จากดับไฟ สู่จลาจล ประท้วงบานปลายในศรีลังกา

การประท้วงของกลุ่มคนหลายร้อยคนที่พยายามจะบุกโจมตีบ้านของประธานาธิบดีโกตาเบยา ราชปักษา ของศรีลังกา กลายเป็นความรุนแรง และบานปลายจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย

ผู้คนออกมาประท้วงนอกบ้านของประธานาธิบดีศรีลังกาเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่เลวร้ายลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในโคลัมโบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 1 ราย (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤตพลังงานในศรีลังกา จนต้องมีมาตรการดับไฟกว่า 13 ชั่วโมงในแต่ละวัน สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชน จนในที่สุดความอดทนก็หมดลง เมื่อผู้คนเริ่มออกมาเดินขบวนประท้วงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและดูแลประชาชน ซึ่งเป้าหมายก็คือประธานาธิบดี

เมื่อประชาชนออกมาเดินขบวนประณามจำนวนมากขึ้น กองกำลังความมั่นคงของศรีลังกาที่ออกมาควบคุมสถานการณ์ได้เริ่มยิงปืนเข้าใส่ฝูงชน ซึ่งไม่มีการยืนยันว่าพวกเขาใช้กระสุนจริงหรือกระสุนยาง รวมถึงแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมซึ่งเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก ผู้ชุมนุมประท้วงจุดไฟเผารถบัสของกองทัพและรถตำรวจที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนที่นำไปสู่บ้านของประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ อีกทั้งยังใช้อิฐโจมตีเจ้าหน้าที่และกองกำลังอีกด้วย เหตุการณ์ปะทะในครั้งนี้มีรายงานผู้บาดเจ็บสาหัส 1 ราย และอาจบานปลายจนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอีกไม่นาน
 
แหล่งข่าวอย่างเป็นทางการบอกกับเอเอฟพีว่าประธานาธิบดีไม่ได้อยู่ที่บ้านระหว่างการปะทะ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพได้รวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ และประกาศเคอร์ฟิวในโคลัมโบอย่างไม่มีกำหนดหลังจากเกิดความรุนแรง ท่ามกลางผู้คนที่ต่างโห่ร้องให้ประธานาธิบดีและครอบครัวของเขาลาออก
 
ศรีลังกาซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราช สาเหตุมาจากการขาดสกุลเงินต่างประเทศอย่างเฉียบพลันเพื่อนำเข้าน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับรถประจำทางและรถเพื่อการพาณิชย์  ซึ่งทำให้ระบบขนส่งสาธารณะพังทลาย 
 
การขาดแคลนน้ำมันดีเซลได้จุดชนวนให้เกิดความโกรธเคืองทั่วทั้งศรีลังกาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้การประท้วงดำเนินไปในเมืองต่างๆ และไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ผู้นำระดับสูงใดๆ ก่อนเหตุการณ์ในวันพฤหัสบดี
 
มาตรการบังคับตัดไฟ 13 ชั่วโมงตั้งแต่วันพฤหัสบดี เป็นสถานการณ์ที่วิกฤตที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะพวกเขาไม่มีน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องปั่นไฟ อ่างเก็บน้ำซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้ากว่าหนึ่งในสาม ก็อยู่ในระดับที่ต่ำจนเป็นอันตรายเช่นกัน นอกจากนี้ยังกระเทือนไปถึงระบบการสื่อสาร และการบริการในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง
 
สถานการณ์ในศรีลังกาย่ำแย่ขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเงินการคลัง โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนโทษว่าเป็นการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการลดภาษีและการขาดดุลงบประมาณสะสมหลายปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ตะวัน-แฟรงค์' ชวดประกันตัวครั้งที่ 6 ศาลชี้ไม่มีเหตุอื่นให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทนายความได้ยื่นประกัน นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ต่อศาลอาญาอีกเป็น

หนุนภาครัฐ-เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในศรีลังกา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำ “ประเทศไทยเปิดแล้ว” พร้อมรับการลงทุน เดินหน้า ส่งเสริมศักยภ

‘เศรษฐา’ ปลื้มผลสำเร็จเยือนศรีลังกา เตรียมดันเอกชน-ปตท. ลงทุนพลังงานสะอาดข้ามชาติ

รัฐบาลนี้ได้ลงนามเป็นครั้งแรก ต้องขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานหนักในทุกมิติ  และการเดินทางเยือนศรีลังกา

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง สนับสนุนใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ศรีลังกาอย่างเต็มที่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในงาน Sri Lanka – Thailand Business Networking โดยมีนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เข้าร่วมงานด้วย