบันก็เกินพอแล้ว ตามกฎหมาย boi ยังอนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้อยู่ในฐานะนิติบุคคล
4.เรื่องการเกษตรทันสมัย เกษตรกรรมปราณีตต่างๆ จะทำอย่างไรให้เป็นอิสระจากทุนผูกขาดอุตสาหกรรมการเกษตรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
5. เห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทำสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดและมีห้องน้ำที่สะอาด ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ต้องร่วมมือกัน
6. เรื่องรถไฟฟ้าเป็นของรัฐแล้วให้เอกชนบริหาร จะทำอย่างไรให้เอกชนไม่หากผลประโยชน์จากภาครัฐ แต่ให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชนแทน ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แลกที่ดินมักกะสัน ซึ่งปัจจุบันหยุดชะงักอยู่ บางโครงการบังคับให้รัฐร่วมทุนหรือออกงบประมาณร่วมก่อสร้างแต่ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่มาบริหารแทน
7. สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีในระบบราชการ เพื่อรับใช้ประชาชน ในยุค Open AI กับ Super AI กำเนิดชนชั้นในยุคใหม่ คนไทยต้องเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน เพราะปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบงำการเมือง และใช้วิธีการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ มาจากการยึดครองเทคโนโลยีที่เหนือกว่า
8. สนับสนุนโครงการ Space port สถานีส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และดาวเทียม รวมถึงการร่วมมือกับอาเซียนในการจัดตั้งองค์การอวกาศอาเซียน แต่รัฐจะต้องได้ประโยชน์เพราะกรณีดาวเทียมไทยคมนั้นพอหมดอายุสัมปทานจะต้องตกเป็นของรัฐแต่ที่ผ่านมามีการเอื้ออำนวยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชนต่อไปแม้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
9. กรณีนโยบายการนำพลังงานใต้ดินขึ้นมาใช้ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะหุ้นส่วนเหมือนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณอ้างตัวอย่างนอรเวย์ Fund และทำประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลจากรายได้จากพลังงานของประเทศ ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมหาศาล รวมถึงในพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา ถ้านำมาหาผลประโยชน์ให้กับประเทศและจัดตั้งเป็นกองทุนแบบนอรเวย์ จะดีกว่าระบบสัมปทานแบบเก่า ทรัพยากรไทยมีจำนวนมากมายที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายทรัพยากร และการแก้ปัญหาการผูกขาดทรัพยากร
10. ขอคัดค้านนโยบายคาสิโนถูกกฎหมายในไทย หรือเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ครบวงจร ถ้ามีควรไว้สำหรับต่างชาติเท่านั้น เพราะถ้าอนุญาตให้คนไทยเล่นได้ทั้งหมดก็จะนำเข้าสู่ปัญหาหนี้สินและปัญหาอาชญากรรมครบวงจรไม่สิ้นสุด ถ้าให้เฉพาะคนต่างชาติ ก็จะนำภาษีเข้าประเทศได้มากกว่าสร้างปัญหาภายในประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว! กองเชียร์หัวเสีย ทุบกระบอกเสียงรัฐบาลอิ๊งค์ ทำไมสู้ฝ่ายต้านไม่ได้
นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า กระบอกเสียงหรือกระบอกเสีย รัฐบาล
หนาวววว! 'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ชำแหละรัฐบาลมีแต่เรื่องฉาว นึกไม่ออก ประชาชนลงถนนจะเป็นไง
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพส
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ชี้จุดตาย 'รัฐบาลแพทองธาร' โกงกินมูมมาม ม็อบจุดติดแน่
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทุจริตคือจุดตายของรัฐบาล
ดุสิตโพล ชี้คนไทยห่วงมาตรการกระตุ้นศก. รัฐบาลอิ๊งค์ สร้างภาระให้ประเทศ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “รัฐบาลแพทองธาร กับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,227 คน สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ
'วีระ' จี้รัฐบาลตอบคำถามตรงๆ ต่อประชาชนทำไมไม่กล้ายกเลิก MOU44
นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน